เกาะไทม์ไลน์-แกะไส้ในร่าง รธน.ฝ่ายค้าน-รัฐบาล
รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “แก้ยากยิ่งกว่ายาก” เพราะต้องฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ซึ่งมีที่มาจากการเลือกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-อดีตหัวหน้าคสช.
การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 กันยายน 2563 ต้องมีเสียงของ ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงขึ้นไป เห็นชอบทั้งในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ และในวาระที่สามขั้นสุดท้าย
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ฉบับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ)
“มาตรา 256 ‘ภายใต้บังคับมาตรา 255’ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้”
1.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
หรือ จาก ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน “ไม่น้อยกว่า 50,000 คน” ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
2.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาเป็น “สามวาระ”
3.การออกเสียงลงคะแนนใน “วาระที่หนึ่ง” ขั้นรับหลักการ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง “สองสภา”
4.การพิจารณาใน “วาระที่สอง” ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย
5.การออกเสียงลงคะแนนใน “วาระที่สาม” ขั้นสุดท้าย ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง “สองสภา”
6.ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ สมาชิกทั้งสองสภารวมกัน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5” ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือ ของทั้งสองสภารวมกัน มีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภา หรือ ประธานรัฐสภา เพื่อส่งความเห็นไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยภายใน 30 วันว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 15/1 “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” มาตรา 256/1 ถึงมาตรา 256/14 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
หมวด 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำนวน 200 คน ซึ่ง “มาจากการเลือกตั้งโดยตรง” ของประชาชนในแต่ละจังหวัด
การคำนวณจำนวน ส.ส.ร.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี ให้ใช้จำนวนราษฎรตามทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้งส.ส.ร. เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกส.ส.ร. 200 คน ให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อส.ส.ร. 1 คน
“จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อส.ส.ร. 1 คน ให้ ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นได้ 1 คน จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้ ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อส.ส.ร.1 คน”
ถ้าจำนวน ส.ส.ร.ยังไม่ครบ 200 คน จังหวัดใดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่ม ส.ส.ร.แก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบ 200 คน
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
มาตรา 256/2 คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร. 1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง 3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
หรือ เป็นบุคคลที่เกิด หรือ เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา
หรือ เคยรับราชการ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือ เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
มาตรา 256/3 บุคคลต้องห้ามิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. 1.เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 98 (1) (2) (4) (5) (6) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (15) (16) หรือ (18) 2.เป็นข้าราชการการเมือง และ 3.เป็น ส.ส. ส.ว. หรือ รัฐมนตรี
มาตรา 256/4 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และให้กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 15 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
“โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลำดับจนครบตามจำนวน ส.ส.ที่พึงมีในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง”
มาตรา 256/5 สมาชิกภาพของ ส.ส.ร.สิ้นสุดลง เมื่อ 1.สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุด 2.ตาย 3.ลาออก 4.ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 256/2 หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 256/3
“ให้กกต. เลื่อนบุคคลผู้ที่ได้คะแนนในลำดับต่อไปแทนตำแหน่งที่ว่างลง ภายใน 15 วัน เว้นแต่ระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. เหลือไม่ถึง 90 วัน ทั้งนี้ ส.ส.ร.ต้องมีสมาชิกเหลืออยู้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง”
มาตรา 256/6 ส.ส.ร.มีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง หรือ สองคน
มาตรา 256/7 ให้ ส.ส.ร.แต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน ซึ่งแต่งตั้งจาก ส.ส.ร. จำนวน 30 คน จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน 5 คน สาขารัฐศาสตร์ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน
มาตรา 256/8 เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 256/9 ส.ส.ร.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ และกรณีรัฐสภาวินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญมีอันตกไป
มาตรา 256/11 เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้เสนอต่อประธานรัฐสภาและส่งต่อให้กกต.ภายใน 7 วัน เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน วันออกเสียงประชามติให้กำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 08.00 น.จนถึงเวลา 17.00 น. ให้กกต.ประกาศผลภายใน 15 วัน หากคะแนนออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบ ให้เป็นอันตกไป
มาตรา 256/12 เมื่อผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบให้ประธานรัฐสภา หรือ ประธาน ส.ส.ร. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา 256/14 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไป ครม. หรือ ส.ส.จำนวน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ ส.ส.และส.ว. มีจำนวน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
“มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้เสียง ‘มากกว่ากึ่งหนึ่ง’ ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”
ทั้งนี้ บุคคลผู้ที่เคยเป็นส.ส.ร. จะเป็นส.ส.ร.อีกมิได้
ฝั่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างรัฐบาล) หลักการ แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256) ให้ยกเลิกมาตรา 256 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 256 ‘ภายใต้บังคับมาตรา 255’ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อนี้”
1.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
หรือ จาก ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน “ไม่น้อยกว่า 50,000 คน” ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
2.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
3.การออกเสียงลงคะแนนใน “วาระที่หนึ่ง” ขั้นรับหลักการ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย “ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง “สองสภา”
4.การพิจารณาใน “วาระที่สอง” ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา การออกเสียงให้ถือเป็น “เสียงข้างมาก” เป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย
5.การออกเสียงลงคะแนนใน “วาระที่สาม” ขั้นสุดท้าย ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ “ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง “สองสภา”
6.กรณีแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ “หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” หรือ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
หรือ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่ หรือ อำนาจของศาล หรือ องค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทำให้ศาล หรือ องค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ หรือ อำนาจได้ “ก่อนนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ”
7.ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ สมาชิกทั้งสองสภารวมกัน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10” ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือ ของทั้งสองสภารวมกัน มีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภา หรือ ประธานรัฐสภา เพื่อส่งความเห็นไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยภายใน 30 วันว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 255 หรือ มีลักษณะตามข้อ 6 หรือไม่
กำหนดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 256/1 ถึงมาตรา 256/19 อาทิ
หมวด 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตาหมวดนี้ จำนวน 200 คน มาจาก 1.การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด 150 คน 2.รัฐสภาคัดเลือก 20 คน
3.ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือก 20 คน โดย คัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 10 คน และจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือ การร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน และ 4.คัดเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา จำนวน 10 คน
มาตรา 256/2 คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร. 1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง 3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
หรือ เป็นบุคคลที่เกิด หรือ เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา
หรือ เคยรับราชการ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือ เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
มาตรา 256/3 บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. 1.เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 98 (1) (2) (4) (5) (6) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (15) (16) (17) หรือ (18) 2.เป็นข้าราชการการเมือง และ 3.เป็น ส.ส. ส.ว. หรือ รัฐมนตรี
มาตรา 256/5 การกำหนดจำนวนส.ส.ร.ในแต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้ใช้จำนวนราษฎรตามทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งส.ส.ร. เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกส.ส.ร.150 คน ให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อส.ส.ร. 1 คน
“จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อส.ส.ร. 1 คน ให้ ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นมีได้ 1 คน จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้ ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อส.ส.ร.1 คน”
ถ้าจำนวน ส.ส.ร.ยังไม่ครบ 150 คน จังหวัดใดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่ม ส.ส.ร.แก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบ 150 คน
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
มาตรา 256/6 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และให้กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 15 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลำดับจนครบตามจำนวน ส.ส.ที่พึงมีในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
มาตรา 256/7 การเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากรัฐสภาเลือกให้เลือกโดยให้มีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวน ส.ส. และ ส.ว.
มาตรา 256/8 การเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับตัวอักษร
“การเลือกส.ส.ร.ที่มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้กกต.คัดเลือก ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเสนอชื่อและการคัดเลือกให้เป็นไปตามระเบียบที่กกต.กำหนด”
มาตรา 256/10 สมาชิกภาพของ ส.ส.ร.สิ้นสุดลง เมื่อ 1.สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุด 2.ตาย 3.ลาออก 4.ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 256/2 หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 256/3 หรือตามมาตรา 256/4
“ในกรณี ส.ส.ร.ที่มาตากนักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา หากพ้นสภาพจากการเป็นนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา”
ให้กกต. เลื่อนบุคคลผู้ที่ได้คะแนนในลำดับต่อไปแทนตำแหน่งที่ว่างลง ภายใน 15 วัน เว้นแต่ระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. เหลือไม่ถึง 90 วัน ทั้งนี้ ส.ส.ร.ต้องมีสมาชิกเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
มาตรา 256/11 ส.ส.ร.มีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง หรือ สองคน
มาตรา 256/7 ให้ ส.ส.ร.แต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน ซึ่งแต่งตั้งจาก ส.ส.ร. จำนวน 30 คน จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน 5 คน สาขารัฐศาสตร์ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน
มาตรา 256/13 ส.ส.ร.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ซึ่งต้องจัดให้มีขึ้น “ไม่ช้ากว่า 30 วัน” นับแต่วันที่ ส.ส.ร.ซึ่งมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
“การที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือ มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของส.ส.ร.ได้”
การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ และกรณีรัฐสภาวินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญมีอันตกไป
มาตรา 256/15 เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อเห็นชอบ โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้ และต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
“ในกรณีที่มีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชามติเพื่อให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.เสนอ”
เมื่อการออกเสียงประชามติเสร็จสิ้น หากไม่เห็นชอบ หรือ ผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงลงคะแนน “ไม่ถึง 1 ใน 5” ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
มาตรา 256/19 กรณีร่างรัฐธรรมนูญตกไป ครม. หรือ ส.ส.จำนวน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. และ ส.ว.จำนวน “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
“เมื่อรัฐสภามีมติอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะเสนอญัตติตามวรรคหนึ่งอีกมิได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่แล้ว”
ขณะที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายสามัญประจำทำเนียบรัฐบาล แจกแจง “ไทมไลน์” ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า การตั้งส.ส.ร.ถ้าใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยจะใช้ระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 4 เดือน แต่ถ้าใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจะทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไปเกี่ยวพันกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 โดยกฤษฎีกาจะใช้เวลาตรวจร่างพ.ร.บ.ประชามติ 1 เดือน และนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมสองสภาวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาครั้งต่อไปในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563
ถึงแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ในวาระที่สามเสร็จก่อน แต่ก็ต้องรอให้ที่ประชุมร่วมสองสภาพิจารณาเสร็จก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน (ธ.ค.63) จากนั้นรอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน (มี.ค.64) จากนั้นจึงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ทำประชามติ ไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน (ก.ค.64) และต้องบวกไว้ 3-4 เดือน เอาไว้รอการคัดค้านและประกาศรับรองผล (พ.ย.64) และหากมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญก็จะใช้เวลาวินิจฉัยอีกประมาณ 1 เดือน (ธ.ค.64) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน (มี.ค.65) ดังนั้นจะเริ่มตั้ง ส.ส.ร. 200 คนและแล้วเสร็จภายใน 60 วัน (พ.ค.65) จึงจะเริ่มไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ร่างของพรรคเพื่อไทยต้องร่างให้เสร็จภายใน 4 เดือน (ก.ย.65) และใช้เวลาทำประชามติอีก 2 เดือน (พ.ย.65) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก 1 เดือน (ธ.ค.65) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้า ฯ อีก 3 เดือน (มี.ค.66) จึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ส่วนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลต้องร่างให้เสร็จภายใน 8 เดือน (ม.ค.66) แต่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลให้นำเข้ามาสภา ถ้าสภาลงมติเห็นชอบด้วยเสียงเกินครึ่ง ไม่ต้องทำประชามติ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 1 เดือน (ก.พ.66) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้า ฯ อีก 3 เดือน (พ.ค.66) จึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่หากสภาลงมติเห็นชอบเสียงไม่ถึงครึ่ง ซึ่งตามหลักจะต้องตกไป แต่ไม่ตกเพราะเขากำหนดให้เอาไปทำประชามติใน 60 วัน (มี.ค.66) แต่ส่วนตัวคิดว่า ไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะสภาน่าจะเห็นชอบได้ เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องไปเจอศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 เดือน (เม.ย.66) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้า ฯ อีก 3 เดือน (ก.ค.66) จึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่