กปปส.-ปชป. แยกกันตีแบบมีนัยยะ

ดีเดย์! วันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค. วันที่คนไทยจะได้ออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
มีสองทางเลือก “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” เท่านั้น ทำเอาช่วงก่อนถึงวันลงคะแนน บรรดานักการเมืองพรรค นักวิชาการกลุ่มต่างๆ ต่างพากันทยอยมาแสดงจุดยืนทั้ง “รับ” และ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง” ของ “มีชัย ฤชุพันธ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กันถ้วนหน้า
ไล่ไปตั้งแต่ “พรรคเพื่อไทย” เปิดหน้าชนประกาศชัดเจนมาตลอดว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” มาตั้งแต่ฉบับของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อยมาจนถึงฉบับของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.
ถึงขั้นออกแถลงการณ์ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน” ด้วยเหตุผลว่า “เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยหลายส่วน และยังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างปัญหาให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงพาประเทศเดินถอยหลัง”
ตามด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงจุดยืนของบรรดาแกนนำและสมาชิกพรรค ตั้งแต่ จาตุรนต์ ฉายแสง, วัฒนา เมืองสุข, โภคิน พลกุล, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, ชัยเกษม นิติสิริ, ภูมิธรรม เวชยชัย, ชวลิต วิชยสุทธิ์ ฯ
สอดรับกับท่าทีแกนนำของ “นปช.” ตั้งโต๊ะแถลงจุดยืน โดยเฉพาะ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ครั้งแรก
“ผมได้แสดงเจตนารมณ์ส่วนตัวว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ชักจูงใคร และไม่อยากให้มองคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนผิด เพราะผมเห็นว่าบรรยากาศในการทำประชามติต้องไม่ทำให้ประชาชนอยู่ในความหวาดกลัว แม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็น ถ้าหากคสช.กังวลหรือกลัวมากไปก็ควรยกเลิกการทำประชามติ”
แน่นอนว่าการออกมาเคลื่อนไหวเปิดหน้าของ “นปช.-เพื่อไทย” ในการ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ครั้งนี้กลายเป็นกระแสที่เริ่มจุดติด ทำให้หลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ และกลุ่มต่างๆ ต่างพากันออกประกาศจุดยืน
ซึ่งท่าทีของฝ่ายเพื่อไทยและนปช. ถือว่าชัดเจนและมวลชนเป็นเนื้อเดียวกัน สวนทางกับความสัมพันธ์ที่คลุมเครือของ “กปปส.” และ “ประชาธิปัตย์” ที่ทำให้สมาชิกของทั้งสองฝ่าย กระอัก กระอ่วนกับสถานะของตนเอง ทำให้ตัดสินใจและแสดงท่าทีต่อเรื่องดังกล่าวได้ยาก
ทางหนึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” เกาะขบวนรถไฟแนวทางเดียวกับ “นปช.-เพื่อไทย” ประกาศจุดยืน “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “แทงกั๊ก” มาตลอดว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ไม่รับฯ เพราะร่างรัฐธรรมนูญ “ไม่ตอบโจทย์” ปัญหาประเทศ ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ไม่แก้วิกฤติขัดแย้งในสังคมที่ยืดเยื้อมานาน 10 ปีและให้สิทธิเสรีภาพของประชาชน น้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี2550
“วันนี้ไม่อาจเป็นมติพรรค เพราะประชาธิปัตย์ประชุมพรรคไม่ได้เช่นเดียวกับพรรคอื่น ๆ แต่ผมไม่มองว่าสิ่งที่จะแถลงเป็นความคิดเห็นส่วนตัว เป็นจุดยืนที่แสดงในฐานะหัวหน้าพรรคบนพื้นฐานอุดมการณ์พรรคตั้งแต่ก่อตั้งมาในปี 2479 จึงไม่ใช่เรื่องชอบไม่ชอบส่วนตัว แต่เป็นการสานต่ออุดมการณ์ที่สำคัญ ดังนั้นจุดยืนที่แถลงจึงถือเป็นการสืบสานจุดยืนอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์”
ที่บอกว่าสาวกประชาธิปัตย์กระอักกระอ่วน คิดหนักก็ตรงที่แนวคิดของ “อภิสิทธิ์” สวนทางกับอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อย่าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. ที่เปิดหน้าเชียร์รับร่างรัฐธรรมนูญของ “มีชัย” ตั้งแต่ยังทำคลอดไม่เสร็จ
จัดหนักเปิด “เฟซบุ๊กไลฟ์” Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) อธิบายเหตุผลส่วนตัวที่ตัดสินใจ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ชัดเจน ตรงไปตรงมา
งานนี้กูรูการเมือง มองปรากฏการณ์แนวคิดสวนทางของ “อภิสิทธิ์” กับ “สุเทพ” ว่ายิ่งเป็นการตอกย้ำ ความแตกแยกให้เห็นถึงความร้าวลึกลงไปอีก ระหว่าง“กปปส.-ปชป” เพราะดูท่าลูกพรรคฝั่งกปปส. ออกมาประกาศตัวเป็นเอกเทศไม่กลับเข้าพรรค พร้อมทั้งยังคงยืนยันอุดมการณ์เดิมสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญตาม “สุเทพ”
เห็นได้จากคำยืนยันจากอดีตลูกพรรค อย่าง “ถาวร เสนเนียม” แกนนำกปปส. ยืนยันว่ารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน
“ผมมั่นใจว่าเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อ่อนแอลง แต่จะส่งผลให้คะแนนนิยมพรรคเพิ่มมากขึ้น เพราะแสดงให้เป็นว่า แม้สมาชิกพรรคจะเห็นต่างกันก็ยังอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ จึงขอให้สมาชิกพรรคไม่ต้องกังวลใจ เรามีวัฒนธรรมพรรคแบบนี้ ถึงอยู่มาได้ 80 กว่าปี”
เข้าใจได้ว่าแกนนำ กปปส.ที่เคยต่อสู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จนสุดท้ายสามารถผลักดันจนนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยากที่จะออกมาแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ดูท่าทีแล้วความสัมพันธ์ระหว่าง “ปชป.” กับ “กปปส.” ถึงเวลาขาดสะบั้นลง กลายเป็นเส้นขนานที่แยกกันเดิน เพราะจุดยืนสวนทางกันอย่างชัดเจน
แต่ “หัวหน้ามาร์ค” ออกมาชี้แจงว่า “เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่ใช่มติพรรค ที่ลูกพรรคจะต้องยึดปฏิบัติตาม แต่บรรดาสมาชิกพรรคหลายคนก็ออกมาขานรับจุดยืน” ไล่มาตั้งแต่ “ชวน หลีกภัย พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ องอาจ คล้ามไพบูลย์ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บุญยอด สุขถิ่นไทย, รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท, ณัฐ บรรทัดฐาน ,อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์, รัชดา ธนาดิเรก”ตบเท้าออกมาสนับสนุนจุดยืนดังกล่าว
จึงเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่ในพรรค อย่าง “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย ออกโรงปกป้องการตัดสินใจครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ยึดความถูกต้อง
แต่ผิดกับท่าทีอันแข็งกร้าวของ “แทน เทือกสุบรรณ” บุตรชาย “สุเทพ” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังจากที่หัวหน้าปชป.ประกาศจุดยืน “คุณอภิสิทธิ์ พูดเรื่องดีๆ มีเหตุผล เสียดายคนไทยไม่ฟัง เอาแต่ด่าเอามันตามกระแสอย่างเดียว รับก็ด่า ไม่รับก็ด่า ถ้าผมเป็นคุณอภิสิทธิ์ จะลาออกจากหัวหน้าพรรค เลิกเล่นการเมือง ไปทำงานองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือ องค์การค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)”
หากดูตามรูปการณ์ถือว่าไม่ผิดคาดมากเท่าไหร่ เพราะก่อนหน้านี้มีเสียงเล็ดรอดออกมาจาก “รั้วพรรคการเมืองค่ายสีฟ้า” ว่า ผู้ใหญ่ในพรรคไฟเขียวให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันกับแกนนำพรรคและสมาชิกพรรคบางส่วนมาก่อนหน้านี้แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการออกมาประกาศจุดยืนครั้งนี้จะไม่ใช่เสียงสะท้อนภาพรวมของสมาชิกพรรคทั้งหมด แต่ก็มีสมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าจุดยืนดังกล่าวตอบโจทย์ ตรงตามอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์
ดูท่าแล้วจะเป็นการช่วยปลุกกระแส “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ดังขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกมาประกาศจุดยืนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ อาจทำให้เห็นรอยร้าวลึกภายในระหว่างภายใต้ชายคารั้วประชาธิปัตย์เพิ่มมากขึ้นไปอีก จนไม่รู้ว่ารอยร้าวนี้จะได้รับการประสานเยียวยาได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรในอนาคต
ขณะเดียวกันหากปล่อยให้ความสัมพันธ์แตกแยกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย จะส่งผลกระทบต่อฐานเสียงของปชป. และกปปส. ที่ใช้ฐานเสียงเดียวกันด้วย
แต่มีการประเมินว่า แม้ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จะถูกทอนไปเป็นมวลชนกปปส.แต่ก็ไม่มากพอที่จะสร้างความได้เปรียบให้กลุ่ม “รับร่างรัฐธรรมนูญ” ได้เลย
แต่งานนี้ กูรูการเมืองอีกฝ่ายมองว่า ถ้าไล่ย้อนดูให้ดี กปปส. กับ ประชาธิปัตย์ ลึกๆแล้วยังไงก็ยังเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ดูอย่างงานวันเกิดของ “กำนันสุเทพ” เมื่อ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ “อภิสิทธิ์” ยังนำลูกพรรคไปร่วมทำบุญและอวยพรวันเกิดกำนันสุเทพถึงวัดชลประทาน เหมือนที่ทำกันมาทุกปี
พูดคุยกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แถมเสื้อที่ใส่ ก็ยังใส่เสื้อสีฟ้าเหมือนกันอีกต่างหาก
จนมีการมองกันว่า “จุดยืน” เรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่ต่างกัน ก็อาจจะเป็นเพียงยุทธศาสตร์ “การแยกกันตี” แค่ชั่วคราวเท่านั้น
เพราะนัยยะหนึ่งอย่าลืมว่า จากผลโพลหลายสำนัก ยังมีคนอีกมากที่ไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การที่ “อภิสิทธิ์” บอกไม่รับ อาจจะมีผลทางจิตวิทยากับคนที่ยังลังเล และมีความชอบหรือไม่ชอบ “พรรคเพื่อไทย” หรือ “นปช.” อาจจะตัดสินใจสวนทางเลยก็เป็นได้
ส่วนใครที่ “ชอบหรือไม่ชอบ” ฝ่ายกปปส. และกำนันสุเทพ พอเห็นการรณรงค์แบบนี้แล้ว อาจจะตัดสินใจตามหรือสวนทางก็ได้
ดังนั้น หมากเกมนี้ ของ กปปส. และ ประชาธิปัตย์ ฤาเป็นการถ่วงดุล แบบ “กวนน้ำให้ขุ่น” ที่จะส่งผลกับคะแนนประชามติ อาจจะไม่เทไปทางหนึ่งทางใดแบบถล่มทลาย
คำถามต่อไปคือ “ใครหละ” ที่จะได้ประโยชน์จากการแยกกันตีครั้งนี้