กัมพูชาเทียบชั้นรายได้ปานกลาง
กัมพูชาเลื่อนสถานะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง : โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจไทย
ซึ่งจัดทำโดยฝ่ายวิจัยธุรกิจธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)ระบุว่า ธนาคารโลก (WB) ปรับสถานะกัมพูชาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower-middle-income Economies) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2559 โดยพิจารณาจากรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปี (GNI per capita) ของกัมพูชาปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 1,070 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าเกณฑ์ประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 1,025 ดอลลาร์สหรัฐฯ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการไทยต้องจับตามอง โอกาสขยายตลาดสินค้าและการลงทุนในกัมพูชา จากการที่ชาวกัมพูชามีรายได้สูงขึ้น เป็นผลดีต่อการขยายตลาดสินค้าและธุรกิจในกัมพูชา ดังนี้ • สินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตตามความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวกัมพูชา ได้แก่ รถยนต์ใหม่ ชาวกัมพูชาที่มีฐานะดีขึ้นมักซื้อรถยนต์ใหม่แทนรถยนต์มือสองที่ใช้กันทั่วไป เครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ขณะที่ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกของผู้ผลิตรายสำคัญของโลก ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาทิ แป้งแต่งหน้า รองพื้น ลิปสติก และเครื่องสำอางต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น • ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสลงทุนธุรกิจที่เน้นตลาดในกัมพูชา ทั้งท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง รับเหมาก่อสร้าง ออกแบบ และตกแต่งภายใน อาหารแปรรูป แฟรนไชส์ และธุรกิจสื่อและบันเทิง เป็นต้น ความเสี่ยงของธุรกิจไทยจากการที่กัมพูชาอาจถูกตัดสิทธิ์ EBA จาก EUปัจจุบันกัมพูชายังคงได้สิทธิ์ Everything But Arms (EBA) เพราะแม้จะหลุดจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำของ WB แต่กัมพูชายังเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุุด (LDCs) ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) อย่างไรก็ตาม กัมพูชามีแนวโน้มจะหลุดเกณฑ์กลุ่ม LDCs และถูกพิจารณาตัดสิทธิ์ EBA ได้ในที่สุด ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจาก • แนวโน้มถูกตัดสิทธิ์ EBA เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไทยที่มีแผนจะย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปกัมพูชาพึงตระหนักและนำไปประกอบการตัดสินใจ เพราะสิทธิประโยชน์ที่หวังจะใช้กำลังจะหมดไป • การตัดสิทธิ์ EBA บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา (ที่มีผู้ประกอบการไทยไปลงทุนผลิตแล้ว) ที่มีสหภาพยุโรป (European Union : EU) เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป (สัดส่วนราว 70% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา และเป็นการส่งออกไป EU ถึง 45% ของมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าว) รองเท้าและส่วนประกอบ (สัดส่วนราว 10% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และส่งออกไป EU 56% ของมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าว) และโรงสีข้าว (สัดส่วนราว 2.2% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และส่งออกไป EU 60% ของปริมาณการส่งออกข้าว) อย่างไรก็ตาม หากถูกตัดสิทธิ์ EBA กัมพูชาจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) ซึ่งยังมีอัตราภาษีนำเข้าต่ำกว่าภาษี Most Favored Nation (MFN) โดยมีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบ 3 ปี นับจากวันที่ประกาศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่วงเวลาดังกล่าวปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในกัมพูชา โดยขยายการส่งออกไปตลาดอื่นๆ หรือไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้สิทธิ์ EBA เช่น เมียนมา กัมพูชาจะถูกตัดสิทธิ์ EBA เมื่อไหร่? แม้ว่าจะมีเวลาอีกอย่างน้อย 10 ปี กว่ากัมพูชาจะถูกตัดสิทธิ์ EBA อย่างสมบูรณ์ แต่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในกัมพูชาแล้ว/มีแผนจะไปลงทุนในกัมพูชาควรให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นการส่งออกไปตลาด EU ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาควรเริ่มมองหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจทั้งการยกระดับมาตรฐานและการพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาด EU รวมถึงเพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้เมื่อการตัดสิทธิ์ EBA ของกัมพูชามีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด.