มหากาพย์ “รัฐสภาใหม่” 3ปีที่มีแต่เรื่อง!!
อภิมหึมามหาโปรเจ็กยักษ์ใหญ่ที่เนรมิตพื้นที่ 119 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ย่านเกียกกาย เพื่อสร้าง “สัปปายะสภาสถาน” อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่ากว่าสองหมื่นล้านบาท
ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ โครงการถูกดองมายาวนาน ยืดเยื้อหลายรัฐบาล เกือบ 20 ปี เพราะติดปัญหาเรื่องพื้นที่ที่เหมาะสม จนนำมาซึ่งการล้มเลิกนับครั้งไม่ถ้วน
ก่อนที่ในสมัย “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในยุคพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะได้ฤกษ์ตอกเสาเอกเพื่อความเป็นสิริมงคล รับช่วงมรดกตกทอดต่อจาก “ชัย ชิดชอบ” อดีตประธานรัฐสภาแต่จนแล้วจนรอด “อาคารรัฐสภาใหม่”แห่งนี้ก็ยังไม่สำเร็จ
แม้ว่า “ขุนค้อน”ใส่เกียร์เดินหน้า กลับไม่ปรากฎความคืบหน้าของโครงการเท่าที่ควร การก่อสร้างยังคงจอดนิ่ง อืดอาด ไม่กระเตื้องคืบหน้าไปไหน เพราะเจอกับสารพันปัญหาที่หนักเอาเรื่อง
ทั้งเรื่องต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มพรวดพราด การส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา รวมถึงเม็ดเงินในการออกแบบการติดตั้งวางระบบไอซีที พบว่ามียอดงบประมาณการก่อสร้างพุ่งสูงกว่า 3,000 ล้านบาท
ขณะที่ปัญหาการ “ขนย้ายดิน” ออกจากพื้นที่ กำหนดให้สภาฯต้องบริจาคดิน ให้กับประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำไปใช้ในกิจการของมูลนิธิฯ แต่กลับมีการนำดินไปถมในพื้นที่ของบริษัทเอกชนย่านนวมินทร์ 42 กทม. ซึ่งปัจจุบันถูกสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรร และเปิดจำหน่ายไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อเรื่องแดงขึ้น “จเร พันธุ์เปรื่อง”เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้นได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ผลสรุปกลับไม่มีผู้ใดถูกลงโทษ บวกกับยังเจอกับขบวนการผลาญงบประมาณ ที่ส่อแว่วให้เห็นเป็นระยะๆทำให้ “โปรเจกต์ยักษ์”ต้องล่าช้า
จึงเป็นที่มาของการลงดาบ มาตรา 44 สั่งปลดฟ้าผ่า! “จเร พันธุ์เปรื่อง” อดีตเลขาธิการสภาฯ ที่เหลืออายุราชการอีก 2 ปีข้ามห้วย ดองเข้ากรุนั่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นพิเศษเฉพาะราย
ก่อนจะโยก “นายนัฑ ผาสุข” เด็กในสังกัด “พรเพชร วิชิตชลชัย”ประธานสนช.เสียบเก้าอี้ทำหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแทน
เบื้องหลัง ไม่มีอะไรมาก ทั้งมวลมาจากกรณีการบริจาคดินของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ รวมถึงการทำงานที่ไม่ถูกใจ และไม่ตอบสนองฝ่ายบริหารหลายเรื่อง อาทิ ไม่มีความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตภายในสภาฯหลายเรื่อง ในช่วงการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา
จากกรณีที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า มีความพยายามทำให้เกิด“ช่องโหว่” ในการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้การส่งมอบงานล่าช้า บริษัทผู้รับเหมาต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมด จนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จ จึงต้องขอความเป็นธรรมให้รัฐสภาจ่ายค่าชดเชย
เล่นเอา “พรเพชร “ นั่งไม่ติดเก้าอี้ รีบแจงทันควัน
“ผู้รับเหมาส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมายังผม และไปยังนายกรัฐมนตรี แบบนี้ผู้รับเหมาต้องการให้ผมเข้าไปพัวพันและรับผิดชอบด้วย คิดว่าเมื่อครบกำหนดสัญญา ไม่ใครก็ใคร ต้องฟ้องร้องกัน หรือไปถึงโรงถึงศาล ผมไม่ประสงค์ที่จะให้รัฐสภาในยุคผมต้องจ่ายค่าโง่ให้ใคร อย่าให้รัฐสภาต้องได้ชื่อว่าล้มเหลว”
งานนี้คนตกที่นั่งลำบากรับ “เผือกร้อน”หนีไม่พ้น “ประธานสนช.”ที่กลืนไม่เข้า คลายไม่ออก แต่ก็ยังพยายามออกแอคชั่น ว่า “การก่อสร้างสภาใหม่จะต้องมีความคืบหน้าและเสร็จทันตามกำหนดในวันที่ 15 ธ.ค.2559 อย่างแน่นอน”
แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น แม้ว่าความหวังที่คนไทยจะได้เห็น “อาคารรัฐสภาแห่งใหม่”ในช่วงครึ่งปีหลังจะริบรี่ลงเรื่อยๆ แต่ “สายทิพย์ เชาวลิตถวิล” เลขาธิการสภาฯ ไม่ละความพยายาม วิ่งโร่แจงความคืบหน้าการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา
“ตอนนี้ผ่านไปแล้ว 21.77เปอร์เซ็นต์ใช้เวลาไป 3 ปีเต็ม ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนก.ค. 2556 ซึ่งเมื่อต้นปี2559เคยแถลงว่า คืบไปประมาณ 16เปอร์เซ็นต์ครึ่งปีผ่านได้งานมาแค่ 5 เปอร์เซ็นต์จนต้องพิจารณาต่อสัญญาให้กับเอกชนที่จะหมดในเดือนธ.ค.2559 เป็นครั้งที่ 2ตั้งเป้าให้เสร็จไม่เกินปี 2563”
แต่จนแล้วจนรอด เรื่องเงียบหายไปพักใหญ่และพบว่ายังไม่มีความคืบหน้ามากนัก การก่อสร้างทำได้เพียงประคับประคองให้เกิดความเสียหายกับภาครัฐน้อยที่สุด
จากนั้นไม่นาน “ประธานพรเพชร” ตะหวัดปลายปากกาเซ็นคำสั่งปลด “ บิ๊กข้าราชการสภาฯ” คุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการที่ดินในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
ทว่าที่น่าสนใจ คือชนวนเหตุการสั่งปลดข้าราชการระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ เป็นเหตุผลเดียวกับ “จเร”งานนี้ทำเอาบรรดา “ขรก.ฝ่ายนิติบัญญัติ”ร้อนๆ หนาวๆ กับการ “เชือดไก่ ให้ลิงดู” ครั้งนี้ หลังจากที่พบกลิ่นการทุจริตมาได้พักใหญ่แต่ไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้
แต่เหตุการณ์กลับรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดกระแสโจมตีคำสั่งดังกล่าวอย่างหนัก ของบรรดาข้าราชการ ภายใน “รั้วรัฐสภา” ถึงความไม่เป็นธรรม ของผลการตรวจสอบการกระทำดังกล่าว จนนำมาซึ่งบทลงโทษทางราชการที่รุนแรง
โดยเฉพาะ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลของการไล่ออกข้าราชการระดับสูงครั้งนี้ ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอ จนถึงขั้นต้องลงโทษด้วยการให้ออกจากราชการ อีกทั้งรายละเอียดในการตรวจสอบความเสียหาย ที่เกิดขึ้นยังไม่มีการระบุชัดเจน เป็นตัวเลขว่าเกิดความเสียหายจำนวนเท่าไหร่
แต่ที่โจษจัน กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”จนเป็นเรื่องให้สังคมต้องวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลเมื่อสัปดาห์ก่อน เพราะมีกระแสสะพัดว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ไปตระเวนหาต้นสักจำนวนมาก
โดยเฉพาะการ “ล็อกเป้า”เตรียมตัดไม้สัก 2 พันต้น ที่มีขนาดโตเกิน 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดไม้ตรงตามความต้องการเพื่อมาใช้ในก่อสร้างเสาไม้สัก ที่ “สวนป่าแม่หอพระ”อ.ดอยสระเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยได้ประสานผ่านทาง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)ไว้เรียบร้อยแล้ว
เป็นเหตุทำให้เกิดกระแสด้านลบกับรัฐสภาใหม่นี้อีกระรอก
เพราะชาวบ้าน อ.ดอยสระเก็ด ออกมาคัดค้านโจมตีอย่างหนัก ถึงความไม่เหมาะสมที่จะมีการตัดไม้สักในพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ที่มีต้นสักอายุกว่า 30 ปี ในสวนป่าประมาณ100,000 ต้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของชาวบ้าน รวมถึงเป็นแหล่งต้นน้ำในพื้นที่อีกด้วย
ร้อนถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อสายส่ง “เสธ.ไก่อู”พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกโรงห้ามทัพ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องราวบานปลายใหญ่โต
“นายกฯสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)นำสวนป่ากลับคืนมาเป็นพื้นที่ป่าสงวน และจะไม่มีการดำเนินการใดๆ กับต้นสักในบริเวณดังกล่าว เพราะรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศชาติยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการตัดไม้แต่อย่างใด เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้อนุรักษ์ไม้สักไว้”
เรื่องร้อนๆยังไม่จบแค่ไหน ยังลามไปถึง “เจ้ากระทรวง”ต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องโดยตรง
เมื่อเรื่องแดงขึ้นมาว่า “บิ๊กตู่” ต่อสายตรงมายัง “บิ๊กเต่า” พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 19ก.ค.ที่ผ่านมา สั่งยุติการตัดไม้สักเพื่อมาก่อสร้างรัฐสภา โดยให้หาวิธีเร่งฟื้นฟู เพื่อนำกลับมาเป็นพื้นที่ป่าสงวนตามนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาล
แต่ที่น่าสนใจ คือ สัญญาออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กำหนดให้ใช้ไม้สักจำนวน4.5 พันต้น ซึ่งผู้ที่ชนะการประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กำหนดคุณภาพไม้สักที่จะใช้ในการก่อสร้างไว้อย่างเคร่งครัด และไม่สักทั้งหมดจะต้องเป็นไม้จากอ.อ.ป.
จากปัญหาดังกล่าว คนที่ต้องนั่งกุมขมับ ปวดหัว หนีไม่พ้น “ประธานสนช.”ที่ต้องสรรหาไม้ชนิดใหม่ เพื่อทดแทนไม่สักที่ห้ามตัดอย่างไร??
“ถ้าที่ผ่านมาผมได้เห็นสัญญาก่อน อาจจะตัดสินใจได้เลยว่าจะเอาอย่างไร แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือมีการทำสัญญาว่าจะสร้างรัฐสภาตามแบบแปลนที่วางเอาไว้แล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญตอนนี้ต้องมาหารือกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกต่อไป ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดกรณีเสียค่าโง่หรือเกิดการฟ้องร้องขึ้น เพราะการเปลี่ยนแบบแปลนไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เหมือนกับการปลูกบ้านเองที่สามารถสั่งรื้อหรือทุบได้เลย”
ขณะที่ “พิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์”ผู้อำนวยอ.อ.ป.ยืนยันว่า “สวนป่าแม่หอพระ เป็นป่าที่ปลูกขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเศรษฐกิจ เมื่อถึงเวลาสามารถนำมาทำประโยชน์แล้วปลูกใหม่ทดแทนได้ ซึ่งตลอดช่วงกว่า 30 ปี สวนป่าแห่งนี้ยังไม่เคยทำไม้ออกจำหน่าย ไม้จึงมีความสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงรู้สึกหวงแหน แต่ต้องแยกแยะระหว่างความรู้สึกกับข้อเท็จจริงให้ได้”
ดูท่าแล้วคงกลายเป็นหนังม้วนยาว ที่ ไม่รู้ว่าต้องรอไปอีกกี่ชั่วลูก ชั่วหลาน ถึงจะได้เห็น“สัปปายะสภาสถาน”ประวัติศาสตร์ชิ้นนี้