รู้ทัน “โรดแมพ” ผ่าน “วาทะร้อน”

ตั้งแต่ก่อนเข้ามา“นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ”บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมักอาการหงุดหงิดหัวเสีย ปรี๊ดแตก! เช้า-เย็นอยู่บ่อยครั้ง
โดยเฉพาะเมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์การเมืองและความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง
ปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญที่ยังมีมาตรา “ร้อน” ให้เร่งพิจารณา บวกกับแรงต้านจากกลุ่มการเมืองที่จ้องรุมถล่มรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)รายวัน จนถึงจุดพีค “บิ๊กตู่” ประกาศกร้าวมาแล้วว่า
“หากบ้านเมืองไม่สงบ ไม่ต้องเลือกตั้ง”
“ผมไม่สามารถให้ความมั่นใจได้ว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้สำเร็จ ตราบใดที่มีคนคิดที่จะต่อสู้กับรัฐบาล ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่การเลือกตั้งได้ก็ไม่ต้องเลือกตั้ง”
ก่อนช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระยะที่ 2 ของโรดแมพ สถานการณ์จะอยู่ในจุดที่ปัญหารุมเร้าหนักขึ้นเรื่อยๆ ในทุกด้าน
“พล.อ.ประยุทธ์” ต้องออกมาขู่อีกว่า “ถ้าไม่สงบจะอยู่ต่อ ปิดประเทศก็ต้องทำ” กลางเวทีการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย ระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2558
“ฝ่ายการเมืองไม่ต้องมาระแวงผม เขียนทุกวันว่าผมจะอยู่ในอำนาจ ถ้าไม่สงบเรียบร้อย ผมก็อยู่ต่อ ปิดประเทศก็ต้องปิดกันไป ถ้าเอามวลชนมา แกนนำต้องโดนก่อน โดยเฉพาะคนที่พูดมาก ผมมีอำนาจอยู่”
สำทับกับคำพูดของ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่า “ไม่อยากให้รัฐประหารครั้งนี้เสียของ“ ในการชี้แจงรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2557
“ความจำเป็นในช่วงเวลา 1 ปี นับจากนี้ไปคือทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดเสียงบ่น เสียงวิพากษ์ วิจารณ์ว่าสิ่งที่อุตสาห์ลงแรง และทำกันไปในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่เสียของหรือสูญเปล่า ซึ่งเป็นช่วงเวลา 2 เดือนก่อนที่คสช.จะแยกอำนาจให้กับแม่น้ำ 5 สาย”
จะเห็นได้ว่าจังหวะนี้ “ผู้นำ” เริ่มกระชับอำนาจในมือให้เห็นอยู่ตลอด โดยใช้ “คำพูด” บีบฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มมีกระแสจากกลุ่มต้านรุมเร้าออกมาแทรกคิวประชามติ
เมื่อไม่นานมานี้ในงานมอบรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2559 ที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” กล่าวตอนหนึ่งว่า “ผมจะร่างรัฐธรรมนูญให้เอง” หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
“ผมถึงบอกถ้าไม่เรียบร้อย ผมเขียนเองได้ จะเขียนแบบที่ประชาชนต้องการ ผมไม่ได้เขียนแบบที่อยากเขียน ผมไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ผมอ่านเอา และเอาความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการอะไรมาเขียน แล้วจะดูว่ามันผ่านหรือไม่ผ่าน หรือจะไม่ผ่านมากกว่าเดิม มันอยู่ที่ใจของทุกคน หากใจทุกคนอยากจะทำ ก็ทำได้หมดในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรในโลกใบนี้ที่ทำไม่ได้”
อย่างไรก็ตามแม้ว่าต่อมา “บิ๊กตู่” จะชี้แจงว่าที่พูดไปนั้น ไม่ได้พูดอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้ทำให้หลายฝ่ายหยุดคิดได้ว่านายกฯ จะลงมาเขียนรัฐธรรมนูญในอนาคต
เนื่องจากที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.)และ คสช.เคยสะท้อนผ่านข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธานจนถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน
และการออกมา “แบไต๋” เช่นนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำระดับดับเบิ้ล เข้าไปอีกว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติหรือไม่
เพราะถ้าประเมิน วิเคราะห์ และสังเคราะห์ คำพูดของ “พล.อ.ประยุทธ์” ดีๆ ถือเป็นการยื่นเงื่อนไขให้กลุ่มคนที่เปิดหน้า “ค้าน” ร่างรัฐธรรมนูญต้องคิดกันใหม่ว่าจะยอมเสี่ยงหรือไม่
รวมถึง จังหวะก้าวเช่นนี้ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำ “สงครามเชิงจิตวิทยา” ด้วยการใช้คำพูดให้ฝ่าย “ไม่รับรธน.” ต้องกระอักกระอ่วนใจคิดหนัก และคิดใหม่อีกรอบ หากยังดื้อดึงเดินเกมป่วนรายวัน
ยกตัวอย่างสงครามจิตวิทยาทางการเมือง ที่เห็นชัดที่สุดเมื่อครั้งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อปี 2556 ที่สองพรรคใหญ่ คือ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ จัดหนักจัดเต็ม ประโคมสโลแกนผู้สมัครของตนเอง
โดยเฉพาะสโลแกนช่วงโค้งสุดท้าย ของฝ่ายประชาธิปัตย์ ที่ติดหูคนกรุงฯ มากที่สุด หนีไม่พ้นวาทกรรมที่ว่า
“ไม่เลือกเรา เขามาแน่”
ดันเอาคะแนนของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ที่อาการร่อแร่ เรียกคะแนนจากคนกรุงฯ ไปเต็ม เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยที่ส่ง “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” ลงชิงเก้าอี้พลาดท่าตกเก้าอี้ไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด
นี่จึงถือเป็นสงครามจิตวิทยา “ไม้ตาย” อย่างหนึ่งของคสช. ที่เทียบเคียงได้กับการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ที่ใช้ต่อสู้กับคู่แข่ง
ถ้าจับอาการของ “นายกฯ” กับท่าที ทีเล่น ทีจริง หลายต่อหลายครั้ง แม้จะไม่ได้มีความหมายตรงๆ แต่ถือเป็นการส่ง “สัญญาณ” ว่าหากมีเหตุสะดุด “รัฐบาล” เตรียมสูตรลับ ทางออกประเทศไว้แล้ว
หรืออาจมองอีกมุมได้ว่า
คำพูดดังกล่าวเป็นการ “ปลุก” นักการเมือง หนุนรับร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล เชิญชวนประชาชนเข้าคูหา ลงประชามติ รับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญ
เพราะหากไม่ช่วยกันเข็นร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านตาม “โรดแม็พ” การเลือกตั้งใน ปี 2560 จะประวิงเวลายาวนานออกไปอีกแน่นอน
เห็นได้จากคำพูดจากปาก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมายอมรับว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย” ไม่ผ่านประชามติ
“ไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ แต่อาจจะมีแนวคิด แต่คงไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะไม่ต้องการให้เสียสมาธิและเกิดการเปรียบเทียบว่าถ้าไม่ผ่านต้องหยิบฉบับนั้นมาใช้ฉบับนี้มาใช้ ทั้งนี้ยอมรับว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วทันทีที่รู้ผลประชามติ ซึ่งจะเป็นอำนาจใครร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนนี้ยังไม่ทราบ”
โดยเฉพาะการวางกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใน 4 ประเด็น คือ 1. ใครจะต้องเป็นผู้จัดทำและรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2.จะร่างรัฐธรรมนูญโดยวิธีใด จะทำเองหรือจะตั้งกรรมการ หรือหยิบฉบับหนึ่งฉบับใด 3.เสร็จสิ้นภายในเวลาเท่าใด เพื่อให้สัมพันธ์กับโรดแม็พ และ 4.กระบวนการหลังจากทำเสร็จสิ้นแล้วจะทำอย่างไรต่อ
แต่ที่น่าสนใจ คือ ประเด็นแรก “ตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะวางตัว “อ.วิษณุ” นั่งแท่นทำหน้าที่นี้เสียเอง หรืองานนี้ “ผู้นำประเทศ” จะลงมือร่างกติกาบ้านเมืองด้วยตัวเองหรือไม่
ส่วนประเด็นที่สอง คือ เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยังถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กัน ทั้งระบบเลือกตั้ง ที่มาและอำนาจ ส.ส.และ ส.ว. กลไกการเลือกนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น “ทางออก” ที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของคสช. ด้วยแนวคิดตั้งกรรมการขึ้นมาใหม่ หรือนำฉบับเก่ามายำร่วมกันนั้น ที่สุดแล้วคสช.ย่อมต้องกำหนดประเด็นต่างๆ เองอยู่ดี
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อำนาจการตัดสินใจชี้ขาด เนื้อหาและประเด็นต่างๆ จะอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ แบบเบ็ดเสร็จแบบไม่มีข้อสงสัย
อีกนัยหนึ่ง การออกมาขยับ “เล่นบทชัด” ของ “บิ๊กตู่” ครั้งนี้ ยังถือเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้าย วัดใจ กลุ่มเห็นต่าง หลังจาก “อุบไต๋” มาตลอด ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเดินต่ออย่างไร
เช่นเดียวกับในมุมของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมายอมรับเช่นกันว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ
“เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ผมยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ เราต้องดูว่าผ่านหรือไม่ผ่าน และจะอย่างไรที่จะไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ให้ได้ แน่นอนว่ารัฐบาลมีมาตรการรองรับไว้แล้ว เพราะถ้าไม่มีก็คงแย่ แต่ต้องคิดไว้หลายแบบ รวมถึงขณะนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องมือกฎหมายว่าจะเอาใครมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ต้องห่วง มีห้วงเวลาอยู่ ยืนยันว่าทัน เลือกตั้งแน่นอน”
ฟังจากสุ่มเสียงของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” จับสัญญาณได้ทันทีว่า “แผนทางออกประเทศ” แผนที่หนึ่ง แผนที่สอง ถูกคสช. วางหมาก “เดินเกมลากยาว” ไว้นานแล้ว
งานนี้ถ้าพูดกันตามสภาพความเป็นจริง ถึงวันนี้หลายฝ่ายยังเชื่อว่าไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม ต่างก็ไม่มีความแน่ใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไปได้หรือไม่ แม้แต่ คสช.เองก็เช่นกัน
เรื่องนี้จึงไม่เหนือความคาดหมายเท่าใดนัก หากตัวผู้นำจะโดดลงมาทำด้วยตัวเอง บรรดานักการเมือง คงได้หนาวๆ ร้อนๆ กันถ้วนหน้าเพราะ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประยุทธ์” น่าจะมีดีกรีร้อนแรงกว่าฉบับที่ผ่านมา
คงต้องคิดหนัก และตัดสินใจกันอีกหลายตลบ ถึงผลดีและผลเสีย หากคสช.วางหมากเดินเกมลากยาวบริหารประเทศ จนกว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นที่ยอมรับ.