แรงกดดัน “นานาชาติ” แผ่นเสียงที่ตกร่อง!!

ไม่ละความพยายามเดินหน้ากดดันประเทศไทยให้จนมุม ด้วยการยกปมปัญหาการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นภายในประเทศ ที่ถือเป็นจุดอ่อน “แทงใจดำ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.หลายต่อหลายครั้ง
คณะเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรปหรืออียู 20 ประเทศ ที่มีสถานทูตในกรุงเทพฯ เช่น เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักรร่วมกันออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการอภิปรายการลงประชามติอย่างเปิดกว้าง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและมั่นคง
แต่ที่น่าสนใจคือ เนื้อหามีความยาวถึง 448 หน้า และถูกเผยแพร่ ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 11 (อาเซม) ที่กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค.
“รัฐบาลที่ร่วมกันออกแถลงการณ์ฉบับนี้ ปรารถนาที่จะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และหวังว่ารัฐบาลไทยจะปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามคำแนะนำของกลไกสหประชาชาติ (UPR) นอกจากนี้ การจัดการออกเสียงประชามติของไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดกว้างให้มีการอภิปรายถึงประโยชน์ของร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนประชามตินี้ สุดท้ายนี้ เราจะประณามความพยายามใดๆ ที่จะใช้กระบวนการลงประชามติเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ขณะเดียวกันเรากังวลว่า การห้ามการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมชนอย่างสันติจะเป็นการยับยั้งการอภิปรายและเพิ่มความตึงเครียด”
เล่นเอา “ไก่อู” พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดือดควันออกหู ในการเคลื่อนไหวของอียู ที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา
“ถือเป็นการพูดที่เป็นแผ่นเสียงตกร่องไปแล้ว เพราะมีการออกมาเรียกร้องอยู่ตลอด สงสัยอียูเขาจะว่างจากการแก้ปัญหาของประเทศอังกฤษ ปล่อยให้เขาเรียกร้องกันไป เพราะเรายืนยันว่าเปิดกว้างและให้เสรีภาพในเรื่องดังกล่าวมาตลอด”
แต่ตรงกันข้ามกับ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่กระตุกให้คสช.และรัฐบาลยอมรับความจริงว่าสังคมยังไม่กล้าแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เพราะมีประกาศ คสช. และกฎหมายประชามติ ที่ยังเป็นเครื่องมือปิดกั้นอยู่
แน่นอนว่าการเดินเกม “อัดยาแรง” ของอียู เข้าทางพรรคเพื่อไทย “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล“ อดีตรมว.ต่างประเทศและแกนนำพรรคเพื่อไทย
“ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่รัฐบาล คสช.จะแกล้งทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่สนใจและสั่งการให้โฆษกกระทรวงบัวแก้ว ออกมาชี้แจง และคิดว่าเรื่องจะจบลงไปง่ายๆ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐสภาเยอรมัน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย จึงขอฝากเตือนมายัง คสช.ว่าเรื่องเช่นนี้ หาก คสช.ไม่ให้ความสำคัญ เชื่อว่าในอนาคตย่อมมีมาตรการอื่นๆ ตามมา และอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
แต่ในมุมกลับกัน “คสช.” ไม่มองเช่นนั้น “พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์” ทีมโฆษกคสช. ออกมาตอบโต้ทันทีว่า
“คิดว่านานาชาติเข้าใจการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช.ที่มีความจำเป็นต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบไม่ให้วุ่นวาย ยืนยันว่าคสช.ไม่ได้ดำเนินการที่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลุ่มผู้เห็นต่างก็มีการเคลื่อนไหว มีการแสดงความออกได้อยู่ ขอย้ำว่าไม่ได้ห้าม แต่อะไรก็ตามที่กระทำเกินกรอบกฎหมายก็ต้องระงับยับยั้ง เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข ยืนยันคสช.ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น แต่อะไรก็ตามที่ทำแล้วผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่”
งานนี้ ต้องบอกว่า การปรับโทนเอาน้ำเย็นเข้าลูบ ถือเป็นวิธีที่ละมุนละม่อม ไม่เป็นตัวเร่งเติมหัวเชื้อเข้ากองไฟ เพราะแรงเคลื่อนครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าส่งผลสะเทือน กระทบภาพลักษณ์รัฐบาลไม่น้อย
เพราะอย่าลืมว่า แม้จะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วันจะเข้าสู่จุด “ไคลแมกซ์” ชี้ชะตาร่างรัฐธรรมนูญแต่เสียงแต่เสียงสะท้อนการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลับชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่สวนทางกับการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในประเทศไทย
ดังนั้น “แรงเคลื่อน” ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ที่ “คสช.” จะทำเป็นไม่รู้ร้อน รู้หนาว ไม่สนใจ จนลืมคิดถึงผลกระทบด้านลบที่จะตามมา สุดท้ายนี้ก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลและคสช.จะไม่มองข้ามสิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐาน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย.