ลุ้นครึ่งปีหลังหุ้นไทยแตะ 1,500…..จุด
ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรกดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักหนุนให้ดัชนีทำนิวไฮต่อเนื่อง
ขณะที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปสู่ 1500 จุด ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่จะมีความผันผวนแรง เพราะปัจจัยที่มีอิทธิพลยังคงเป็นปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเรื่องผลกระทบเบร็กซิทและนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยครึ่งปีแรกของปี 2559 เป็นไปในทิศทางเชิงบวก ดัชนีเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,220 จุด ขึ้นไปแตะ1,450 จุด เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นกว่า 11% มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันราว 4.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ 4.37 หมื่นล้านบาท
อุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นที่สุดคือ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นราว 22% จากปีก่อน เป็นไปตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วน ได้แก่ ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์ ต่างปรับตัวขึ้นมาได้ราว 20% จากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจาก 100 ดอลลาร์บาร์เรล กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต เป็นกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดกว่า 17% จากปีก่อน ขณะที่กลุ่มโรงแรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรับเหมาก่อสร้างให้ผลตอบแทนติดลบราว 5% จากปีก่อน
“เกศรา มัญชุศรี” กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากยิ่งขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายนอกนั้น ผลกระทบจากเบร็กซิทมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดความกังวลได้ต่อเนื่อง เพราะหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามที่จะประเมินผลกระทบ ทั้งเชิงลบและเชิงบวก และมีความกังวลที่สมาชิกสหภาพยุโรปรายอื่นๆ ขณะที่ความกังวลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้น หรือเรื่องของโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่วนตัวมองว่าโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นนั้นมีน้อยลง
ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้นก็มีเรื่องของการลงประชามติ ที่คาดว่าจะมีอิทธิพลเป็นระยะๆ
“กัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา” กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) มีความเห็นว่า ช่วงครึ่งปีหลังเม็ดเงินต่างชาติจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ขณะที่เฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้แล้ว ทำให้เม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในแถบเอเชีย จากที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีรวมถึงตลาดหุ้นไทย
ประกอบกับรัฐบาลเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะทำให้จีดีพีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.5-2.7% ได้ ดังนั้น
จึงมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะไปแตะที่ระดับ 1,500 จุดได้ แต่หากมีการปรับตัวลดลงมากเชื่อว่าจะไม่หลุด 1,400 จุด
“ตลาดหุ้นช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นขาขึ้นอย่างจริงจัง จากที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อัดฉีดเม็ดเงินทำให้สภาพคล่องล้นทำให้ต้องหาแหล่งลงทุนตลาดหุ้นเอเชียน่าสนใจเข้าลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยและมีปัจจัยบวกเรื่องการลงทุนภาครัฐทำให้จีดีพีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยมากพอสมควร ซึ่งปัจจุบันบริษัทประเมินดัชนีปีนี้จะอยู่ที่ 1,500 จุด แต่หากงบไตรมาส 2 ประกาศออกมาแล้วดีกว่าไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีก่อน อาจมีการปรับประมาณการดัชนีปีนี้เพิ่มขึ้น”
“เอกภาวิน สุนทราภิชาติ” นักกลยุทธ์การลงทุนสายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า แนวโน้มดัชนีในเดือน ก.ค. คาดว่าภาพรวมทั้งเดือนดัชนี มีโอกาสบวกต่อขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1,480 จุด แต่ช่วง 2 สัปดาห์แรกน่าจะอ่อนตัวก่อน เพราะการประกาศงบการเงินงวดไตรมาส 2 ปีนี้ กลุ่มธนาคารน่าจะมีกำไรลดลง และยังต้องติดตามผลกระทบจากเบร็กซิทอีก
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินว่าภาพรวมการตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2559 คาดว่าดัชนีหุ้นไทย มีโอกาสไต่ระดับขึ้นไปทดสอบเป้าหมายดัชนีปีนี้ที่ 1,500 จุด ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมตามโมเดล Earning yield gap โดยประเมินภาวการณ์การลงทุนจะยังคงผ่อนคลายหลังประเด็นอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) มีความชัดเจนมากขึ้น และน่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าช่วงไตรมาสที่ 4/2559 ที่คาดว่าจะมีความผันผวนมากขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
ตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาสที่ 3/2559 จะมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากปรากฏการณ์ที่นักลงทุนพยายามมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนพันธบัตร (Hunger for yield) ซึ่งทำให้นักลงทุนยอมที่จะแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นโดยปริยาย รวมทั้งปัจจัยสภาพคล่องในระบบการเงินโลกก็ยังคงอยู่ในระดับสูงท่ามกลางการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ และการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ประเด็นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในประเทศ ซึ่งมีกำหนดในเดือนส.ค. นี้ และภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน (Bond Shock) ที่อาจเกิดขึ้นหากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน รวมไปถึงการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ไตรมาส 3/2559 แนะนำกลยุทธ์การลงทุนและหุ้นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน ดังนี้ หุ้นกลุ่มพลังงาน หุ้นกลุ่มธนาคาร หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและหุ้นอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คาดการณ์ว่า ปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยถือว่าน้อยสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น จึงทำให้เม็ดเงินต่างชาติจะไหลกลับเข้ามา แต่คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนโดยมองว่าดัชนีปีนี้ไม่เกิน 1,500 จุด เนื่องจากยังมีปัจจัยการเมืองในประเทศคอยกดดัน และเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า
กรณีเรื่อง Brexit แต่เชื่อว่าในช่วง 1 ปีจากนี้จะยังไม่มีใครออก ในแง่เศรษฐกิจโลกเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะเศรษฐกิจอังกฤษมีสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งต้องติดตามสหรัฐฯ จะมีการชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปหรือไม่จากเดิมที่จะปรับขึ้นปลายปี ส่วนผลกระทบกับไทยถือว่าน้อยมาก เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาของอังกฤษและยุโรป จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไม่มาก ซึ่งเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่กรอบการขึ้นจำกัดเพราะยังมีปัจจัยในประเทศที่กดดัน จากปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจ
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภค การลงทุนในประเทศ และหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลที่สูง โดยเลี่ยงหุ้นที่ส่งออกไปยุโรป ท่องเที่ยว
ด้านฝั่งนักลงทุนสถาบัน “นาวิน อินทรสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 1,450 – 1,500 จุด โดยตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 1/59 ที่ผ่านมากลับมาให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น โดย ปรับตัวขึ้นกว่า 9% นำประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ด้วยแรงหนุนของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลกลับมาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย
ส่วนตัวเลข GDP ของไทยไตรมาสแรกออกมาดีกว่าที่คาด โดยขยายตัว 3.2% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ นอกจากนี้สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางหลักๆ อาทิ ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ยังเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะต้องติดตามและอาจมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย อาทิ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงเพิ่มขึ้น และตัวเลขการส่งออกที่ชะลอลง อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ อาทิ ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ผลกระทบภายหลังเหตุการณ์ Brexit ที่ยังกดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นอุปสงค์ขนาดใหญ่ของโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ.