ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้โลกเผชิญความเสี่ยง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยหลังประชามติอังกฤษออกจากอียู
ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นและมีผลต่อยอดส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มูลค่าส่งออกรวม 5 เดือนแรกของปี 2559 หดตัว 1.9% (YoY) ตามภาวะของการค้าโลกที่ชะลอตัว และท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกที่นอกจากจะมีความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในช่วงครึ่งปีหลังแล้ว ยังมีผลกระทบที่ตามมาจาก Brexit ผ่านค่าเงินปอนด์สเตอริงและยูโรที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2559 จาก 0.0% เป็นหดตัว 2.0% โดยให้กรอบการคาดการณ์อยู่ในช่วง -1.0% ถึง -3.0%
การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 2559 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และหดตัวในทุกหมวดสินค้าส่งออกหลัก ยกเว้นรถยนต์ โดยมูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค.2559 อยู่ที่ 17,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องที่ 4.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรอาทิ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังที่หดตัวลงอย่างมากจากปริมาณการส่งออกที่ลดลง ในขณะที่ราคาตลาดโลกไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก แม้ว่าอุปทานโลกจะลดลงจากภาวะภัยแล้งก็ตาม นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงเดือนพ.ค.2559 จะปรับตัวสูงขึ้นจากต้นปีแต่ก็ยังต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการส่งออกของสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ยางพารา และเม็ดพลาสติกกลับยังคงหดตัวอยู่ ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมรายการหลักหดตัวลงเป็นส่วนใหญ่ ทั้งคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค. จากอานิสงส์การส่งออกรถยนต์นั่งที่สูงขึ้นในตลาดออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง
ภาพรวมการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ตลาดจีนหดตัวมากที่สุดในบรรดาตลาดหลัก การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกไปยังตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีนและ อาเซียนต่างหดตัวลงในทุกตลาด แต่ตลาดจีนหดตัวลงมากที่สุดที่ 7.7% (YoY) ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะการนำเข้าและส่งออกของจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ที่หดตัว 9.6% และ 7.1% ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าหลักของไทยไปจีนหดตัวทั้งในหมวดของวัตถุดิบ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และสินค้าขั้นกลาง เช่น เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์
ผลกระทบจาก Brexit เพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2559 นอกเหนือไปจากความเสี่ยงอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าที่มีอยู่แล้ว แม้ว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งจะช่วยให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อิงไปกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวดีขึ้นไปด้วย แต่สัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกยังคงจำกัดท่ามกลางความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ความเป็นไปได้ของการคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2559 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.0 (คาดการณ์เดือนเม.ย. 2559) ลดน้อยลง และเมื่อประกอบกับผลกระทบจาก Brexit ผ่านค่าเงินปอนด์สเตอริง และยูโรที่อ่อนค่าลงที่จะมีผลกระทบในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับมุมมองภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2559 โดยคาดว่าจะหดตัวที่ 2.0% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -1.0%ถึง -3.0%.