โชว์ลูกหม้อ “KBANK” ขึ้นเป็นใหญ่

เมื่อประเทศชาติต้องการบุคคลสำคัญในการแก้วิกฤตต่างๆ บุคคลากรที่ได้รับการกล่าวถึงหรือเป็นแคนดิเดท มักหนีไม่พ้นคนจากธนาคารสีเขียว หรือกสิกรไทย “บัณฑูร ล่ำซำ”ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ก็เคยเป็นที่คาดหมายมาหลายครั้ง เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี ล่าสุดว่าที่รมว.คลังและรองนายกฯก็มาจากแบงก์นี้

“ปรีดี ดาวฉาย” ว่าที่รัฐมนตรีคลังคนที่ 53 นับเป็นลูกหม้อของ “ธนาคารกสิกรไทย” อย่างแท้จริง โดยเป็นนักเรียนทุนของธนาคารในระดับปริญญาโท ด้านกฎหมายเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และหากดูประสบการณ์การทำงาน ก็น่าสนใจไม่น้อย โดย ปี2525 เริ่มงานที่สำนักกฎหมาย ธนาคารกสิกรไทย และเติบโตในสายงานต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง จนปี 2556 ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และได้ลาออกเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 นับเป็นเวลาที่ทำงานในธนาคารสีเขียวแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 31 ปี
และถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านมรสุมวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ๆมาไม่น้อย ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 วิกฤตซับไพรม์ปี 2550-2551 และการรับตำแหน่งทางการเมืองในครั้งนี้ก็พอดีกับที่ทั่วโลกรวมทั้งไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิค

“หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล” หรือหม่อมอุ๋ย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 17 เริ่มทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่ปี 2514 จนได้รับตำแหน่งกรรมการรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส จากนั้นก็ลาออกและไปมีบทบาททางการเมืองโดยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2533 ,รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และพลเอกสุจินดา คราประยูร

อีกหนึ่งบุคคลที่เกือบทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อเสียง “ชาติชาย พยุหนาวีชัย “ อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 16 ที่พึ่งครบวาระเมื่อกลางเดือนมิ.ย. 2563 เคยทำงานที่ธนาคารกสิกรไทยมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2526 ในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ปี2537 ขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่าย มาจนถึงรองกรรมการผู้จัดการในปี 2555 ถือว่าเป็นบุคคลที่ชำนาญในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรมธนาคาร จากการพัฒนาธนาคารออมสินให้มีชื่อชั้นที่ทันสมัยจนเทียบเท่าธนาคารพาณิชย์เอกชน

ในวงการธนาคารชื่อ‘บุญทักษ์ หวังเจริญ’ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย นับเป็นอดีตลูกหม้อก้นกุฎิอย่างแท้จริงจากประสบการณ์การทำงานในแบงก์รวงข้าวมานานถึง 26 ปี ตั้งแต่ปี 2524 ที่เริ่มทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย ฝ่ายกิจการต่างประเทศ จนขึ้นมาถึงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ก่อนลาออกในปี 2550 โดยก่อนที่จะลาออกมีบทบาทดูแล 3 สายงานสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจตลาดทุน ธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ และบรรษัทธุรกิจ

หากไปดูบุคคลากรของแบงก์ที่ไปเติบโตในอุตสาหกรรมอื่น ต้องนึกถึง “ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ “ Chief Opearting Officer (COO) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN อดีตเคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย “ปกรณ์”จัดเป็น “ลูกหม้อ” คนหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย ได้รับทุนของธนาคารไปเรียนต่อ ปริญญาโทที่ Columbia Business School ที่สหรัฐอเมริกา ด้าน Finance, Money & Finance Markets and International Business เรียนจบก็กลับมาทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 กว่า 25 ปี ในเส้นทางการทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้กสิกรไทยก้าวขึ้นสู่ผู้นำในตลาด SME และ Retail Banking
หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าบุคคลากรจากธนาคารแห่งนี้ใครจะเป็นรายต่อไป ที่จะมีแรงดึงดูด และเป็นที่ต้องการขององค์กรหรือบริษัทต่างๆ