นับถอยหลัง…วิกฤติเหล็กไทย ใครจะช่วย?! (3)
ในตอนที่แล้ว ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า สถานการณ์การค้าและการบริโภคภายในประเทศจีนหดตัวอย่างรุนแรง…จะรุนแรงแค่ไหน?! มาดูกัน
จากข้อมูล World Steel Association หรือ สมาคมเหล็กโลก ระบุว่า ระดับการค้าปลีกภายในประเทศจีน หดตัวในอัตรา -20.5% ขณะที่ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ต่อเรือ ต่างหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงระหว่าง -20% ถึง -45%
ส่วนภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีสัดส่วนเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กมากที่สุด พบว่า หดตัว -16.3% และ -30.3% ตามลำดับ
สามารถสรุปได้ว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กทุกกลุ่มของประเทศจีน เผชิญกับการหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19
ขณะที่ S&P Global Platts ผู้ให้บริการข้อมูล ข่าวสาร บทวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมเหล็ก ประเมินว่า สต็อกสินค้าเหล็กของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านตัน หรือขยายตัว 203 % ในสิ้นเดือนมีนาคมปี 2020
เพราะด้วยปริมาณการผลิตเหล็กของประเทศจีนที่ขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กจีนไม่ได้ลดระดับการผลิตลงในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับความต้องการใช้เหล็กจริง (Real finished steel consumption) ในตลาดจีนหดตัวอย่างรุนแรง ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ปี 2020 ในอัตรา -27.8%, -76.5% และ – 20.4% ตามลำดับ
ทำให้ผลรวมความต้องการใช้เหล็กจริงในไตรมาสแรกของปี 2020 หดตัวในอัตรา -36.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ปริมาณสต็อกสินค้าเหล็กรวมทุกประเภทของประเทศจีนทั้งสินค้าเหล็กกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าเหล็กสำเร็จรูปในสิ้นเดือนมีนาคม ปี 2020 ขึ้นไปแตะระดับ 100 ล้านตัน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตรา 203% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2019 ซึ่งจะมีสต็อกสินค้าเหล็กในปริมาณ 49.3 ล้านตัน
ฉะนั้น สต็อกสินค้าเหล็กที่ค้างในระบบเศรษฐกิจของจีนจำนวน 100 ล้านตันจึงต้องถูกระบาย…ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของทั้งภูมิภาคอาเซียนตลอดทั้งปีที่มีปริมาณ 80 ล้านตัน
และต่อไปนี้ จึงเป็นความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย
เพราะหากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นไปอย่างช้าๆ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ทุกภูมิภาคทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้ความเสี่ยงจากปัญหาสต็อกสินค้าเหล็กที่จะทะลักออกจากจีนยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ขณะที่รัฐบาลจีนก็มิได้นิ่งนอนใจ กับปัญหาของสต็อกที่ล้นตลาดและความต้องการที่หดตัว…
ล่าสุด รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการส่งออก โดยประกาศเพิ่มอัตราการชดเชยภาษี 3% สำหรับการส่งออกสินค้าเหล็ก (Export rebate) จำนวน 59 รายการ ให้การชดเชยภาษีเพิ่มจาก 10% เป็น 13% ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 (ประกาศวันที่ 17 มีนาคม 2563)
ประกาศฉบับดังกล่าวทำให้สินค้าเหล็กที่ได้รับการชดเชยภาษีสำหรับการส่งออกในอัตราสูงสุด 13% มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 94.2 ของปริมาณสินค้าเหล็กที่จีนส่งออกในปี 2562
ดังนั้น หากระบบโลจิสติกส์ในประเทศจีนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ผลิตเหล็กจีนจะต้องหาทางระบายสต็อกสินค้าจำนวนมหาศาลออกมาอย่างแน่นอน
จากสถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กของประเทศจีนไปทั่วโลก ตามข้อมูลจาก Global Trade Atlas ยังคงพบถึงความเสี่ยงต่อประเทศไทย โดยการส่งออกจากประเทศจีนไปทั่วโลกมีปริมาณลดลงจาก 73.4 ล้านตันในปี 2017 ลงมาที่ 62.2 ล้านตัน ในปี 2019
แต่ยังคงพบว่าการส่งออกของจีนมาประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณ 3.1 ล้านตันในปี 2017 ขึ้นมาเป็น 3.5 ล้านตัน ในปี 2018 และ 3.7 ล้านตันในปี 2019 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว 20% ในช่วงเวลาดังกล่าว
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทย คือเป้าหมายการส่งออกเหล็กของประเทศจีน…
นั่นเป็นเพราะ ประเทศไทย กำลังเดินหน้า บิ๊กโปรเจกค์ มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท ของ กระทรวงคมนาคม
และมิใช่มีแต่ อุตสาหกรรมเหล็กไทย ที่หวั่นไหว อุตสาหกรรมเหล็กในต่างประเทศก็หวั่นไหวมิต่างกัน มาตรการที่ออกมาล้วนป้องกัน การดั๊มพ์ตลาดของเหล็กจีน!!
โปรดติดตามตอน(4)ต่อไป…