นับถอยหลัง…วิกฤติเหล็กไทย ใครจะช่วย?! (2)
ตอนที่แล้วได้ทิ้งท้ายไว้ว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทย กำลังประสบปัญหาหนัก จากการทุ่มตลาดของเหล็กจีนที่กำลังทะลักเข้าไทย ในเร็วๆนี้
ขอบอกว่า เขามาแน่!!!
เพราะหากดูสถิติ เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่มีการผลิตเหล็กมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก เพราะมีการผลิตเหล็ก (Crude steel) มากถึง 996 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 53% ของปริมาณการผลิตเหล็กทั้งโลก ที่มีปริมาณ 1,870 ล้านตัน
ซึ่งผลผลิตเหล็กของจีนในปี 2019 เป็นปริมาณการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นอัตราการขยายตัวของการผลิตที่เพิ่มถึง 8.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของประเทศจีน อยู่ที่ 945 ล้านตัน ในปี 2019 เทียบกับประเทศไทยที่มีความต้องการใช้เหล็กจำนวน 18.4 ล้านตัน หรือหากเทียบกับภูมิภาคอาเซียนที่มีความต้องการใช้เหล็กจำนวน 80 ล้านตัน
นอกจากนี้ ประเทศจีนยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกอีกด้วย
ดังนั้นระดับการผลิตเหล็กของประเทศจีนจึงส่งผลอย่างมากต่อเสถียรภาพของอุตสาหกรรมเหล็กโลก และยังมีผลกระทบอย่างมากต่อภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยที่เป็นภูมิภาคที่อยู่ติดกับประเทศจีน
ความผิดปกติของภาคอุตสาหกรรมเหล็กจีน เริ่มเกิดขึ้น หลังจากประเทศจีนเริ่มประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2019 และต่อเนื่องมาถึงปี 2020
เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ปี 2020 ผู้ผลิตเหล็กจีน ได้รายงานปริมาณการผลิตเหล็กอยู่ที่ 154.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ซึ่งเป็นระดับการผลิตที่ขยายตัวจากระดับการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ
เฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ซึ่งจีนอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงที่สุด กลับมีรายงานว่า การผลิตเหล็กเพิ่มขึ้นถึง 5.33% ขณะที่การผลิตสินค้าโดยทั่วไปของจีนปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและการปิดประเทศของจีน
แต่ปรากฏว่าปริมาณการผลิตเหล็กกลับเพิ่มขึ้นสวนทาง จนส่งผลให้ปริมาณสต็อกเหล็กในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ และมีปริมาณสูงกว่าช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา
จากรายงานผลผลิตเหล็กรายมณฑลของประเทศจีน ที่รวบรวมโดย Steelhome ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลสถานการณ์ การค้าในธุรกิจเหล็กประเทศจีน พบว่า
แม้แต่มณฑล Hubei ที่เป็นศูนย์กลางการระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ยังมีปริมาณผลผลิตเหล็กเพิ่มขึ้นในอัตรา 3.1% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 ขณะที่มณฑล Hebei ที่มีการผลิตเหล็กมากที่สุดในประเทศมีการขยายตัวของการผลิตเหล็กในอัตรา 3.7% ส่วนมณฑล Anhui ซึ่งเป็นมณฑลที่ผลิตเหล็กมากที่สุดอันดับ 7 ของประเทศ รายงานการผลิตเหล็กที่เพิ่มขึ้นถึง 22.3%
Steelhome ยังรายงานว่า อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity utilization) ของเตาถลุงเหล็กประเทศจีนในช่วงที่อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำสุดอยู่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 อยู่ที่ระดับ 82% ซึ่งระดับดังกล่าวถือว่าเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงมาก และยิ่งสูงมากหากเทียบกับค่าเฉลี่ยอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กของไทยที่ 32% เท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์การค้าและการบริโภคภายในประเทศจีนกลับหดตัวอย่างรุนแรง…
จะรุนแรงแค่ไหน?!
โปรดติดตามตอน(3)ต่อไป…