ลุ้น Brexit หนุนราคาทองนิวไฮรอบใหม่
ผู้ค้าทองประเมินผลตอบแทนจากลงทุนทองคำปีนี้กว่า 20%
โดยเฉพาะเดือนมิ.ย.ราคาทองปรับตัวขึ้นไปแล้ว5% จากปัจจัยหนุน 2 เหตุการณ์ ทั้งเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และผลประชามติอังกฤษจะถอนตัวออกจากอียู ส่งผลให้นักลงทุนพร้อมใจเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย ลุ้นราคาทำนิวไฮรอบใหม่
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ค้าทองคำพบว่า ส่วนใหญ่ประเมินราคาทองคำมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น เพราะได้รับปัจจัยหนุน ทั้งเรื่องแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป และสิ่งสำคัญปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำ คือผลประชามติอังกฤษจะถอนตัวจากกลุ่มประเทศอียู ซึ่งทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด คือ ทองคำ จึงน่าจะส่งผลให้ราคาทองมีโอกาสทำนิวไฮใหม่ได้อีกครั้ง
“กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ” ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเครือเอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ให้คำแนะนำว่าไม่ว่าผลประชามติอังกฤษ จะออกมาในรูปแบบใด คาดว่าจะมีผลกระทบต่อราคาทองคำ โดยถ้าอังกฤษถอนตัวออกจากอียู จะส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และจะสนับสนุนให้ราคาทองคำพุ่งแตะนิวไฮรอบใหม่ที่ระดับ 1,350 -1,400 ดอลลาร์
ถ้าหากอังกฤษไม่ถอนออกจากอียู่ คาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ราคาทองจะอ่อนตัวลง และอาจไปแตะระดับ 1,280 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือต่ำสุดไม่เกิน 1,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์
“กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ ถ้าอังกฤกถอนตัวราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงแนะนำให้เก็งกำไรได้ แต่ถ้าอังกฤษยังคงอยู่ต่อไป คาดว่าราคาทองคำจะอ่อนตัวลงมา และจะเคลื่อนไหวแบบแกว่งตัวผันผวนและจากนั้นก็จะปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามในระยะกลางถึงยาวราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอยู่แล้ว”
ธีระพงค์ นววัฒนทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้ความเห็นว่า ภาพรวมราคาทองคำตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมาราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้นกว่า 20% โดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายนที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น 5.2% เพราะแรงหนุนจากกระแสการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด จนในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ทำให้นักลงทุนในตลาดปรับลดคาดการณ์จำนวนครั้งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดลง
รวมถึงกรณีเรื่องที่อังกฤษอาจจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงินและเกิดแรงขายในตลาดหุ้นทั่วโลก ด้วยการเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ทั้งนี้ทิศทางราคาทองคำจากนี้ไปคงต้องให้น้ำหนักกับผลการลงประชามติของ BREXIT เมื่ออังกกฤษจะถอนตัวออกจาก EU วายแอลจีมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษและอาจจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Fitch Ratings และ Moody’s ต่างก็ออกความเห็นว่าจะลดระดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษ ซึ่งจะกระทบต่อตลาดการเงินอย่างรุนแรง ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เศรษฐกิจของทั้งอังกฤษ และ EU อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
เนื่องจากการลงประชามติของอังกฤษเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจใน EU และเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวจะกระตุ้นความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและส่งผลบวกต่อราคาทองคำในที่สุด
กรณีหากผลการทำประชามติออกมาว่าอังกฤษจะยังคงเป็นสมาชิก EU ต่อไปอาจจะส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น และกดดันราคาทองคำซึ่งอยู่ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยการปิดหีบประชามติจะมีขึ้นในเวลา 21.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 04.00 น.ช่วงเช้ามืดของวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย.ตามเวลาในประเทศไทยซึ่งหมายความว่าทั่วโลกจะเริ่มรับรู้ผลการลงประชามติหลังจากเวลาดังกล่าว
วายแอลจีประเมินว่าราคาทองยังเคลื่อนไหวในกรอบก่อนที่จะทราบผลประชามติ Brexit โดยหลังจากราคาทองคำทดสอบแนวต้านโซน 1,310-1,315 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของปีนี้และปีก่อนหน้า แต่ไม่สามารถยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้จึงเกิดแรงขายออกมาอย่างชัดเจน จนราคาอ่อนตัวลงในลักษณะของการปรับฐานราคา ทั้งนี้หากราคาสามารถยืนเหนือบริเวณ 1,264 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง ราคาค่อยๆขยับทดสอบแนวต้านโซน 1,310-1,315 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตามหากไม่มีแรงซื้อมากพอราคาอาจเกิดการอ่อนตัวลงเพื่อสะสมแรงซื้ออีกครั้งแต่หากผ่านได้ราคามีโอกาสขึ้นทดสอบแนวต้านโซน 1,345 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะนี้แนะนำเมื่อราคาขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,310-1,315 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ยังไม่สามารถผ่านไปได้แนะนำขายทำกำไรบางส่วน แนะนำนักลงทุนเข้าซื้อเมื่อราคามีการย่อตัวเข้าใกล้บริเวณแนวรับ 1,264- 1,255 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยหากราคาไม่หลุดแนวรับราคาทองคำยังมีโอกาสค่อยๆขยับขึ้นทดสอบกรอบราคาด้านบน แต่หากราคาหลุดโซนแนวรับ 1,240 ดอลลาร์ต่อออนซ์ควรชะลอการเข้าซื้อ
อย่างไรก็ตามราคาทองคำมีกรอบการเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก นักลงทุนควรเน้นเก็งกำไรในระยะสั้นพร้อมกำหนดจุดทำกำไรและจุดตัดขาดทุนเพื่อควบคุมความผันผวนของราคา
สำหรับราคาทองคำในประเทศยังคงมีปัจจัยค่าเงินบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยค่าเงินบาทในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการแข็งค่าของค่าเงินบาทเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำภายในประเทศปรับตัวขึ้นเพียง 4.38% น้อยกว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงต่อจากนี้อาจต้องจับตาการประชุมนโยบายทางการเงิน (กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 22 มิ.ย.ซึ่งคาดว่ากนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้เช่นกันที่กนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศไม่ให้แตกต่างกันมากจนเกินไปหลังจากวานนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา และหากกนง.ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าและเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำในประเทศ
จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ และประธานหอการค้าไทย-จีน ให้ความเห็นว่า หากอังกฤษออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรป(อียู)หรือ Brexit เชื่อว่าทิศทางราคาทอง จะปรับขึ้นไม่เกิน 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือไม่น่าจะถึง บาทละ 23,000 บาท
“ถ้าหากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ก็ไม่น่าจะเกิน 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพราะปีนี้ราคาทอง ก็ขึ้นมาพอสมควรแล้ว และตอนนี้เศรษฐกิจโลกก็ไม่ดี ราคาทองไม่น่า จะขยับมากกว่านี้มากนัก ยกเว้นว่ามีเหตุการณ์ที่รุนแรงจริงๆ” นายจิตติ กล่าว
นายจิตติประเมินว่า ราคาทองคำจะไม่ปรับสูงขึ้นกว่านี้มากนัก หลังในปีนี้ราคาทองขยับขึ้นมาค่อนข้างมาก โดยปรับขึ้นมาแล้วเกือบบาทละ 4,000 บาท หรือประมาณกว่า 10% จากราคาต่ำสุดที่บาทละ 17,900 บาท
ด้านโบรกเกอร์ “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST) ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวไว้ว่า หากสหราชอาณาออกจากอียูผลที่จะเกิดขึ้นกับตลาดเงินตลาดทุนจะเป็นไปดังนี้ คือ
1.)จะเกิดความปั่นป่วนขึ้นในตลาดสินทรัพย์ทางการเงินเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมรับกับผลในแบบนี้ โดยนักลงทุนจะเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างพันธบัตรรัฐบาล ,ทองคำ ,เงินสกุลปลอดภัย เช่น ดอลล่าร์ และขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง-สูง อย่างสินค้าโภคภัณฑ์, หุ้น ตลาดอาจเวลาหลายวันกว่าจะสงบนิ่งลง จนบรรดาธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะเป็นผู้เข้ามาจัดการในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามการที่อังกฤษออกจากอียู ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก
2.)อาจเกิดวิกฤตการณ์ ถ้าการเทขายสินทรัพย์ทางการเงินเกิดขึ้นไม่หยุดจะมีผลกระทบต่อความมั่งคั่งและกระทบต่อเศรษฐกิจจะกระทบอย่างรุนแรง เหมือนคลื่นลูกที่สอง ซึ่งเราคาดว่ามีโอกาสเกิดค่อนข้างยากน่าจะจบแค่ขั้นแรก และ 3.) สหราชอาณายังอยู่กับอียูต่อไปก็เป็นเรื่องบวกของตลาด ราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ถูกขายมาก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นจะเป็นบวก เงินที่ล้นโลกที่พักอยู่ในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ จะทยอยกลับเข้ามาในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์