บจ.ไทยบุกธุรกิจร้านอาหารต่อยอด
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเตรียมแผนบุกธุรกิจร้านอาหารทั้งในและต่างประเทศ หวังต่อยอดธุรกิจ เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มรับมือเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศผันผวน
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีที่บริษัทจดทะเบียนเดินหน้าจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อขยายงานไปยังธุรกิจร้านค้า-อาหาร ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก โดยบริษัทที่มีแผนลงทุนเพิ่มดังนี้
บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน)BR รายงานตลาดหลักทรัพย์ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ชื่อ บริษัท พี คิทเช่น จำกัด รองรับการขยายธุรกิจ หรือเพื่อเป็นการรองรับธุรกิจใหม่ รวมทั้งเพื่อการเจริญเติบโตจของบริษัทในอนาคต
“พี คิทเช่น” มีลักษณะธุรกิจ คือ ดำเนินการลงทุนโดยการ ถือหุ้นบริษัทที่ดำเนิน ธุรกิจเกี่ยวกับร้านค้าและอาหาร ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้น สามัญจำนวน 30,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดยบริษัทบางกอกแร้นช์ถือ หุ้น 99.98%
ปัจจุบัน บริษัท บางกอก เป็นผู้นำในธุรกิจผลิตอาหารจากเนื้อเป็ดแบบครบวงจร โดยดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และผลิตอาหารจากเนื้อเป็ดที่มีคุณภาพในระดับพรีเมี่ยม และจำแนกธุรกิจของกลุ่มบริษัทออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจอาหารสัตว์ 2) ธุรกิจฟาร์มพ่อแม่พันธุ์เป็ด 3) ธุรกิจโรงฟักไข่เป็ด 4) ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงเป็ดเนื้อ และ 5) ธุรกิจโรงงานชำแหละ และแปรรูปเนื้อเป็ด โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทมีการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง กลุ่มบริษัทมีฐานการผลิตแบบครบวงจรทั้งในประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์
ไมเนอร์ตั้งบริษัทร่วมทุนพม่า -สิงคโปร์
ขณะเดียวกัน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) MINT รายงานตลาดว่า MFG International Holding (Singapore) Pte. Ltd. บริษัทย่อยถือหุ้น 100% โดย Primacy Investment Limited บริษัทย่อยถือหุ้น 100% โดยบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยถือหุ้น 99.73% โดย MINT ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ชื่อบริษัท The Minor Food Group (Myanmar) Limited โดย MFG International Holding (Singapore) Pte. Ltd. ถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียน 2,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา ประเภทกิจการ ประกอบกิจการร้านอาหาร
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะการจัดตั้งบริษัทใหม่เพิ่มเติมชื่อ บริษัท Ya Hua International Pte Ltd. เมื่อเดือน มีนาคม 2559 ซึ่ง The Food Theory Group Pte. Ltd. ถือหุ้น 50% และ Ya Hua Investment Pte. Ltd. ถือหุ้น 50%
บริษัทดังกล่าวจะมีทุนจดทะเบียน 350,000 ดอลล่าร์ สิงคโปร์แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 350,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ชำระเต็มมูลค่า ซึ่งบริษัทจะมีแหล่งเงินทุนที่ใช้จากกระแสเงินสดในบริษัท และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในครั้งนี้ จะดำเนินธุรกิจประกอบกิจการร้านอาหารในสิงคโปร์ ซึ่งมีใบอนุญาตในการพัฒนาร้านอาหารแบรนด์ Ya Hua
เกรฮาวด์รุกอังกฤษ
ในช่วงเวลาเดียวกัน “ศุภสิทธิ์ สุขะนินทร์ “กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จากัด (มหาชน) SST แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ขณะนี้การลงทุนของบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมที่บริษัทถือหุ้นผ่านบริษัท มัดแมน จำกัด ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 80.33% ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ในต่างประเทศ (ประเทศอังกฤษ) ชื่อ GHC CAFE (UK) Co.,Ltd. เมื่อวันที่ 8 มีนาคมมีบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จากัด ถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียน 200,000 ปอนด์ อังกฤษ แบ่งออกเป็น 200,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1 ปอนด์ อังกฤษ ขณะที่วัตถุประสงค์ใน การจัดตั้งเพื่อพัฒนาและดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศอังกฤษ
นิปปอนแพ็คเพิ่มแบรนด์ใหม่
สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทนิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) NPP กล่าวว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร หลังจากบริษัท เพิ่งได้สิทธิบริหาร แบรนด์อาหาร A&W และแบรนด์ร้านอาหาร มิยาบิ กริลล์ โดยปัจจุบันมีสาขา A&W อยู่ทั้งหมด 25 สาขา จากที่ซื้อกิจการมา 21 สาขา และแบรนด์ร้านมิยาบิ อีก 6 สาขา โดยตั้งเป้าปีนี้จะเปิดาสาขา A&W ให้ได้มากกว่า 30 สาขา เฉลี่ยเปิดเดือนละ 1 สาขา ส่วนมิยาบิ จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพสาขาเดิมเป็นหลัก โดยในไตรมาสที่ 3 จะเปิดตัว มิยาบิ เบนโตะ ออกมาเพิ่มเติม
“บริษัทวางเป้าหมายจะเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารใหม่อีก โดยคาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีประมาณ 5-6 แบรนด์ จากปัจจุบัน 2 แบรนด์ และภายในเดือนนี้ จะเปิดตัวแบรนด์ใหม่ได้ 1 แบรนด์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท”
สำหรับกลยุทธ์หลักของบริษัทในการทำธุรกิจร้านอาหารนั้น จะยังคงใช้วิธีเข้าไปเทคโอเวอร์ หรือ M&Aเป็นหลัก และจะเข้าไปลงทุนธุรกิจอาหารให้ครบทุกเมนูที่มีตั้งแต่อาหารเช้า อาหารกลางวัน จนถึงอาหารเย็น ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มเข้ามาอีก 200-300 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังพร้อมจะนำสาขาร้านอาหารที่มีอยู่ขยายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบ CLMV ซึ่งล่าสุดจะนำแบรนด์ร้านอาหารมิยากิ ไปเปิดสาขาใหม่ที่กัมพูชา และพม่า อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจร้านอาหารในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท และวางเป้าในอนาคตทำได้ 1000 ล้านบาท
นอกจากนี้ NPP ยังได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท ไทยลักซ์ ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน หรือ Ready to eat ในสัดส่วน 45% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าถือหุ้นทั้งหมด 100% จาก บมจ.ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (TLUXE)ซึ่งบริษัทมีแผนจะใช้ไทยลักซ์ ฟู้ดฯ เป็นครัวกลางสำหรับทำอาหารในธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดของ NPP เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น โดยคาดว่าการเจรจาน่าจะสรุปได้ภายใน ไตรมาส 3-4 ของปีนี้
“เมื่อรวมรายได้จากธุรกิจหลักบรรจุภัณฑ์ และอาหาร ปีนี้เราจะมีรายได้ถึง 1000 ล้านบาท ซึ่งเราตั้งเป้าว่า 3 ปีข้างหน้าเราจะทำได้ 2000 ล้าน”
นอกจากนี้มีบริษัทจดทะเบียนบางแห่งได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจอาหาร ทั้งๆที่ธุรกิจหลักในปัจจุบันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับร้านอาหารเลย เช่น
บีทีเอสแตกไลน์ธุรกิจอาหาร
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ดำเนินธุรกิจ 4 ประเภทหลัก ประกอบด้วย (1) ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที) (2) ธุรกิจสื่อโฆษณา (3) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ (4) ธุรกิจบริการ
ล่าสุดรายงานตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทจัดตั้งบริษัทย่อย ชื่อ บริษัท เค เอ็ม เจ 2016 จำกัด ทุนเริ่มต้น 41 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 410,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 100 บาทต่อหุ้น เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหาร อาหาร และเครื่องดื่ม โดยBTS ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และอีก 49% ถือโดยนางสาวจุฑามาศ สุขุมวิทยา
ถัดมา บริษัทบีทีเอสแจ้งอีกว่า บริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ชื่อ บริษัท แมน ฟู๊ด โปรดักส์ จำกัด (Man Food Products Co., Ltd.) เพื่อประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอาหาร บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ทุนเริ่มต้น 100,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท
ทีซีซีเล็งเทคแฟรนไซส์อาหารสหรัฐ
ขณะที่ บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือTCC ดำเนินธุรกิจจัดซื้อและจัดจำหน่ายถ่านหินซึ่งมีแหล่งนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียให้กลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีโรงคัดแยกและคงคลังถ่านหินที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี โดยผู้บริหารยืนยันแผนการดำเนินธุรกิจว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการธุรกิจอาหารซึ่งเป็นแฟรนไชส์อาหารชื่อดังจากสหรัฐ และกำลังตรวจสอบกิจการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 2/59 นี้
นอกจากแฟนไชส์ดังกล่าวนี้แล้ว ยังมีเจรจาเพิ่มอีก 2-3 แบรนด์จะสรุปในปีนี้เช่นกัน ด้านธุรกิจบริหารหนี้ ปัจจุบันรอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดได้ในไตรมาส 2/59 นี้เช่นกันและจะซื้อหนี้ล็อตแรกไม่ใหญ่มาก ขณะที่งวดไตรมาส 1/59รรายงานกำไรสุทธิ 4.8 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.6 ล้านบาท