ปรับโฉม ปรับทัศนคติ แค่ลดอุณหภูมิการเมือง

ตั้งแต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำทีมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เข้ารัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งเป้าหมายแรก คือ การเน้นจัดระเบียบกลุ่มการเมืองที่เห็นแตกต่างกับรัฐบาล และมีแนวคิดขัดขวางการบริหารประเทศของคสช. แบ่งกลุ่มเรียกรายงานตัวออกเป็น 1.กลุ่มนักศึกษาและนักจัดกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 2.กลุ่มชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาปากท้อง 3.กลุ่มนักการเมืองและพรรคการเมือง และ 4.กลุ่มแกนนำทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
“บิ๊กตู่” ให้เหตุผลว่า“การเรียกบุคคลต่างๆ เข้ามารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ เป็นเพราะมีการกระทำผิดซ้ำซาก ในการพูดจาให้ร้ายและโจมตีรัฐบาลในทางที่เสียหาย และว่าไม่รู้จะทำอย่างไรกับบุคคลเหล่านี้ใช้ความรุนแรงไม่ได้ และยิ่งเรียกมาก็ยิ่งขยายความต่อ นำไปสู่การกดดันของต่างประเทศ”
จะเห็นว่าช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาในยุคคสช. นักการเมืองเจ้าประจำหลายคน โดยเฉพาะจากซีกของพรรคเพื่อไทยถูกเรียกเข้าค่ายทหารในพื้นที่กทม.และในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่ออบรมปรับทัศนคติอยู่บ่อยครั้ง
โดยเฉพาะ “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีตรมว.พลังงาน ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่ตลอด รองลงมาคือ “วัฒนา เมืองสุข” แกนนำพรรคเพื่อไทย และ “วรชัย เหมะ” อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกเรียกปรับทัศนคติไม่น้อยกว่าคนละ 4 ครั้ง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากการให้สัมภาษณ์ในประเด็นทางการเมือง การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทั้งสิ้น
จากนั้นเป็นต้นมา สถานการณ์การเมืองเริ่มเข้าสู่มุมอับ ปฏิกิริยาในการต่อต้านคสช. เริ่มปะทุขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มเห็นต่างทั้งในรูปแบบการออกมาตอบโต้รายวัน การจัดกิจกรรมเพื่อแสดงสัญญาลักษณ์ทางการเมืองต่างๆ เป็นเหตุให้คสช.ต้องลดแรงบีบด้วยการเปิดเวที “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)” เชิญกลุ่มการเมือง ตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เสริมสร้างความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ และคืนความสงบสุขให้แก่คนในชาติ แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรกลายเป็นการ “ดื้อยา” คสช.จึงมีแนวคิด เปิดหลักสูตรพิเศษปรับทัศนคตินักการเมือง 7 วัน เพื่อต้องการยุติปัญหาความขัดแย้งในสังคม เพื่อต้องการ “ตัดไฟ แต่ต้นลม” พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าหลักสูตรดังกล่าวไม่ใช่การปรับทัศนคติแต่เป็นการอบรม เนื่องจากในช่วงนี้มีความขัดแย้งสูง
“สาระการพูดคุยให้เวลาพูดคุย 3 วัน 7 วัน 15 วันหรือ 30 วัน อบรมเรื่องการเมือง ธรรมาภิบาล ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม เหมือนการเรียนหนังสือ ซึ่งในที่นี้นอกจากนักการเมืองจะมีโควตาให้สื่อมวลชนด้วย ทั้งนี้ ไม่คาดหวังว่าการอบรมจะทำให้นักการเมืองมีทัศนคติที่ถูกต้อง เพราะคงไม่สามารถปรับความคิดของนักการเมืองได้ เพราะสมองของคนเป็นแบบนี้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องฟังนักการเมืองพูดอีกหลายวัน”
ขณะที่ “ทีมโฆษกคสช.” ให้ความเห็นว่า วัตถุประสงค์ของหลักสูตรดังกล่าว 1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจสถานการณ์ตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน 2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจและรับรู้กติกาสังคมปัจจุบันที่เน้นสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 3. สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและไว้ใจต่อการปฏิบัติงานของรัฐบาลและ คสช. และ 4. ขอความร่วมมือไม่ให้ผู้เข้ารับการอบรมขัดขวาง และขอความร่วมมือให้ช่วยสนับสนุนงานของรัฐบาลและ คสช. โดยจะใช้เวลาทั้งสิ้น 7 วัน จำนวน 168 ชั่วโมง
ส่วนหลักเกณฑ์และคุณสมบัติ ของผู้ที่เหมาะสมเข้าอบรมเป็นผู้นำหรือแกนนำประชาชนที่กระทำผิดกฎหมายและฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จนทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและ คสช. เกิดความเสียหายรวมถึงมีพฤติกรรมสร้างความขัดแย้งระหว่างคนในสังคม ตลอดจนมีพฤติกรรมแปลกแยกไปจากสังคม โดยซึ่ง คสช. จะใช้อำนาจตามกฎหมายเท่าที่ทำได้และไม่มีอะไรเกินเลยแต่อย่างใด
ทว่าแม้จะพยายามปรับเปลี่ยนหลักสูตรผุดแนวคิดใหม่ๆ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะฝ่ายการเมืองยังคง “ท้าทาย” ประสานเสียงออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตลอด 2 ปี
เป็นเหตุให้ “บิ๊กหมู-พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก” ประกาศกร้าวว่า การพูดคุยกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเชิญมาสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจแทนค่ายทหาร เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ทุกฝ่ายและสร้างบรรยากาศการพูดคุยให้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่บรรดาผู้สื่อข่าวซักถามถึงสาเหตุการปรับเปลี่ยนแปลงสถานที่ปรับทัศคติครั้งนี้ จึงทำให้ “หัวหน้าคสช.”ต้องออกโรงเคลียร์ชัดๆ ว่า
“การปรับเปลี่ยนสถานที่ปรับทัศนคติจากค่ายทหาร เป็นสถานีตำรวจและศาลากลางจังหวัดไม่ใช่เปลี่ยนกลยุทธ์ แต่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ และต้องการให้สังคมรับผิดชอบร่วมกัน หากเกิดอะไรขึ้นและการเรียกตัวเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ ถ้าคุยวันแรกไม่ได้ก็คุยต่อ 2-3 วัน ไม่ได้ไปขังคุก ยืนยันว่าสิ่งที่ คสช.ทำในขณะนี้เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ลงโทษใคร จึงขอให้เข้าใจรัฐบาล และ คสช.ด้วย”
นอกจากนี้ ข้อสงสัยยังได้รับการยืนยันจาก “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม “ไม่มีแรงกดดันอะไรทั้งนั้น เป็นความคิดของนายกฯ ทั้งหมด จะเป็นที่ไหนก็ได้ที่เป็นสถานที่ราชการ แต่ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าต้องเป็นศาลากลางจังหวัดหรือที่ใด และผู้ที่จะมาพูดคุยปรับทัศนคติ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ขออย่ากังวล” ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง “พล.อ.ทวีป เนตรนิยม” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยืนยันด้วยว่า การเปลี่ยนสถานที่เพื่อให้เห็นว่าทุกอย่างโปร่งใส เป็นไปตามกระบวนการ
“เราเรียกมาคุยเพื่อให้เข้าใจทำไม คสช.หรือรัฐบาลต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเป็นสถานที่เปิดเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ต้องการพาไปในที่ที่ทุกคนไม่ได้รับรู้ตรวจสอบได้ จะได้สบายใจขึ้นและคงไม่ใช่ประเด็นที่หลายถูกต่างประเทศท้วงติง แต่เป็นเพราะสถานการณ์คลี่คลาย คสช.จึงคิดว่าอะไรผ่อนปรนได้ก็ผ่อนปรน เพื่อให้สถานการณ์กลับไปสู่ความเป็นปกติมากที่สุด”
หากพูดกันตรงๆ การเปลี่ยนสถานที่เรียกปรับทัศนคติเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ “รัฐบาลทหาร” ในเรื่องสิทธิมนุษยชนดู “เบาลง” หรือไม่ แล้วสุดท้ายแนวคิดของการปรับโฉมการเชิญคนมา “ปรับทัศนคติ” ก็ไม่ได้เป็นแค่แนวคิด แต่เริ่มมีการปฏิบัติจริงให้เห็น
ผู้ประเดิมปรับทัศนคติรูปแบบใหม่ รายแรกกลับกลายเป็นว่าไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็น “ศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ถูกผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 เชิญไปให้ถ้อยคำที่ “สำนักงานเขตหลักสี่” หลังวิจารณ์หน่วยงานรัฐอาจแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการบ้านมั่นคง แต่ท้ายที่สุด ก็เปลี่ยนสถานที่จากเขตหลักสี่ ไปเป็นร้านอาหารแห่งหนึ่งในบริเวณใกล้กัน เพราะมีมวลชนมาให้กำลังใจนายศรีสุวรรณแน่นสำนักงานเขต
ศรีสุวรรณบอกว่า “ได้รับหนังสือเชิญให้มางานรายงานตัวที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ในวันที่ 1 มิ.ย. แต่หลังจาก คสช. ประกาศให้มีการปรับทัศนคติรูปแบบใหม่ โดยให้รายงานตัวที่สถานที่ราชการและสถานีตำรวจ ตนจึงได้รับแจ้งเปลี่ยนสถานที่เป็นสำนักงานเขตหลักสี่ แต่ว่าระหว่างเดินทางมานั้น ทางตัวแทน คสช. ได้ขอเปลี่ยนไปคุยที่ร้านอาหารในบริเวณใกล้เคียงแทน เพราะทราบว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอพบให้กำลังใจ”
ซึ่งทีมข่าวการเมือง aec10news จับทิศทางการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันเล่นๆ แต่เพราะผู้มีอำนาจของคสช. ถูกกดดันจากสายตานานาชาติ โดยเฉพาะเวทีสิทธิมนุษยชนของไทย (ยูพีอาร์) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่กล่าวถึงการปิดกั้นสิทธิเสรีในการแสดงความคิดเห็นของประเทศไทยอย่างรุนแรง
แน่นอนว่าการ “แก้เกม” ไม่ได้ง่ายหรือจะให้ยกเลิกโดยทันที แต่จะค่อยๆ ผ่อนลงทีละเปราะ เพราะมีการประเมินว่าวิธีนี้ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองในช่วงนี้เป็นไปด้วยดี และเชื่อว่าบรรดานักการเมือง ถูกเรียกปรับทัศนคติน้อยลง แต่เอาเข้าจริงแล้ว คงไม่คิดถึงขั้นว่าจะยกเลิกการเรียกปรับทัศนคติโดยถาวรเป็นแน่
เพราะอย่าลืมว่ากระแสสัญญาณล้มโต๊ะประชามติร่างรัฐธรรมนูญกระพือมาก่อนหน้านี้อยู่ตลอด โดยรัฐบาลพยายามหาทางแก้แต่ยังไม่เป็นผลเท่าที่ควร แม้จะปรับเปลี่ยนสถานที่ปรับทัศนคติ แต่นักการเมืองบางคนยังคงถูกเจ้าหน้าที่ทหารค่อยติดตามและจับตาดูพฤติกรรมอยู่ตลอด
ดังนั้น ยังไม่ถือว่าการคลายกฎเหล็กนี้จะส่งผลดีเห็นผลทันควัน เป็นเพียงแค่การประคองสถานการณ์ของคสช.ให้อุณหภูมิทางการเมืองลดลง ก่อนถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญล่มไม่เป็นท่า.