กระดูกชิ้นใหญ่เศรษฐกิจดิจิตอลไทย
กระแสคลั่งเศรษฐกิจดิจิตอลผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หลังจากที่รัฐบาลลุงตู่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องเดินหน้าไป
การสั่งการให้ทุกกระทรวง กรม กอง และหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมการรับมือกับนโยบายนี้ สร้างความตื่นตัวและสับสนไปในคราวเดียวกัน เพราะความเข้าใจในบริษัทของเศรษฐกิจดิจิตอลที่ยังไม่ชัดเจน จะว่าไปก็คงจะเป็นเพราะยังไม่มีแผนแม่บทเศรษฐกิจดิจตอลที่เป็นรูปธรรม มีแต่กรอบแนวคิดกว้างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการตีความกันไปอย่างไรทิศทาง ส่งผลให้การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลมีลำดับขั้นตอนที่ไม่ชัดเจน การปรับตัวที่ค่อนข้างช้าของภาครัฐกำลังเป็นตัวสร้างความสับสนต่อการพัฒนาธุรกิจดิจิตอลในภาคเอกชน นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลดูเหมือนจะไม่ง่ายซะแล้ว เพราะวันนี้ดูเหมือนรัฐจะเป็นอุปสรรคของนโยบายนี้ซะเอง เรามาขยายความในประเด็นนี้กัน
ธุรกิจใหม่บนโลกใบเก่า
การเติบโตของธุรกิจดิจิตอลส่อเค้าให้เห็นพฤติกรรมการตลาดที่แตกต่างออกไป การยอมรับที่จะซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นมือถือมีให้เห็นกันอย่างแพร่หลาย การชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ที่เคยเป็นเรื่องที่กลัวอันดับต้นๆ วันนี้ทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking กันเป็นเรื่องปกติ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ยอมรับธุรกิจดิจิตอลมากขึ้นส่งผลให้เกิดธุรกิจบริการใหม่ๆ ที่ให้บริการได้อย่างไรขีดจำกัด ทำลายกฏเกณฑ์เก่าไปโดยสิ้นเชิง บางธุรกิจก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเก่าๆจนต้องปิดกิจการไปก็เริ่มมีให้เห็น หรือบางธุรกิจดิจิตอลก็ขัดแย้งกับกฏระเบียบของประเทศ จนส่งผลให้เป็นปมขัดแย้งกับธุรกิจเก่าๆ ที่ได้รับผลกระทบ หรือธุรกิจดิจิตอลก็คืบหน้าไปไม่ได้เพราะขัดต่อกฏระเบียบยุคเก่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ความขัดแย้งบนรอยต่อ
ประเทศไทยกำลังอยู่บนช่วงรอยต่อของความเปลี่ยนแปลงระหว่างระบบเศรษฐกิจเก่าและเศรษฐกิจใหม่บนโลกออนไลน์ ผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ก็ไม่ได้เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่สังคมออนไลน์ หรืออยากจะทำธุรกิจออนไลน์ที่ให้บริการได้ดีกว่า แต่ก็อาจจะไปเหยีบเท้าใครบางคนจนทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ดังเช่นกรณีของ Grab Bike ที่ถึงขั้นเป็นคดีความกันเพราะวิ่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างข้ามเขต และผู้ขับ Grab Bike ก็ไม่มีใบอนุญาตขับขีรถมอเตอร์ไซค์สาธารณะและรถมอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะอีกด้วย จริงแล้วเรื่องนี้กรมการขนส่งทางบกควรที่จะออกมาทบทวนกฏระเบียบเกี่ยกับการขนส่ง และแนะนำที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มมีบริการขนส่งสาธารณะออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่อยากทำมาหากินผ่านระบบขนส่งสาธารณะออนไลน์ ได้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามฏกหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจดิจิตอล ไม่ใช่ว่ารอให้เกิดเรื่องเสียก่อนแล้วจึงเข้ามาใช้กฏหมายจัดการกับคู่กรณี ซึ่งเท่าที่ผ่านมาเป็นการปฏิบัติการกฏหมายเดิมที่มีอยู่ซึ่งอาจจะมีบางส่วนขัดแย้งกับการส่งเสริมธุรกิจตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจอันเกิดจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เชื่อมโยงธุรกิจ ได้สร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ที่ออนไลน์ตลอดเวลา ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหึมาไหลเวียนอยู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลจนกลายเป็นเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของโลกในยุคปัจจุบัน เราต้องทำการบูรณาการและปรับเปลี่ยนธุรกิจที่มีอยู่ให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจยุคใหม่ จึงจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลประสบความสำเร็จ
กฏหมายและระเบียบที่ล้าสมัย
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม มีกฏหมายและระเบียบต่างๆ เข้ามามีส่วนในการกำกับดูแลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น แต่เมื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกฏหมายและระเบียบก็มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมันอาจจะไม่ใช้เรื่องที่เกิดขึ้นจากคนไทย และธุรกิจดิจิตอลอาจจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ใดก็ได้ในโลกนี้และมีระบบการเงินออนไลน์ที่ทะลุกำแพงเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย บริการออนไลน์ที่ถูกต้องตามกฏหมายรัฐจะต้องดำเนินการให้เข้าสู่ระบบ โดยบังคับให้จดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทยถึงจะดำเนินการทางธุรกิจได้ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เขาเข้ามาโฆษณาทำธุรกิจไปเป็นปีๆ ไม่ดูแล รอจนเกิดเรื่องขึ้นก่อนแล้วค่อยเอากฏหมายไปดำเนินการด้วยกฏหมายและระเบียบที่ล้าสมัย บางทีธุรกิจดิจิตอลยุคใหม่บางประเภทอาจจะไม่มีนิยามไว้ในกฏหมายเสียด้วย เรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะคนที่จะทำธุรกิจดิจิตอล บางทีเป็นเรื่องที่ดีมากให้ประโยชน์กับสังคมในภาพรวม และดันไปขัดแย้งกับธุรกิจเดิมที่อาจจะเอาเปรียบผู้บริโภคแต่รัฐก็ได้ออกกฏหมายรองรับไปแล้ว และเมื่อมีธุรกิจดิจิตอลใหม่ที่ทำได้ดีกว่า ก็น่าที่จะได้รับการส่งเสริมให้เติบโตได้ แต่กลับเป็นธุรกิจผิดกฏหมายไป ที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่ารัฐจะต้องทบทวนบทบาทของตนเองและปรับปรุงกฏหมายและระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและธุรกิจดิจิตอล จึงจะขับเคลื่อนนโยบายไปได้
สังคมของคนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่มีสังคมออนไลน์เป็นบริบทสำคัญของการดำเนินชีวิตในทุกๆด้าน ข้อมูลข่าวสารถูกส่งจากที่ต่างๆ ถึงตัวทุกคนได้อย่างรวดเร็ว การรับรู้ การตัดสินใจ และการดำเนินชีวิตจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว คนยุคนี้มีความรู้และฉลาดขึ้นมาก ดังนั้นการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสถาบันการศึกษา แต่เกิดขึ้นจากรอบตัวจากสื่อออนไลน์ที่ติดตัวไปทุกหนแห่งและการลงมือทำจริง การเรียนรู้เพื่อเป็นลูกจ้างบริษัทจึงอยู่ในความคิดของคนรุ่นใหม่น้อยลง แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง หรือสร้างธุรกิจของตัวเอง ความต้องการเป็นผู้ประกอบการจะอยู่ในช่วงอายุที่น้อยลง ทำให้สังคมยุคนี้มีคนเก่งๆ ที่ไม่อยากเป็นลูกจ้างบริษัท หรือถ้าจะเป็นลูกจ้างก็ต้องได้ค่าจ้างที่สูงเหมาะสมกับความสามารถ การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมเพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สามารถสร้างธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิตอลเติบโตขึ้น คนไทยรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 30 ปี เชื่อในสังคมออนไลน์ และธุรกิจดิจิตอล 100% คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะต้องไม่ล้าหลัง มองไปข้างหน้าให้ไกลขึ้น และอย่ามองข้ามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อันสืบเนื่องจากเทคโนโลยีและวัฒนธรรมจากภายนอก
การแข่งขันธุรกิจจากภายนอก
วันนี้เราเริ่มมองเห็นการเข้ามาของธุรกิจออนไลน์จากต่างประเทศ ที่เข้ามาแข่งขันกับธุรกิจไทย Lazada.com เป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านจริง มีแต่เว็บไซต์และแอปพลิเคชันก็สร้างการแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกไทยได้อย่างน่ากลัวทีเดียว การทำธุรกิจด้วยแพลทฟอร์มซอฟต์แวร์ออนไลน์ มีความคล่องตัวสูงและมีต้นทุนต่ำ สามารถขยายกิจการไปได้ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว บริการทางการเงินออนไลน์ก็เช่นกัน PayPal เป็นอีกหนึ่งในบริการด้านการเงินออนไลน์ที่ต่างประเทศให้การยอมรับ วันนี้ก็ได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฏหมายเต็มรูปแบบ เป็นระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ คนไทยถ้าต้องการทำการค้าปลีกออนไลน์กับชาวต่างชาติ ก็จะใช้บริการ PayPal เป็นระบบรับชำระเงิน นอกจากนั้นยังมี AliPay ผู้ให้บริการการเงินออนไลน์จากประเทศจีนในเครือธุรกิจ Alibaba ได้เริ่มเข้ามารับชำระเงินและโอนเงินจากคนจีนในประเทศไทยโดยตรงผ่านร้านสะดวกซื้อ 7-11 เรียกว่าเหยีบจมูกธนาคารไทยกันเลยทีเดียว การทำธุรกิจดิจิตอลคือความไร้พรมแดนอย่างแท้จริง เราต้องคิดให้ไกลจะมองแค่ปลายเท้าตัวเองไม่ได้ เราต้องส่งเสิรมการสร้างแพลทฟอร์มธุรกิจดิจิตอลของไทยให้ได้ เพื่อที่จะนำธุรกิจดิจิตอลไทยรุกเข้าไปแข่งขันในประเทศอื่นๆ เช่นกัน ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลสนามการแข่งขันทางธุรกิจอยู่ในคลาวด์ (Cloud) ที่ลูกค้าสามารถออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ ดั้งนั้นลูกค้าจะให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาเรามีธุรกิจดิจิตอลที่แข่งขันกับต่างประเทศได้ค่อนข้างน้อย ที่ผ่านมาก็เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเราไม่เอื้ออำนวย และนโยบายการพัฒนาก็ไม่ชัดเจน แต่วันนี้เรากำลังขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างจริงจัง ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี
Startup Thailand พลังขับเคลื่อน
ระยะนี้มีการกล่าวถึงเรื่องของ Startup ค่อนข้างมากซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะธุรกิจดิจิตอลต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่เป็นผู้สร้าง เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลได้ออกมาให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน ปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่มีกำลังใจที่จะสร้างธุรกิจได้เดินหน้าต่อไปอย่างมีอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้ออำนวยต่อการสร้างธุรกิจ Startup ในเรื่องของ แหล่งเงินทุน แหล่งความรู้และนวัตกรรม สร้างตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากงาน Startup Thailand 2016 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงธุรกิจ Startup มีคนรุ่นใหม่ที่ทำกันอยู่มากมาย แม้ในช่วงที่ผ่านมากจะไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่นักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ยังทำกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนรุ่นใหม่เข้าสู่ธุรกิจเร็วขึ้น และธุรกิจส่วนใหญ่ต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจ รัฐบาลจะต้องบูรณาการหน่วยงานส่งเสริมที่เกี่ยวข้องให้ทำงานเป็น Startup One-Stop-Service ที่ต้องมีวิสัยทัศน์ในยุคใหม่ด้วย จึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด การท้าทายของรัฐบาลที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาปรับรูปแบบการทำงานของหน่วยงานรัฐให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น และต้องทำให้เกิดความราบรื่นในทุกด้าน กฏหมายและระเบียบต่างๆ ที่ออกมากำกับดูแลเฉพาะทางก็ต้องสอดคล้องกับธุรกิจดิจิตอล ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ขึ้นอยู่ว่าธุรกิจดิจิตอลใหม่ที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับงานและบริการด้านใด