หวั่นกำไรบจ.ไตรมาส 2 นิ่งต้นทุน 4 จีพุ่ง

นักวิเคราะห์ประเมินกำไรบจ.ในตลาดหุ้นไทยไตรมาส2 ทรงตัวหวั่นต้นทุนพุ่ง 4ฉุดกลุ่มสื่อสารรายใหญ่ ขณะที่ บจ.แจงกำไรไตรมาสแรกปีนี้เติบโตเพียง 0.96% ตลาดหลักทรัพย์ระบุเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว
ภาพรวมการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหุ้นไทยไตรมาสแรกของปีนี้สิ้นสุดลงกลางเดือนพ.ค.โดยบจ. รายงาน ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2559 มียอดขายรวม 2,383,912 ล้านบาท ลดลง 6.17% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ผลจากอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น ทำให้ บจ. มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 233,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.96% จากงวดเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 28.43% จากไตรมาส 4/2558
สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 514 บริษัท หรือคิดเป็น 92.28% จากทั้งหมด 557 บริษัท โดย บจ.มีกำไรสุทธิจำนวน 423 บริษัท คิดเป็น 75.94% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด มียอดขายรวมเท่ากับ 2,383,912 ล้านบาท ลดลง 6.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลของธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์มียอดขายลดลงตามทิศทางราคาน้ำมัน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจในภาคการบริการและอุปโภคบริโภค คือ หมวดพัฒนาสังหาริมทรัพย์ หมวดเหล็ก หมวดขนส่ง หมวดพาณิชย์ เป็นต้น
ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2558 บจ. มียอดขายลดลง 7.42% แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 28.43% และเมื่อพิจารณาฐานะของกิจการพบว่า โครงสร้างเงินทุนของ บจ. ยังคงแข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (debt-to-equity ratio) (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ 1.27 เท่า เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2558 ที่ 1.24 เท่า และมีอัตราส่วนภาระหนี้สินต่อทุน (Interest bearing debt-to-equity ratio) (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ 0.69 เท่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ณ สิ้นปี 2558
ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่รวมธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และปิโตรเคมีภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่องจากปี 2558 ผลการดำเนินงานโดยรวมพบว่า บจ.จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 4.03% และมีกำไรสุทธิทรงตัวจากปีก่อนหน้า
“ในไตรมาส 1/2559 ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง มีส่วนทำให้ บจ. มีรายได้ลดลงจากปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากยอดขายในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี ขณะเดียวกันมีส่วนช่วยให้ บจ. มีต้นทุนการผลิตลดลงเช่นกัน จึงทำให้ในภาพรวม บจ. มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นเป็น 24.55% เทียบกับ 21.74% ในช่วงเดียวกันในปีก่อน”
ผลการดำเนินงานของ บจ. สะท้อนให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของ บจ. ในเรื่องแรก คือ การมีอัตรากำไรดีขึ้น ซึ่งพบถึง 21 หมวดธุรกิจ และเรื่องที่สองคือ การฟื้นตัวด้านยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น และการมีกำไรสุทธิปรับสูงขึ้น ซึ่งพบมีถึง 10 หมวดธุรกิจ และส่วนใหญ่อยู่ในหมวดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการบริการ และการอุปโภคบริโภค ได้แก่ หมวดขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้าง เหล็ก พาณิชย์ บรรจุภัณฑ์ สินค้าแฟชั่น ของใช้ในครัวเรือนสำนักงาน และบริการเฉพาะกิจ
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส1 ปี 2559 ของ บจ.ใน ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปรับลดลง โดย บจ. mai มียอดขาย 31,036 ล้านบาท ลดลง 0.14% และมีกำไรสุทธิ 1,782 ล้านบาท ลดลง 19.47% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเช่นกันจาก 25.48% เป็น 24.24%
นักวิเคราะห์ บล.โนมูระ พัฒนสิน ให้ความเห็นว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยหนุนให้ผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาดีกว่าคาด ได้แก่ ค้าปลีก พลังงาน ปิโตรเคมี อาหาร และท่องเที่ยว ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมที่รายงานผลประกอบการต่ำกว่าคาด ได้แก่ ธุรกิจสื่อ เดินเรือ และเทคโนโลยีการสื่อสาร
“แนวโน้มกำไรที่สูงกว่าตลาดคาดในไตรมาสแรกนี้ อาจส่งผลให้แนวโน้มการปรับลดกำไรของบริษัทจดทะเบียนตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา สิ้นสุดลงในไตรมาสนี้ และเป็นภาพบวกต่อดัชนีเซ็ทในช่วงถัดไป แต่โดยภาพรวมของทั้งปีนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณกำไรบริษัทจดทะเบียนไว้ที่ 93.25 บาทต่อหุ้น เทียบกับตลาดคาดที่ 93.6 บาทต่อหุ้น โดยคิดเป็นเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,515 จุด”
คาดไตรมาส2กำไรทรงตัว
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้ โดยรวมน่าจะทรงตัวจากไตรมาส 1 แม้ว่าจะมีสัญญานการฟื้นตัวของกลุ่มพลังงาน และการบริโภคในประเทศที่ดีขึ้น แต่กลุ่มสื่อยังถูกกดันจากเม็ดเงินโฆษณา และยังมีความไม่แน่นอนจากกลุ่มสื่อสาร จากความเสี่ยงของการประมูลคลื่นความถี่
คงเป้ากำไรบจ.ปีนี้ 7.4แสนล้าน
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากสำรวจผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 1/2559 ที่บริษัททยอยประกาศออกมาพบว่า ผลประกอบการส่วนใหญ่เป็นไปตามที่คาดไว้ แม้จะมีบางบริษัทที่ผลประกอบการดีกว่าคาดแต่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)ไม่ใหญ่มากนักจึงไม่มีผลต่อการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2559 ที่ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่าทั้งปีบริษัทจดทะเบียนไทยจะมีกำไรประมาณ 7.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (อีพีเอส) ที่ 92-93 บาทต่อหุ้น หากคิดบนราคาปิดต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นเฉลี่ย (พีอี) ที่ 15 เท่า จะได้ดัชนีสิ้นปีที่ประมาณ 1,385-1,400 จุด
ในไตรมาส1กลุ่มที่กำไรดีกว่าคาดคือกลุ่มสายการบิน เพราะได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักในการประกอบธุรกิจ ส่วนกลุ่มที่แย่กว่าคาดคือกลุ่มสื่อที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาด ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ผลประกอบการส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ฝ่ายวิเคราะห์คาด”
หวั่นต้นทุน 4จีกดดันต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สำหรับไตรมาสที่ 2ปี2559 ต้องติดตามการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะเปิดให้ประมูลในวันที่ 27 พ.ค. 2559 นี้ ว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าประมูลหากการแข่งขันรุนแรงและเคาะราคาสูงมีโอกาสที่ฝ่ายวิเคราะห์จะปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนลง นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 2/2559 คาดว่ากลุ่มพลังงานจะมีผลประกอบการที่แย่กว่าไตรมาส 1/2559 โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่น
เอเซียพลัสลดเป้ากำไรกลุ่มแบงก์
ขณะที่ บล.เอเซียพลัส ระบุว่าตามราคาตลาดขนาดใหญ่ คือ ธนาคารพาณิชย์ ที่นักวิเคราะห์ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มลงไปแล้ว 2 รอบ รวมกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
กลุ่มเทคโนโลยีการสื่อสาร แม้ในปีนี้จะยังคงประมาณการกำไร แต่ก็ปรับประมาณการปีหน้าลง สะท้อนต้นทุนใบอนุญาต 4จี ที่จะรับรู้เต็มปี ล่าสุดกลุ่มสื่อ-บันเทิง มีแนวโน้มต้องปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง ตรงข้ามกับกลุ่มที่น่ามีแนวโน้มปรับประมาณการกำไรขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ กลุ่มขนส่งทางอากาศ น่าจะปรับขึ้นราว 1 พันล้านบาท สะท้อนผลการดำเนินงานธุรกิจสายการบินที่ออกมาดีกว่าคาด
ด้านกลุ่มที่เป็นความหวังอย่างพลังงาน ยังคงต้องติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในไตรมาส 2 นี้ อยู่ที่ 40.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งหากจะให้เป็นไปตามสมมติฐานนักวิเคราะห์ที่ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องขึ้นยืนอยู่ที่ 56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ฝ่ายวิจัยจึงยังคงประมาณการกลุ่มพลังงาน
โดยภาพรวมฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรตลาดปีนี้จะอยู่ที่ 8.4 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น ที่ 88.66 บาท กำหนดดัชนีเป้าหมาย อิงพีอีที่ 16.23 เท่า ได้ที่ 1,438 จุด