หุ่นยนต์ : แรงงานคุณภาพแห่งทศวรรษหน้า
หุ่นยนต์ : แรงงานคุณภาพแห่งทศวรรษหน้า
ไม่น่าเชื่อตัวเลขประชากรวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้นทุกปีและมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำที่ดูเหมือนดีขึ้นนั้น
จะทำให้โลกเราต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานขึ้นมาได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วต้นตอที่แท้จริงของปัญหานี้ อาจไม่ได้เกิดจากจำนวนแรงงานที่ไม่เพียงพอเท่านั้น แต่เป็นเรื่องคุณภาพของแรงงานด้วย
เมื่อคนเรามีการศึกษาสูงขึ้น ก็เลือกงานกันมากขึ้น จนงานประเภทจับกังเริ่มขาดแคลน อีกตัวแปรที่สำคัญไม่น้อยก็คือ อัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำที่มีการขยับปรับฐานขึ้นเป็นระยะๆ จนผู้ประกอบการต้องก่ายหน้าผากไปตามๆ กัน และพยายามหาแนวทางใหม่ๆ ในการลดต้นทุนการผลิต ทางออกหนึ่งที่พอจะเข้ามาช่วยผ่อนปรนภาวะขาดแคลนแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้ได้ คือการนำเอาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเข้ามาช่วยในการผลิต ซึ่งต้นทุนอาจค่อนข้างสูงในเวลานี้ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าต้นทุนจะถูกลง พร้อมกับประสิทธิภาพที่ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเป็นที่คาดการณ์กันว่าเมื่อถึงเวลานั้น หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะเข้ามาแทนที่ทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของกระบวนการผลิตเลยทีเดียว
ต้องขอทำความกันตรงนี้ว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่จะว่ากันต่อไปนี้ ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวคล้ายมนุษย์เหล็กแต่ประการใดทั้งสิ้น หากแต่มีลักษณะเป็นแขนจักรกลขนาดใหญ่ที่ถูกป้อนโปรแกรมให้ทำงานแทนมนุษย์ในขั้นตอนที่ต้องการความแม่นยำสูง และสามารถทำซ้ำๆ ได้โดยปราศจากความผิดพลาดหรือเกิดอันตราย หุ่นยนต์บางชนิดอาจมาในรูปแบบของรถขนถ่ายสินค้าที่ปราศจากคนขับ เมื่อถูกตั้งโปรแกรมไว้อย่างไร ก็จะทำงานที่รับมอบหมายจนลุล่วงเรียบร้อยโดยไม่มีอู้งานหรือเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม งานบางชนิดที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่าหุ่นยนต์จะสามารถทำได้ อย่างงานตัดเย็บ ตอนนี้ได้มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อ Adidas ประกาศแผนเปิดโรงงานผลิตรองเท้าด้วยหุ่นยนต์ในเยอรมันให้ได้ภายในปีนี้ กระบวนการพัฒนาหุ่นยนต์ก็คล้ายๆ กับการพัฒนาชิปประมวลผลในคอมพิวเตอร์ ถ้าได้รับการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ที่มีการตอบสนองได้ไวขึ้นชาญฉลาดขึ้น ก็สามารถทำงานได้อย่างหลากหลายประเภทยิ่งขึ้น
ปัจจุบันตามนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในบ้านเรา มีการนำแขนจักรกลมาช่วยในการผลิตได้นานนับกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนมากพบได้โรงงานประกอบรถยนต์ยี่ห้อดังๆ โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก และโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากการจัดอันดับประเทศที่หันมาใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมช่วยในการผลิตนั้น ไทยเราเป็นที่ 1 ของกลุ่ม AEC เลย แต่ถ้าวัดกันในระดับโลกแล้ว เราน่าจะติดอันดับที่ 8 จากสถิติเมื่อปี 2014 เราเคยนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 3,700 ตัว ดูเหมือนมาก แต่จริงๆ แล้วคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 2% เท่านั้นเอง (จากยอดขายทั่วโลกในปีนั้น)
ขณะที่ บอร์ดบีโอไอ หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเกี่ยวกับอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์อย่างเต็มที่ โดยอนุญาตให้ตั้งกิจการได้ทุกพื้นที่ไม่มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย พร้อมส่งเสริมการลงทุนผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ผู้พัฒนาสมองกลซอฟต์แวร์ ผู้ผลิตหุ่นยนต์ ผู้วางระบบออโตเมชั่น ไปจนถึงผู้ให้บริการซ่อมบำรุง โดยให้สิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี
ส่งเสริมกันขนาดนี้ภาพอนาคตของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในเมืองไทยดูจะสดใสไม่น้อย แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าจะพัฒนาหรือเพิ่มปริมาณการใช้งานออกไปในรูปแบบใดนั้น เราอาจพอดูภาพตัวอย่างได้จากกระแสปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ณ เวลานี้
มีโรงงานผลิตซิ้งค์ล้างจานแห่งหนึ่งในเมืองกวางตุ้ง แหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่งทางภาคใต้ของจีนในปัจจุบัน (ปีที่แล้วทำยอดส่งออกสูงถึง 615 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของยอดส่งออกทั้งประเทศเลยทีเดียว) สภาพโดยทั่วไปของโรงงานแห่งนี้ ก็ไม่ได้ดูไฮเทคเหมือนอย่างในโลกอนาคตแม้แต่น้อย ตามพื้นเต็มไปด้วยฝุ่นผงฝาผนังก็มอมแมม แต่ที่น่าสนใจมากๆ เลย ก็คือโรงงานแห่งนี้มีการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 9 ตัว มาช่วยผลิตซิ้งค์เพื่อส่งออกไปยังภาคพื้นยุโรปและสหรัฐฯ โดยเริ่มติดตั้งตัวแรกตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หลังไม่อาจทนแบกรับภาระจากนโยบายขยับขึ้นค่าแรงเป็นเท่าตัว
ปัจจุบันหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เจ้าของโรงงานทุ่มทุนสร้างไปแล้วกว่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราวหนึ่งร้อยล้านบาท) สามารถผลิตซิ้งค์ส่งออกได้วันละประมาณ 1,500 ชิ้น เทียบเท่ากับการใช้แรงงานคนแบบเต็มเวลามากถึง 140 คน (ค่าแรงตกเดือนละ 4,000 หยวน/คน หรือราว 21,750 บาท/คน) แถมยังผลิตชิ้นงานแต่ละขั้นตอนอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง นับตั้งแต่เริ่มจับแผ่นโลหะมาขึ้นรูป ไปจนถึงขั้นตอนตรวจคุณภาพชิ้นงานด้วยกล้องคอมพิวเตอร์ในขั้นตอนสุดท้ายเลยทีเดียว
นี่คือภาพตัวอย่างของการนำเอาหุ่นยนต์มาช่วยในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมของจีน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงอนาคตที่กำลังคืบเข้าเข้ามาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนภายในเวลาไม่นานนับจากนี้ เมื่อราคาหุ่นยนต์เริ่มถูกลงเรื่อยๆ จนคุ้มค่าแก่การลงทุนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง หุ่นยนต์ยี่ห้อ Baxter (www.rethinkrobotics.com/baxter)รุ่นที่มีลักษณะเป็นแขนจักรกลทำงานแบบง่ายๆ ไว้ ยกของเล็กๆ หรือหีบห่อสินค้านั้น เวลานี้มีราคาสูงถึงตัวละราว $25,000 (ร่วมเก้าแสนบาท) เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมระบบปฏิบัติการทั้งหมดเข้าไปด้วย ตัวเลขอาจสูงถึงราว $133,000 แต่นี่ก็เป็นราคาที่ถูกลงกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนแล้วถึง 14%
จากการวิเคราะห์ของ บริษัทที่ปรึกษาบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) คาดการณ์กันว่า ราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมพร้อมซอฟท์แวร์สั่งการจะมีราคาถูกลงอีก 20% ในทศวรรษหน้า ขณะที่ประสิทธิภาพจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นโดยเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งส่งผลให้มีการพึ่งพาหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมขยับจาก 8 เปอร์เซ็นต์ ไปเป็น 26% และเมื่อถึงเวลานั้น จีน สหรัฐฯ เยอรมัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คือ 5 ชาติที่จะครอบครองหุ่นยนต์อุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหุ่นยนต์ในโรงงานทั่วโลกเลยทีเดียว
ปัจจุบันจีนคือ ชาติที่กำลังนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมการผลิตของตนเองอย่างขนานใหญ่ เพราะนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาจีนสั่งซื้อหุ่นยนต์เข้าประเทศเป็นในแต่ละปีเป็นจำนวนมากกว่าการสั่งซื้อของชาติอุตสาหกรรมไฮเทค อย่าง เยอรมัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จากฐานข้อมูลของ IFR (International Federation of Robotics) เผยว่า เมื่อปีที่แล้วจีนนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากถึง 66,000 ตัวจากยอดขายรวม 240,000 ตัวทั่วโลก เป็นที่คาดกันว่า ภายในปีนี้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในจีนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนแซงหน้าญี่ปุ่นได้ในที่สุด
วันนี้จีนมีหุ่นยนต์ใช้งานในอัตราส่วนประมาณ 36 ตัวต่อแรงงานการผลิต 10,000 คน ขณะที่เยอรมัน ประเทศผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลกมีตัวเลขอยู่ที่ 292, ญี่ปุ่น 314 และเกาหลีใต้ 478 เครื่อง/แรงงานผลิต 10,000 คน
ความพยายามยกเครื่องอุตสาหกรรมการผลิตอย่างมุ่งมั่นของจีน นอกจากช่วยประหยัดต้นทุนในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการหาทางออกให้กับปัญหาการขาดแคลงแรงงานที่จีนกำลังจะเผชิญในทศวรรษต่อๆ ไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสั่งสมมาจากนโยบายลูกคนเดียวที่มีผลใช้บังคับมานานกว่า 30 ปี แม้ว่าปัจจุบันจะมีการยกเลิกและอนุญาตให้มีลูกคนที่สองได้แล้ว แต่ก็เป็นที่คาดการณ์กันว่า ประชากรในวัยทำงานของจีนจะลดลงจาก 1 พันล้านคนในปีที่แล้ว เหลือ 960 ล้านคนในปี 2030 และอาจเหลือ 800 ล้านคนเมื่อถึงปี 2050
เมืองจีนในเวลานี้กำลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ภาพแรงงานเรือนพันเรือนหมื่นที่กำลังง่วนทำงานในโรงทอผ้าและโรงงานประกอบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มถูกแทนที่ด้วยภาพแขนจักรกลสมัยใหม่ กระแสความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดก็เป็นไปได้ เพราะว่าจีนไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้นำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่เท่านั้น แต่ยังพยายามคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์ Made in China ของตนไปด้วย
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว บริษัท Ningbo Techmation (www.techmation.com.cn)ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับโรงงานผลิตพลาสติกรายใหญ่ในนครเซี่ยงไฮ้ ได้แตกบริษัทย่อยที่มีชื่อว่า E-Deodar ขึ้นมาเพื่อผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่มีราคาถูกกว่าของ ABB ของสวิส-สวีเดน, Kuka ของเยอรมัน หรือ Kawasaki ของญี่ปุ่น ราว 20-30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
โรงงานอี–ดีโอดาร์ นั้นตั้งอยู่ในเมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง แหล่งผลิตแขนจักรกลสีเขียวที่ออกแบบสำหรับใช้ในโรงงานผลิตพลาสติกโดยเฉพาะ โดยตั้งราคาขายไว้ระหว่าง $14,000 ถึง $18,000 โดยทางโรงงานตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตให้ได้ 350 ตัวภายในปีนี้ และจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 3,000 ตัวต่อปี ในอีก 3 ปีข้างหน้า
ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่สดใสและอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มอิ่มตัว เพื่อความอยู่รอดให้ได้จีนจำเป็นต้องปฏิวัติระบบการผลิตของตนเองอย่างเร่งด่วน โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย และทุกครั้งที่รัฐบาลออกนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการชาติไหนๆ รวมทั้งไทยเราเอง ต้องทบทวนเรื่องยกเครื่องการผลิตในทำนองเดียวกันนี้ และนั่นก็มักนำไปสู่คำถามด้วยความลังเลใจตามมาว่า เจ้าหุ่นยนต์หรือแขนจักรกลมันจะทำงานได้ดีกว่ามนุษย์จริงหรือ?
แต่ถ้าใครใจกล้ายอมลงทุนซื้อมาลองใช้งานดู ก็คงจะมองเห็นอนาคตว่า หลายสิ่งที่มนุษย์คิดว่าทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์นั้น นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที