”ฟู้ดเดลิเวอรี่”ธนาคารบุกเพิ่มบทบาทต่อยอดธุรกิจ
“อาหาร”นับเป็น 1ใน 4ปัจจัยหลักของมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิคธุรกิจการส่งอาหารมีความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปีนี้มูลค่าธุรกิจอาหารจะลดลงเหลือเพียง 3.85-3.89 แสนล้านบาท หรือหดตัว 9.7-10.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสวนทางกับอีกหลายธุรกิจ
ด้วยความสำคัญและถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย จากการที่มีผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารหลายแห่งพยายามเข้ามามีบทบาทในธุรกิจอาหาร ผ่านการทำแพลตฟอร์ม”ฟู้ดเดลิเวอรี่” โดยปัจจุบันธนาคารยักษ์ใหญ่ 2แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ต่างก็ได้มีการพัฒนาและเปิดตัวแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการกับลูกค้า
“อาทิตย์ นันทวิทยา”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าธนาคารพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ ภายใต้ชื่อ “Robinhood” (โรบินฮู้ด) แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย โดยไม่เก็บค่าจีพี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเผชิญเมื่อร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งค่าจีพีนับเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบัน
“ธนาคารหวังว่า Robinhood จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป คาดว่าจะเปิดตัวได้ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีร้านอาหารร่วมในแพลตฟอร์มประมาณ 40,000-50,000 รายในสิ้นปีนี้”
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในเครือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า KBTG ได้ออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์ม Eatable สำหรับร้านอาหารและลูกค้าเพื่อบริการสั่งอาหารออนไลน์รูปแบบใหม่ครบวงจร ทั้งสำหรับลูกค้าที่ทานที่ร้านและให้จัดส่ง (Dine-in, Dine-Out & Delivery)
สำหรับลูกค้าดิลิเวอรี่สามารถกดลิงก์ที่ร้านอาหารลงไว้ในทุกๆช่องทาง แล้วสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ พร้อมตัวเลือกในการส่งดิลิเวอรี่ที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะให้คนของร้านไปส่งเองหรือให้ร้านอาหารเป็นผู้เลือกผู้ให้บริการจัดส่งเจ้าที่คุ้มค่าที่สุด มาพร้อมกับ ระบบที่ช่วยแนะนำส่วนลดค่าจัดส่งที่เหมาะสม สำหรับให้ร้านอาหารใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อมอบส่วนลดค่าบริการจัดส่งแก่ลูกค้าที่สั่งอาหารโดยตรงกับทางร้าน
ด้านผู้ประกอบการสามารถจัดการหน้าร้านออนไลน์ เพื่อโปรโมทร้าน โดยการสร้าง แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนข้อมูลเมนูอาหาร ราคา รายละเอียดข้อมูลของร้านได้เองทันทีอย่างอิสระ โดยไม่ต้องรออนุมัติ มีการตั้งการแจ้งเตือนผ่านระบบออนไลน์ และอัพเดตสถานะออเดอร์ให้ลูกค้าทราบแบบเรียลไทม์
Eatable เป็นแพลตฟอร์มด้านการสั่งอาหารที่สมบูรณ์ที่สุด ใช้งานง่ายทั้งสำหรับลูกค้าและผู้ประกอบการร้านอาหาร ไม่ต้องโหลดแอปฯหรือหาซื้ออุปกรณ์ใหม่ให้วุ่นวาย นอกจากนี้ Eatable จะสามารถเชื่อมเข้าสู่บริการรับชำระเงินแบบออนไลน์ได้ในเดือน ก.ย.นี้ ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งครบจ่ายจบได้ในช่องทางเดียว ซึ่งจะเป็นทางออกในการช่วยแก้ไขปัญหาและความยุ่งยากที่ต้องเผชิญในธุรกิจร้านอาหารได้เป็นอย่างดี ต่อยอดนโยบายของธนาคารกสิกรไทยในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถรอดพ้นจากพิษวิกฤติโควิด-19 ไปได้ด้วยกัน
ซึ่งกระบวนการต่างๆเหล่านี้จะไม่มีการจัดเก็บค่าส่วนแบ่งและคิดค่าธรรมเนียมใดๆ รวมทั้งจะมีการเปิดตัวมินิโปรแกรมไคไท่เตี่ยนไช่ (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชท(WeChat) ในช่วงปลายปีนี้ด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ Eatable – Public Beta ได้ที่ https://eatable.kasikornbank.com
นอกจากนี้บริษัทจะขยายการให้บริการไปสู่กลุ่มธุรกิจร้านขายของชำและร้านของชำร่วยในอนาคต เพื่อสร้างความสะดวกให้กับเจ้าของร้านค้าเพื่อสามารถขายสินค้าให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
การลงมารุกตลาด”ฟู้ดเดลิเวอรี่”ของธนาคารพาณิชย์ นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องการไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ประกอบการร้านอาหาร เพราะจะส่งผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจนี้ในอนาคต