ปิดฉาก 20 ปี “โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้” ราช กรุ๊ป

ปิดฉาก 20 ปี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศหยุดการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า หลังสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครบอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2563
นับเป็นระยะเวลา 20 ปีที่โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ รับภารกิจผลิตไฟฟ้าเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ มาตั้งแต่ปี 2543 ด้วยกำลังการผลิตตามสัญญา 700 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติจากประเทศ เมียนมาเป็นเชื้อเพลิง
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต่อจากนี้บริษัทฯ จะดำเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและรื้อถอนโรงไฟฟ้า โดยเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะสำรองไว้เป็นอะไหล่ของโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทฯ ส่วนพื้นที่ของโรงไฟฟ้าขนาด 250 ไร่ ส่วนหนึ่งจะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง กำลังการผลิตตามสัญญารวม 1,400 เมกะวัตต์

นายกิจจา เล่าต่อว่า โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ เป็นโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP ที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. รอบปี 2537 เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้ กฟผ. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อวันที่1 กรกฎาคม 2543 และบริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการแห่งนี้เมื่อปี 2546
ต่อมาในปี 2557 ได้เข้าถือหุ้นทั้งหมดในนามบริษัทย่อย คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ได้ยึดถือภารกิจการผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด
อีกทั้งยังได้เสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ผ่านการจ้างงานท้องถิ่น การจ่ายภาษีท้องถิ่น เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ตอบสนองประเด็นปัญหาของชุมชนอย่างต่อเนื่อง
โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ได้รับการยอมรับในระดับเอเชียแปซิฟิกให้เป็นตัวอย่างของการจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยได้รับรางวัลด้านความปลอดภัยทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การจัดการสิ่งแวดล้อมก็เลือกใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในขณะนั้น นำมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับสากล และระบบการบริหารคุณภาพเพื่อความเป็นเลิศในการทำงานเข้ามาใช้ในการบริหารโรงไฟฟ้า ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนสามารถกำจัดและควบคุมได้ในระดับที่ดีกว่ามาตรฐานกฎหมายกำหนดไว้

นอกจากนี้ยังมีการดูแลชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการพัฒนาโครงการ มุ่งเน้นการจ้างงานท้องถิ่นเป็นลำดับแรกเพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
และเมื่อปี 2550 มีการจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้นำส่งเงินกองทุนอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละประมาณ 30-40 ล้านบาท ซึ่งได้นำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า อีกทั้งยังได้นำส่งภาษีท้องถิ่นเฉลี่ยปีละ 1-2 ล้านบาท ด้วย
หลังจากโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ หยุดการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างถาวรในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า บริษัทฯ ได้มอบหมายให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจำหน่ายทรัพย์สินและรื้อถอนโรงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องสอดรับกับแผนการใช้พื้นที่ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ขั้นตอนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2564
นายกิจจา ได้กล่าวว่า ขอขอบคุณชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า ชาวจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ให้ดำเนินภารกิจผลิตไฟฟ้า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจนสำเร็จในวันนี้
หลังจากนี้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง จะเข้ามาสานต่อภารกิจดังกล่าวควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด