ตลาดหุ้นไอพีโอ 4 เดือนแรกซบ
การระดมทุนรูปแบบการเสนอขายหุ้นกับประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือไอพีโอ
เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยและตลาดเอ็มเอไอ ซึ่งจะเห็นว่ารูปแบบการระดมทุนประเภทนี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคึกคัก เพราะมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ปี 2559 ผ่านไป 1ไตรมาสพบว่า การระดมทุนหุ้นไอพีโอเริ่มมีทิศทางชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และมีเพียง 3 บริษัทที่เสนอขายไอพีโอช่วงเดือนมี.ค.เท่านั้น
หากพิจารณาข้อมูล 3ปีที่ผ่านมา(2556-2559) จำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยและเอ็มเอไอเพิ่มขึ้น โดยในปี 2556 มีบริษัทจดทะเบียนใหม่ 28 บริษัท ปี2557 มี37 บริษัท ปี2558 มีจำนวน 36 บริษัท ส่วนในปี 2559 ไตรมาสแรกมีเพียง 3 บริษัท
เกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงต้นปี2559 ยังไม่มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียน เป็นเพราะจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย แต่เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปี 2559 จะเห็นมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น
“ตลาดหลักทรัพย์ มั่นใจว่าเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 2.7 แสนล้านบาท ขณะที่การระดมทุนในตลาดรองจะทำได้ตามเป้าเช่นกันที่ 2.5 แสนล้านบาท”
พร้อมกับย้ำว่าการปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่ครั้งนี้ เพื่อต้องการเพิ่มคุณภาพของบริษัทที่จะมาจดทะเบียนและปรับเกณฑ์ให้สะท้อนกับความเป็นจริง เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหุ้นไอพีโอในตลาดหุ้นที่จะเข้ามาจดทะเบียนมีส่วนทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และบริษัทในเอ็มเอไอมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท โดยทุนจดทะเบียนต่ำสุดอยู่ที่ 85 ล้านบาท ประกอบกับช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาตลาดไม่ได้มีการปรับเรื่องเกณฑ์การรับหลักทรัพย์มานานแล้ว จึงมองว่าเป็นจังหวะที่ต้องมีการปรับเกณฑ์ให้สะท้อนกับความเป็นจริง
“การปรับเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่นั้น เพื่อต้องการเพิ่มคุณภาพของบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนใหม่ในการกำหนดส่วนทุน มาร์เก็ตแคปที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เอ็มเอไอ จะเพิ่มเกณฑ์เรื่องทุนจดทะเบียนชำระแล้วมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังให้ความสำคัญในการสนับสนุนเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ แต่ต้องมีกองทุนร่วมทุน (เวนเจอร์ แคปปิตอล) ไม่ต่ำกว่า 10% โดยจะยังสามารถเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์เดิมได้”
ด้านที่ปรึกษาทางการเงิน “สมภพ กีระสุนทรพงษ์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาวะหุ้นไอพีโอในปีนี้ยังมองว่าแนวโน้มทรงตัวจากปี 2558 แต่ถ้าเทียบกับปี 2557 ถือว่าเป็นปีทองของไอพีโอ และมองว่าวปีนี้คงไม่ฟื้นตัวกลับไปเหมือนปีทอง เพราะยังมีปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยปัจจัยในต่างประเทศที่กดดัน คือ ความผันผวนของตลาดหุ้นจีน ซึ่งมีผลกระทบทั่วโลก รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนต่างชาติ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง
“กลยุทธ์ในการทำหุ้นไอพีโอ ในปีนี้จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งวิธีการที่จะใช้คือการให้ส่วนลดกับนักลงทุน เพื่อสร้างความน่าสนใจกับนักลงทุนในการจองซื้อหุ้น รวมไปถึงการกำหนดระยะเวลาเข้าซื้อขายหุ้นไอพีโอ ซึ่งครึ่งปีแรกอาจเป็นเวลาที่เหมาะสมจะนำเข้าจดทะเบียนแต่หากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยก็สามารถเลื่อนการเข้าจดทะเบียนได้ โดยในปีนี้คาดว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนทั้งสิ้น 3-4 บริษัท”
อย่างไรก็ตาม สำหรับหุ้นไอพีโอนั้นเป็นหุ้นที่มีเสน่ห์ และได้รับความสนใจจากนักลงทุน เห็นได้จากความต้องการของนักลงทุนมีอย่างต่อเนื่อง และให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนอย่างสม่ำเสมอทำให้หุ้นไอพีโอยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ไม่ว่าภาวะตลาดหุ้นจะมีทิศทางอย่างใด
ทั้งนี้ หากพิจารณาความสามารถในการให้อัตราผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้น โดยพิจารณาจากหุ้นไอพีโอในปีล่าสุด(2558) มีจำนวน 36 บริษัท
เมื่อเทียบราคาซื้อขาย ณ วันที่ 4 พ.ค.2559 กับราคาไอพีโอ พบว่า มากกว่า 20 บริษัทที่ราคาหุ้นปัจจุบันต่ำกว่าราคาไอพีโอ นอกจากนี่การสำรวจข้อมูลหุ้นไอพีโอในปี 2558 ส่วนมากมีการประกาศจ่ายปันผลเพื่อตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ทั้งผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท และผู้ถือหุ้นรายใหม่ โดยหุ้นไอพีโอที่ให้อัตราเงินปันผลตอบแทน (ยีลด์) สูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ (RP) ให้ยีลด์ 8.04% ขณะที่ราคาซื้อขายหุ้น ลดลง 10% จากราคาไอพีโอ, บริษัท บางกอกแร้นช์ (BR) ให้ยีลด์ 7.30% แต่ราคาหุ้นปรับลดลง 24.43% , บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA) ให้ยีลด์ 5.57% ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 11.67% บริษัท ทีวี ธันเดอร์ (TVT) ให้ยีลด์ 4.85% ส่วนราคาหุ้นปรับพิ่มขึ้น 3%
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ให้ยีลด์ที่ 3.80% ขณะที่ราคาหุ้นลดลง 7.41% , บริษัท อาซีฟา (ASEFA) ให้ยีลด์ 3.45% ส่วนราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 58.11% , บริษัท เอส 11 กรุ๊ป (S11) ให้ยีลด์ 3.00% ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 66.98% , บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป (PLAT) ให้ยีลด์ 2.92% ราคาหุ้นลดลง 29.73% , บริษัท สยามราช (SR) ให้ยีลด์ 2.74% ราคาหุ้นลดลง 9.14%, และบริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) ให้ยีลด์ 2.55% ส่วนราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 31.43% จากราคาไอพีโอ
สำหรับหุ้นไอพีโอที่เข้าซื้อขายในไตรมาส 1 ปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 3 บริษัท คือบริษัท ชีวาทัย (CHEWA) บริษัท เจตาแบค (GTB) และบริษัท ทีพีบีไอ (TPBI)
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มหุ้นไอพีโอในไตรมาส 2 ปี2559 วงการที่ปรึกษาทางการเงินในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังคงมีแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่เหลือปีนี้ จะดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจที่ได้รับแรงกระตุ้น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ขณะที่ข้อมูลล่าสุด ปัจจุบันมีบริษัททยอยยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอ(ไฟลิ่ง)ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ขายไอพีโอ ประกอบด้วย บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด ซึ่งเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) และเพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2559 และ คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ปีนี้ โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 100 ล้านหุ้น
บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นแบบแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นไอพีโอ ต่อสำนักงานก.ล.ต.เพื่อขออนุญาตเสนอขาย IPO จำนวน 350 ล้านหุ้น
บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นไอพีโอ ต่อสำนักงานก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 74.99 ล้านหุ้น
บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นไอพีโอ ต่อสำนักงานก.ล.ต. เพื่อขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ETE ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อนำเสนอขายหุ้นไอพีโอ 160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น 0.25 บาท ระดมทุนขยายธุรกิจ Outsourcing เพิ่มศักยภาพรับความต้องการตลาดขยายตัว
ขณะเดียวกัน สำนักงานก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งของ บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด(มหาชน) ซึ่งจะเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 400 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น 0.50 บาท และบริษัท บริษัท เอเอสเอ็น โบรกเกอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเสนอขายหุ้นไอพีโอ 30 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น 0.50บาท