Move on ช้า ช้า เศรษฐกิจหลังคลาย lockdown
SCB EIC วิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์แบบ high frequency ที่สามารถบอกถึงสถานการณ์ปัจจุบันได้เร็วกว่าข้อมูลเศรษฐกิจ มหภาคทั่วไป พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยบางส่วนเริ่มกลับมาหลังการผ่อนคลาย lockdown แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และยังซบเซากว่าช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 ค่อนข้างมาก
มาตรการ lockdown ที่ถูกนำมาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และทำให้เศรษฐกิจหลายส่วนหยุดชะงักไปนั้น ได้เริ่มทยอยผ่อนคลายลงหลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐได้มีการผ่อนคลายในระยะที่หนึ่งไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค. และระยะที่สองเมื่อวันที่ 17 พ.ค. เพื่อให้กิจการหลายประเภทสามารถกลับมาให้บริการอีกครั้ง EIC พบว่าหลังการผ่อนคลายนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนได้เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางออกนอกบ้านที่มีเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูล Community Mobility Reports ของ Google บ่งชี้คนเดินทางออกนอกบ้านมากขึ้นหลังคลาย lockdown
Google เปิดเผยข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ของคนในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเดินทางออกนอกบ้านของคนไทยได้ลดลงอย่างมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 สูง และยังมีการบังคับใช้มาตรการ lockdown ที่เข้มงวด เช่น การเดินทางไปยังสถานีขนส่ง (transit station) ลดลงเกือบ -70% หรือการเดินทางไปยังสถานที่ประเภทพื้นที่ค้าปลีกและสันทนาการ (retail & recreation) เช่น ห้างสรรพสินค้าที่ลดลงกว่า -50% ในช่วงประมาณต้นเดือน เม.ย. เทียบกับปริมาณการเดินทางในช่วงต้นปี
ข้อมูล ไทยชนะ.com และ TripAdvisor.com สะท้อนการเริ่มกลับมาดำเนินการให้บริการของหลายธุรกิจ
• EIC ทำการเก็บข้อมูลจำนวนกิจการที่ลงทะเบียนจากการเชื่อมต่อ Application Program Interface (API) กับเว็บไซต์ไทยชนะ.com ในกรุงเทพมหานครและอีก 12 จังหวัดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่พบว่าจำนวนกิจการที่ให้บริการในพื้นที่ดังกล่าวมีการลงทะเบียนรวมในวันที่ 27 พ.ค. อยู่ที่ 70,425 กิจการ เพิ่มขึ้นจาก 40,537 กิจการในวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งบ่งชี้การเปิดให้บริการที่มากขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าว EIC มีข้อสังเกตว่าจำนวนร้านค้าในห้างสรรพสินค้าในช่วงแรกหลังเริ่มคลาย lockdown จะมีสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยในวันที่ 20 พ.ค. มีจำนวนถึง 26,450 ร้านค้า คิดเป็นสัดส่วน 65.2% ของจำนวนการลงทะเบียนทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว สะท้อนถึงการที่ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดให้บริการ อย่างไรก็ดี ร้านค้าประเภทอื่น ๆ ก็ได้ทยอยเปิดให้บริการตามมาด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านที่สูงกว่าอย่างชัดเจนในสัปดาห์ถัดมา โดยมีการเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ขณะที่ร้านค้าในห้างฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นที่ 31.0% ในช่วงเดียวกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากการที่กิจการโดยทั่วไปเริ่มมีการเรียนรู้แนวทางปฏิบัติในการให้บริการในสภาวะ new normal กันมากขึ้น
ข้อมูล JobsDB.com แสดงการฟื้นตัวของการเปิดรับสมัครงานในธุรกิจท่องเที่ยวและ consumer retail ที่เริ่มกลับมาดำเนินการ
• EIC ทำการ web scraping ข้อมูลจากเว็บไซต์ JobsDB.com ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงสัปดาห์ล่าสุดของข้อมูล (วันที่ 21-27 พ.ค.) จำนวนประกาศรับสมัครงานรวมเพิ่มขึ้น 11.0% เมื่อเทียบกับจำนวนในสัปดาห์ก่อนคลาย lockdown ระยะที่หนึ่ง (วันที่ 26 เม.ย.-2 พ.ค.) และเป็นการเพิ่มขึ้นในหลายประเภทธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และ consumer retail เช่น เสื้อผ้า ค้าปลีก ที่มีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าธุรกิจประเภทอื่น ๆ สอดคล้องกับการกลับมาดำเนินการของธุรกิจเหล่านี้หลังจากที่ถูกจำกัดจากมาตรการ lockdown อย่างไรก็ดี จำนวนประกาศรับสมัครงานโดยเฉลี่ยในปัจจุบันในภาพรวมยังต่ำกว่าระดับในช่วงเริ่มมาตรการ lockdown (วันที่ 21–27 มี.ค.) อยู่ถึง -25.4%
แม้จะเริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลาย lockdown แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า EIC คาดว่าจะใช้เวลานานในการกลับไปสู่จุดเดิม โดยยังต้องเฝ้าระวังการระบาดระลอกที่สอง กิจกรรมต่าง ๆ ตามข้อมูลข้างต้นทั้งการเดินทางออกนอกบ้าน การให้บริการของห้างร้านและโรงแรม และการเปิดรับสมัครงานออนไลน์ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติค่อนข้างมากแม้จะฟื้นตัวมาบ้างในระยะหลัง และเนื่องจากการดำเนินไปของกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงหลังจากนี้
มีแนวโน้มจะต่างไปจากเดิม เช่น การทำงานที่บ้านผ่านระบบออนไลน์มีสัดส่วนมากขึ้น การให้บริการแก่ลูกค้าในพื้นที่ค้าปลีก ร้านอาหารและโรงแรม มีการจำกัดจำนวนและระยะห่างมากขึ้น ประกอบกับในฝั่งของผู้บริโภคเองก็ยังมีอุปสรรคจากทั้งกำลังซื้อที่ลดลงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังทำได้ยาก ด้วยเหตุนี้ EIC จึงมองว่าหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะส่วนที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะยังต้องใช้เวลานานก่อนจะฟื้นกลับไปยังจุดเดิม ทั้งนี้อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญคือ การเฝ้าระวังการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สอง ที่หากเกิดขึ้นจะนำไปสู่การกลับมาของมาตรการ lockdown ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วทรุดตัวลงมากกว่าเดิม