Facebook กับแผนครองโลกอันแยบยล
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Facebook คือตัวฆ่าเวลาที่คนไทยและชาวโลกจำนวนไม่น้อยต่างติดกันงอมแงมกันมากที่สุดในเวลานี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ของใหม่และมีให้ใช้มานานกว่าสิบปีแล้ว แต่นั่นนอกจากจะไม่ทำให้คนเบื่อเล่นเฟสฯ ไปง่ายๆ เหมือนอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ยังมียอดสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ยอมหยุดอีกต่างหาก
จากการประเมินโดย Zocial Inc. (http://thothzocial.com) เมื่อเดือนส.ค. ปีที่แล้ว เผยว่ามีคนไทยคนไทยเล่นและใช้เฟสฯ เครือข่ายสังคมออนไลน์หมายเลขหนึ่งของโลกอยู่มากถึง 37 ล้านคนในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกตะลึงมาก เพราะนั่นหมายความว่า มีคนไทยมากกว่า 1 ใน 2 คนที่ใช้เฟสบุ๊ค หากเทียบสัดส่วนเอาจากจำนวนประชากรทั้งประเทศราว 65 ล้านคน ผลการวิเคราะห์เช่นนี้เกินจริงไปหรือไม่ ก็ลองเช็คดูคร่าวๆ จากคนรอบกายได้เลย และนี่ก็คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เฟสบุ๊คตัดสินใจเปิดสำนักงานสาขาประเทศไทยขึ้นมา ต่อจากประเทศอินโดนีเซีย โดยยังขึ้นตรงต่อสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์
จำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊คในทวีปเอเชียนั้น มีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ คิดเป็นอัตราเจริญเติบโต 20% ต่อปี ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ นั้นเติบโตในระดับแค่ 14% คาดกันว่าจำนวนประชากรเฟสบุ๊คทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน ประเภทที่เล่นแบบติดหนึบเลยนั้นมีอยู่ราว 1 พันล้านคนต่อวัน ถ้านับถัวเฉลี่ยแบบรายเดือนก็อยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านคน (มีมากกว่าประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ไปแล้ว) อย่างไรก็ตามที่น่าสนใจมากๆ คือ คนใช้เฟสบุ๊คระดับแอ็คทีฟยูสเซอร์จำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือราว 540 ล้านคนในจำนวนนี้อยู่ในทวีปเอเชียเรานี่เอง (ยกเว้นจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีนโยบายบล็อกเฟสฯ) โดยเพิ่มขึ้นจากจำนวน 449 ล้านคนในปีที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าประชากร 2 ใน 3 ของโลกอยู่ในทวีปเอเชียนั่นเอง แถมยังชอบเล่นสมาร์ทโฟนกันอีกต่างหาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ AEC นั้นนับได้ว่ามีอัตราการเพิ่มจำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊คสูงที่สุด ดังจะเห็นได้จากยอดตัวเลขผู้ใช้มากกว่าครึ่งประเทศในเมืองไทย ขณะที่อินโดนีเซียนั้นมีประชากรเฟสบุ๊คอยู่ในประเทศมากถึง 82 ล้านคน ส่วนที่ฟิลิปปินส์ก็เล่นเฟสฯ กันมากถึง 24 ล้านคนในแต่ละวัน ประเทศเวียดนามก็ใช่ย่อยนิยมเล่นเฟสฯ กันมากถึงวันละ 21 ล้านราย โดยชาวเอเชียเกือบทั้งหมดหรือคิดเป็นสัดส่วนราว 94% นั้นนิยมเล่นผ่านโทรศัพท์มือถือแสนฉลาดมากกว่าบนหน้าจอคอมพ์
และนี่ก็คือกลุ่มประชากรในโลกสังคมออนไลน์ที่สร้างผลกำไรมหาศาลให้ Facebook Inc ผ่านยอดโฆษณาออนไลน์ที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านชิ้นในแต่ละเดือน กระทั่งกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 325 พันล้านเหรียญฯ ติดอันดับ 1 ใน 6 บริษัทมหาชนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และยังคงอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการในปลายปีที่แล้วสูงถึง 5.84 พันล้านเหรียญฯ มีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 52%
อาณาจักรที่สร้างขึ้นจากฐานข้อมูล
ความมั่งคั่งของเฟสบุ๊คได้มาจากการสร้างบริการที่สามารถโดนใจผู้คนในวงกว้าง จากนั้นก็นำความสนใจของพวกเขาไปขายเอเจนซี่โฆษณาอีกทอด จริงๆ แล้วก็คล้ายกับกูเกิ้ลนั่นล่ะ เพียงแต่มีวิธีการหาเงินกับผู้ใช้กันคนละแนวทาง กูเกิ้ลตระเตรียมฐานข้อมูลโลกทั้งใบเอาไว้ ขณะที่เฟสบุ๊คเลือกใช้วิธีสะสมฐานข้อมูลเกี่ยวผู้ใช้และเครือข่ายเพื่อนฝูงในสังคมออนไลน์ กูเกิ้ลมีไว้ให้สืบค้นข้อมูล ขณะที่เฟสบุ๊คมีไว้ให้ผู้คนใช้ฆ่าเวลา
ผลการวิจัยโดย Nelson เผยว่า อเมริกันชนใช้เวลากับเฟสบุ๊ค 22% ในระหว่างเชื่อมอินเตอร์เน็ต ขณะที่ให้เวลากับการสืบค้นผ่านกูเกิ้ลร่วมกับการคลิ้กเข้าไปดูยูทูปเพียงแค่ 11% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองเฟสบุ๊คจึงมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้สะสมไว้มหาศาลอย่างชนิดที่เรียกว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว ฐานข้อมูลบุคคลมหึมาเหล่านี้คือตัวสร้างผลกำไรมหาศาลกับการขายโฆษณา ซึ่งจะช่วยให้เฟสบุ๊ครวยทบทวีขึ้นไปเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น
อ้างอิงข้อมูลโดย eMarketer (www.emarketer.com) งบค่าใช้จ่ายในการโฆษณาผ่านสมาร์ทโฟนทั่วโลกจำนวน 70 พันล้านเหรียญฯ ในปีที่แล้วนั้น ผ่านทางเฟสบุ๊ค 19% ผ่านกูเกิ้ล 35% ขณะที่ทวิตเตอร์ และยาฮูนั้น ได้กันไปเพียงแค่ 2.5% และ 1.5% ตามลำดับ
เป็นที่แน่นอนว่า ในปีต่อไปเฟสบุ๊คต้องแชร์ส่วนแบ่งทางการโฆษณาเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างแน่นอน เพราะเมื่อช่องทางหลักในการโฆษณาสินค้า จากที่เคยอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ ขยายช่องทางมาอยู่หน้าจอสมาร์ทโฟนขนาดเล็กที่มนุษย์วัยทำงานยุคนี้มีติดมือกันแทบทุกคน ด้วยแอปพลิเคชั่นที่มีคุณสมบัติในการสะสมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ใช้ได้อย่างมากมาย จึงทำให้เฟสบุ๊คสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล จากการจำแนกเพศ วัย รูปแบบการใช้ชีวิต ระดับการศึกษา พื้นถิ่นอาศัย อุปกรณ์ที่ใช้ สังคมเพื่อนฝูง สถานะทางสังคม และอื่นๆ อีกจิปาถะจากโปรไฟล์ผู้ใช้ เพื่อนำไปหากำไรจากเอเจนซี่โฆษณา อย่างเช่น ถ้าใครใช้ไอโฟนรุ่นล่าสุดเล่นเฟสฯ คนนั้นก็น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มคนมีฐานะมากกว่าคนใช้มือถือจีน หรือถ้าใครเป็นนักกีฬาดัง เฟสบุ๊คก็จะเปิดช่องให้โฆษณาเครื่องดื่มบำรุงกำลังไปปรากฏบนหน้าเฟสฯ ของครอบครัว มิตรสหาย และเครือข่ายผู้เข้ามากดไลค์ได้เลย เป็นต้น
ระบบการประมวลข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นี่เอง คือเคล็ดลับสำคัญในการป้อนโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ เรียกได้ว่า ในทุกขณะที่เกิดการแชร์ หรืออัพเดท new feed และด้วยจำนวนโฆษณาจำนวนหลายล้านที่เฟสบุ๊คมีในแต่ละวัน มาร์ค ซัคเคอร์เบิกก็เลยร่ำรวยแบบติดจรวด ยิ่งถ้าสามารถเพิ่มยอดผู้ใช้ได้มากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสทำรายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และดูเหมือนว่าเส้นกราฟทางรายได้ของเฟสบุ๊คยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ต่อไปอีกหลายปี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า Facebook เป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกสร้างขึ้นอย่างชาญฉลาด มีครบทุกรสชาติ ไม่สามารถทำให้คนเบื่อแล้วเลิกเล่นกันไปโดยง่าย เหมือนสื่อสังคมออนไลน์ดังๆ ในรุ่นบุกเบิก อย่าง มัลติพลาย หรือ ไฮไฟว์
เชื่อมทั้งโลกเข้าเป็นหนึ่งเดียวด้วยฟรีอินเตอร์เน็ต ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใคร?
มหาเศรษฐีผู้สร้างความร่ำรวยจากการขายข้อมูลทั้งกูเกิ้ลและเฟสบุ๊คต่างเล็งการณ์ไกลเหมือนกันว่า หนทางหนึ่งที่จะช่วยทวีผลกำไรเพิ่มขึ้นได้แบบก้าวกระโดด ก็คือการขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมอย่างกว้างไกลที่สุด เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้หน้าใหม่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้ข่าวกูเกิ้ลมีโครงการสร้างบอลลูนยักษ์ (Project Loon) ขณะที่เฟสบุ๊คก็มุ่งมั่นที่จะการสร้างโครงข่ายเชื่อมต่อให้กับคนทั้งโลกกับโครงการฟรีอินเตอร์เน็ต (internet.org) ถึงกับลงทุนสร้างดาวเทียม AMOS-6 และ Aquila เครื่องบินเล็กไร้คนขับรูปทรงคล้ายบูมเมอแรงขนาดมหึมา สามารถลอยบนฟ้าได้หลายเดือนโดยใช้พลังแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้กับชาวโลกในถิ่นทุรกันดารสัญญาณโทรคมนาคมภายในปีนี้ โดยจะเริ่มต้นที่กาฬทวีปเป็นโซนแรก
จากเหตุผลมากมายที่ว่ามา ผู้ที่น่าจะได้ผลประโยชน์จากการนี้มากที่สุด คงเป็น Facebook Inc อย่างไม่ต้องสงสัยเลย ยุทธศาสตร์สำคัญในอีกด้านของเฟสบุ๊ค คือการรักษาฐานผู้ใช้เดิมเอาไว้ให้ได้นานที่สุด โดยการเติมแต่งลูกแล่นมากมายเข้าไปในแอปพลิเคชั่นที่มีอยู่เพื่อมัดใจผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง พยายามทำตัวให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในวิถีชีวิต ทั้งมุ่งเน้นรูปแบบการตอบสนองเพื่อให้ชาวโลกดิจิตอลได้สื่อสารกันได้อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าเข้ามาเป็นเพื่อนกันได้โดยปราศจากช่องว่าง ความพยายามจะทำให้เฟสบุ๊คเป็น Universal Passport หรือใบเบิกทางที่เข้าได้ทุกแพล็ตฟอร์ม นอกจากนี้ยังได้คิดค้นพัฒนาอุปกรณ์ไฮเทคที่มีความสามารถในการสร้างภาพเสมือนจริง เพื่อให้การแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและน่าสนุกสนานยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีจากการทุ่มเงินระดมกว้านซื้อแอพดังๆ มาเข้ามาเสริมทัพ หรือเพื่อตัดตอนคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่เป็นระยะๆ ในหลายปีที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน อย่างเช่น การเข้าซื้อ Instagram, WhatsApp และ Oculus ผู้ผลิตอุปกรณ์ดูภาพเสมือนจริง รวมไปถึงการเปิดแล็บค้นคว้าเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์อดคิดไม่ได้ว่า เฟสบุ๊คไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กอีกต่อไปแล้ว แต่กำลังแปลงร่างเป็นบริษัทรวมนวัตกรรมไฮเทคอันหลากหลาย โดยมีแผนการระยะยาวที่ขึ้นไปทาบรัศมีกับกูเกิ้ลในทศวรรษหน้าก็เป็นไปได้
ในงานสัมมนาใหญ่เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ครั้งสำคัญแห่งปี หรือที่เรียกย่อๆ ว่า F8 ซึ่งจัดขึ้นในที่นครซานฟรานซิสโก
เมื่อวันที่ 12-13 เม.ย. ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้นำเสนอทีเด็ด ฟีเจอร์ใหม่ๆ สุดล้ำต่างๆ ออกมามากมาย เพื่อตอกย้ำแนวทางที่วางไว้ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ที่เด่นๆ ก็เห็นจะเป็น Chatbot ใน Messenger เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยธุรกิจได้สร้างระบบโต้ตอบลูกค้าแบบอัตโนมัติด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อความสะดวกรวดเร็ว, กล้อง Facebook Live อุปกรณ์ถ่ายทอดสดแบบทันใจ, Instant Articles ฟีเจอร์ที่จะช่วยให้คนรักการอ่านสามารถเข้าถึงข่าวหรือบทความในสมาร์ทโฟนได้อย่างรวดเร็วและอุปกรณ์ไฮเทคสร้างภาพเสมือนจริง อย่างกล้อง Surround 360 ที่เก็บภาพสามมิติความละเอียดสูงได้คมชัดถึงระดับ 8K
อย่างไรก็ตามในงานแถลงประจำปีของเฟสบุ๊คครั้งล่าสุดนี้ อาจทำให้เราพอมองเห็นอนาคตลางๆ ของอะไรหลายๆ อย่างที่จะค่อยๆ หดตัวหรือสูญหายไปภายในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะคำกล่าวของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กที่ว่า ปัจจุบันนี้มีผู้ส่งข้อความสั้นผ่าน Messenger และ WhatsApp กันมากถึง 60 พันล้านครั้งในแต่ละวัน นั่นเปรียบดังสัญญาณที่บ่งบอกว่าหมายเลขโทรศัพท์อาจไม่ใช่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ขณะที่ แช็ทบอต หรือระบบโต้ตอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกเสริมเข้าไปในแอพเมสเซนเจอร์ (ซึ่งวันนี้สามารถใช้ออก Boarding Pass และข้อมูลการเดินทางของสายการบิน KLM และเรียกบริการแท็กซี่ Uber ได้แล้วโดยไม่ต้องใช้แอปฯ ของผู้ให้บริการ) อาจช่วยให้หลายๆ ธุรกิจได้ทุ่นค่าแรงลงไปเยอะเลย แต่นั่นก็หมายถึงอาชีพโอเปอเรเตอร์หรือพนักงานรับสั่งสินค้าทางโทรศัพท์ที่จะค่อยๆ ถูกปลดระวางตามไปด้วย หากระบบโต้ตอบอัจฉริยะพัฒนาขึ้นไปถึงระดับที่โต้ตอบลูกค้าได้อย่างฉะฉานใกล้เคียงมนุษย์ ส่วนโครงการเชื่อมโลกทั้งใบด้วยฟรีอินเตอร์เน็ตนั้น หากปิดกั้นไม่ได้ก็อาจทำผู้ให้บริการเจ้าถิ่นเดิมต้องเสียผลประโยชน์หรือปิดกิจการก็เป็นไปได้ เหมือนเช่นกรณีการออกมาเคลื่อนไหวของ Reliance Communications Ltd. ในอินเดีย ประเทศซึ่งมีประชากรเฟสบุ๊คราว 130 ล้านราย และยังมีพื้นที่กันดารสัญญาณโทรคมนาคมไว้ให้ตักตวงอีกมากมาย
และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะสูญเสียไปกับอัพเดทแต่ละครั้งของเฟสบุ๊ค คงเป็นข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ที่หลงเหลือน้อยลงทุกที ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ดูเหมือนว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ในเอเชียจะไม่ค่อยแคร์และใส่ใจในเรื่องนี้กันเท่าไรนัก ตรงข้ามกับทางภาคพื้นยุโรปที่เฝ้าจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และนี่คือโจทย์สำคัญที่อาจนำไปสู่กระแสต่อต้านก็เป็นไปได้ ถ้าวันหนึ่งเฟสบุ๊คยิ่งใหญ่อีกขึ้นจนมีอำนาจผูกขาด และพยายามล้วงข้อมูลส่วนตัวในทุกซอกมุมของผู้ใช้โดยไม่บอกกล่าวกัน แบบเดียวกับกูเกิ้ล และไมโครซอฟท์ ซึ่งต่างมีบทเรียนด้านนี้กันมาแล้ว.