หลังแผนฟื้นฟูฯ บินไทย “ไซส์เล็ก เลิกศักดินา”
การบินไทยภายหลังแผนฟื้นฟูฯ “ไซส์เล็ก ลดคน ตัดวงจรศักดินาอุปถัมภ์” ไม่แน่! อาจได้เห็น “มืออาชีพต่างด้าว” เข้ามาบริหารองค์กร
เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ล่วงหน้า… ที่สุด! คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตัดสินใจใช้ทางเลือกที่ 3 เห็นชอบให้ บมจ.การบินไทย ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลาย แทนที่จะเอาเงินภาษีของประชาชนไปอุ้มสายการบินแห่งชาติด้วยการค้ำประกันเงินกู้ หรือปล่อยให้กิจการที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 51.03% ต้องล้มละลาย…สูญสลายไปจากสารบบธุรกิจสายการบิน กันไป

ทางเลือกนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ หลังประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับยืนยันว่า…ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับ บมจ.การบินไทย ในสถานการณ์นี้
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวในวันเดียวกันว่า ตนได้สั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปทำแผนขายหุ้น บมจ.การบินไทย เพื่อให้กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% และทำให้ บมจ.การบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารและตัดสินใจในการดำเนินการ
ส่วนจะขายเท่าไหร่? แล้วจะให้กองทุนวายุภักษ์เข้าไปซื้อหรือไม่? คงต้องรอดูแผนก่อน อย่างไรก็ตาม นายอุตตมได้กำชับให้ สคร.ทำแผนให้แล้วเสร็จโดยเร็วและต้องรัดกุมที่สุด
ถึงตรงนี้ บมจ.การบินไทย น่าจะคงการดำเนินธุรกิจสายการบินเอาไว้ได้ แต่ยังจะได้ชื่อว่าเป็น “สายการบินแห่งชาติ” หรือไม่? ต้องลุ้น! แต่ที่ไม่ต้องลุ้นคือ ไซส์ธุรกิจและจำนวนบุคลากรทุกระดับ คงต้องเล็กลงอย่างไม่ต้องสงสัย
จากภาวะความอุ้ยอ้าย เพราะคิดอ่านการใด? ก็ล่าช้ากว่าเอกชนหลายก้าว…สิ่งนี้ จะหมดไป ความเป็น “แหล่งกอบโกย” ให้กับนักการเมือง ทหาร ข้าราชการระดับสูง และฝ่ายบริหารทุกระดับ คงแทบไม่เหลือให้เห็น…
ภายหลังการเข้าสู่กระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เชื่อว่า…คณะผู้บริหารชุดใหม่ของ บมจ.การบินไทย ภายใต้ความเห็นชอบของบรรดาเจ้าหน้าที่ ทั้งในและนอกประเทศ คงต้องเร่งดำเนินการหลายอย่างไปพร้อมกัน…ไม่ว่าจะเป็นการลดขนาดองค์กร ลดจำนวนเครื่องบิน ลดเที่ยวบิน ลดคน ลดรายจ่าย และอีกหลายๆ ลด

เพื่อหวังจะเพิ่มรายได้ เพิ่มกำไร เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ที่สำคัญ เพิ่มความพึงพอใจ ทั้งต่อ เจ้าของ “เก่า-ใหม่” และเจ้าหนี้ เพราะหาก บมจ.การบินไทย มีกำไรได้เร็วและมาก นั่นหมายถึง…โอกาสการจะได้เงินคืน ทั้งต้นและดอกเบี้ยของเจ้าหนี้ ก็จะมีสูงขึ้น
แน่นอนว่า…รายได้และผลกำไร ย่อมส่งผลต่อ…เครดิต แบรนด์ “เจ้าจำปี” และราคาหุ้น ที่เมื่อได้รับการ “ปลดล็อก” ย่อมไต่ระดับราคาตามกลไกตลาด
สุดท้าย…จะกลับมาเป็นผลกำไรและเงินปันผลให้กับเจ้าของ
แต่ ณ ขณะนี้…บมจ.การบินไทย ยังคงต้องนั่งรอการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง จาก “น้ำมือของคนอื่น” หลังจาก ครม.มีมติให้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ จากนั้น…รอแผนงานที่ สคร.จะนำเสนอต่อ รมว.คลัง เพื่อกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาล แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร? ท้ายที่สุด…รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง แม้จะยังได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” แต่สถานะของ บมจ.การบินไทย หลังจากนี้ จะไม่ใช่ “รัฐวิสาหกิจ” อีกแล้ว
โครงสร้างคณะกรรมการบริหาร ที่ถูกเคยแย่งชิงเก้าอี้ “ประธานบอร์ด” ระหว่าง…กองทัพอากาศ กับฝ่ายการเมือง ผ่านข้าราชการประจำ จะสูญสลาย…หายไปเช่นกัน
ทุกอย่างจะเข้าสู่การดำเนินงานแบบมืออาชีพ ไม่แน่…เราอาจได้เห็น “ต่างชาติ” เข้ามานั่งบริหารในฐานะ “มืออาชีพ” เพื่อนำพาองค์กรธุรกิจสายการบินแห่งนี้ กลับมาผงาด ทั้งในแง่ของเครดิต รวมถึงรายได้และผลกำไร อีกครั้ง!
แต่ต้องไม่เหมือนครั้งที่…ทุกฝ่ายต่างรุมสกัม “แย่งชิงผลประโยชน์” แล้วสร้างวัฒนธรรมองค์กรในระบบ “ศักดินาอุปถัมภ์” เช่นในอดีต.