โลกแห่งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยล้นฟ้ากับคนจนติดดิน
โครงการอาหารโลก(WFP) ได้แสดงสถิติความหิวโหยเอาไว้ว่า ประชากรโลกราว 795 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 9 ไม่มีโอกาสได้กินอาหารอย่างอิ่มท้อง ขณะที่อีก 12.9% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ต้องเผชิญกับภาวะขาดสารอาหาร และเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบต้องเสียชีวิตไปมากถึง 3.1 ล้านราย ในแต่ละปี
ที่น่าสนใจ คือจำนวน 2 ใน 3 ของผู้หิวโหยนั้นอยู่ในทวีปเอเชียเรานี้เอง ไม่ใช่ในทวีปแอฟริกาอย่างที่เห็นภาพคุ้นตากันตามสื่อต่างๆ ประเทศหนึ่งที่อุดมไปด้วยประชากรผู้หิวโหยมากที่สุดในเอเชีย คือ เมียนมาร์ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ประชากรกว่า 1 ใน 4 ของประเทศยังคงมีฐานะยากจนไม่พอกิน เยาวชนกว่า 35% ต้องเผชิญปัญหาขาดสารอาหารเรื้อรังจนตัวแคระแกรนอย่างเห็นได้ชัด เมื่อปีที่แล้วปัญหาอุทกภัยและดินถล่มสร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับชาวหม่องมากถึง 1.7 ล้านคน พื้นที่ทำกินเสียหายกว่า 3 ล้านไร่ และทำลายชีวิตปศุสัตว์ไปไม่น้อยกว่า 250,000 ตัว
หลังเหตุพิบัติภัยผ่านพ้นไปหนึ่งเดือน WFP ได้ส่งข้าวของและอาหารเข้าไปช่วยเหลือตามคำร้องขอของรัฐบาลเมียนมาร์ แต่ก็ช่วยผู้เดือดร้อนได้อย่างมากแค่ราว 455,000 คนเท่านั้น เมียนมาร์คือตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้านผู้ยากจนและอุดมไปด้วยผู้หิวโหย ซึ่งวันนี้มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมบนโลก ทาง WFP ประมาณการไว้ว่า ลำพังเฉพาะแค่คนหิวโหยในวัยกำลังเล่าเรียน ก็มีมากมหาศาลถึง 66 ล้านคนแล้ว ถ้าจำเป็นต้องมีการตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อเยียวยาความหิวโหยของเด็กจำนวนมหาศาลขนาดนี้ อาจต้องใช้งบสูงถึง 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้จะไปขอเรี่ยไรจากอภิมหาเศรษฐีใจบุญรายไหนกันดีหนอ? ถ้าจะไปลองไล่เรียงเอาจากอภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก ก็ได้รับรู้ถึงข้อมูลอันน่าตกใจเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างคนจน-คนรวยในยุคนี้ เพราะว่าเมื่อช่วงต้นปีนี้ องค์การอ็อกแฟม(Oxfam) หน่วยงานหนึ่งที่จับตาดูปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของชาวโลกได้ออกมาให้ข้อมูลว่า กลุ่มมหาเศรษฐีพันล้านจำนวนหยิบมือแค่ 62 คนที่รั้งตำแหน่งรวยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ เมื่อลองคำนวณทรัพย์สินรวมกันแล้วกลับมีมูลค่ามากกว่าสินทรัพย์ทั้งหมดของคนจนจำนวนครึ่งโลกหรือ 3.5 พันล้านรวมกัน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอย่างน่าสนใจ และที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นไปอีกก็คือช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะห่างกว้างออกไปเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันนี้ประชากรเพียงแค่ 1% ของโลก ก็มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าสินทรัพย์ทั้งหมดของประชากรที่เหลืออีก 99% รวมกันเข้าไปแล้ว
ถ้ารัฐบาลแต่ละชาติยังไม่มีมาตรการอะไรมาแก้ปัญหานี้ เช่น การปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษี ตรากฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้า เพิ่มการลงทุนในบริการสาธารณะเพื่อสร้างงานในระดับรากหญ้า และเพิ่มค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โลกคงต้องเผชิญกับปัญหาสังคม และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่จะตามติดมาในอนาคต
เหล่าอภิมหาเศรษฐียุคใหม่จะรวยล้นกันไปถึงไหน?
จากทำเนียบคนรวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ ภายในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ครองตำแหน่งกันเพียงแค่ 5 คนเท่านั้นเอง ได้แก่ นาย Yoshiaki Tsutsumi นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวญี่ปุ่น, นาย Taikichiro Mori เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ผู้ก่อตั้ง Mori Building Company, นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ราชาแห่งตลาดหุ้นอเมริกา, นาย Carlos Slim Helú นักธุรกิจและนักลงทุนผู้ใจบุญชาวเม็กซิโก และนายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์
คนที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มได้แก่ นายบิล เกตส์ ผู้ครอบครองตำแหน่งคนรวยที่สุดในโลกมากถึง 17 สมัยจวบถึงปีปัจจุบัน ตอนที่ติดอันดับครั้งแรกในปี 1995 เขามีสินทรัพย์โดยประมาณ 13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ พอถึงยุคดอทคอมบูมสุดขีดในอีก 4 ปีถัดมา สินทรัพย์ของเขาพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 90 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบกับค่าเงินเฟ้อในปัจจุบันราว 128 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่วนมูลค่าสินทรัพย์ในฐานะคนรวยที่สุดในโลกประจำปีนี้อยู่ที่ 75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 2,625,000 ล้านบาท) เมื่อนำตัวเลขไปเทียบกับคนรวยที่สุดในโลกเมื่อราว 30 ปีก่อน อย่างนายโยชิอะกิ สึซือมิ ซึ่งมีสินทรัพย์โดยประมาณในตอนนั้น 20 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 41.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบค่าเงินปัจจุบัน) ก็จะเห็นว่า กาลเวลาผ่านไปแค่ 3 ทศวรรษ คนรวยที่สุดในโลกมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
สอดคล้องกับผลการศึกษาขององค์กรอ็อกแฟมที่ระบุว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทรัพย์สินของคนจนที่สุดลดลงถึง 41% แต่ทรัพย์สินของคนรวยในอันดับต้นๆ ของโลกจำนวน 62 คนกลับเพิ่มขึ้นจาก 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 1.76 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในช่วงเวลาเดียวกัน
ใครอยากรู้ว่า เหล่าอภิมหาเศรษฐียุคนี้จะรวยขึ้นไปอีกขนาดไหน ในอีกซัก 30-40 ปีข้างหน้า อาจใช้ กฎแห่ง 72 อันเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักลงทุน ลองคำนวณอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาที่จะทำให้ทรัพย์สินเพิ่มเป็นเท่าตัว หรือไม่ก็คำนวณเอาคร่าวๆ จากจำนวนตัวเลขประชากรโลกดูก็ได้ ณ วันนี้มีอยู่ราวๆ 7.3 พันล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคนในปีค.ศ. 2050 ตามคาดการณ์ของสหประชาชาติ(UN) และแน่นอนว่าจำนวนคนชั้นกลางผู้มีกำลังซื้อราว 2 พันล้านคนในขณะนี้ ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัว จำนวนประชากรในเขตเมืองจาก 4 พันล้านคน ก็เพิ่มเป็น 6.3 พันล้านคน รวมทั้งผู้สูงอายุวัยเกิน 65 ปี ที่มีอยู่ราว 600 ล้านคน ก็จะเพิ่มเป็น 1.5 พันล้านคนเมื่อถึงเวลานั้น
กลุ่มคนทั้งหมดที่ว่ามา ล้วนจำเป็นต้องซื้อหาปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และนั่นก็ไปช่วยเพิ่มตัวเลขความมั่งคั่งให้แก่เหล่าอภิมหาเศรษฐีพันล้าน ต้องขยับขึ้นไปเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับหมื่นล้านกันในที่สุด พร้อมกับอภิมหาเศรษฐีหน้าใหม่ที่จะผุดขึ้นตามมาอีกมากมาย อันเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวขึ้นอีก โดยคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจขนาด 80 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะนี้ น่าจะขยายตัวขึ้นไปสูงถึง 258 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อถึงปี 2050
ในบ้านเราก็คงไม่แตกต่างกันนัก จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากราว 65 ล้านคนในปัจจุบัน ย่อมเพิ่มความมั่งคั่งอย่างมากให้กับอภิมหาเศรษฐีใน 25 ตระกูล ซึ่งเคยสำรวจไว้ว่า มีทรัพย์สินรวมกันเทียบเท่ากับเงินในกระเป๋าคนไทย 25% หรือ 1.4 ของคนทั้งประเทศรวมกัน
โลกยิ่งพัฒนา แต่ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยกลับถ่างกว้างออกไปอีก
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางธนาคารโลกได้เผยแพร่เอกสารหนา 350 หน้าที่แจกแจงรายละเอียดว่า ในโลกที่อุดมไปด้วยอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีเช่นในทุกวันนี้ ทำให้ผู้คนหากินยากขึ้นอย่างไร และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ
ภาพในสังคมที่เราเห็นว่า ล้วนอุดมไปด้วยสิ่งทันสมัยมากมายนั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังมีประชากรโลกอีกราว 60% ที่ยังคงใช้ชีวิตแบบ Offline ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งงานดีๆ ประมาณการณ์อย่างคร่าวๆ ก็มีมากถึง 4 พันล้านคนเลยที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ ขณะที่อีก 500 ล้านคน ยังอาศัยอยู่ในเขตปลอดสัญญาณโทรศัพท์ คนกลุ่มที่ว่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในถิ่นกันดารของประเทศจีนและอินเดีย
โลกออนไลน์นั้นช่วยเอื้อประโยชน์ในการหารายได้ใหม่ๆ อย่างมากมาย นอกจากช่วยให้เข้าถึงแหล่งงานต่างแดนได้โดยสะดวกแล้ว ยังเปิดโอกาสให้พ่อค้ารายเล็กรายน้อยได้มีช่องทางขายสินค้าโดยไม่ต้องลงทุนค่าเช่าหน้าร้านแพงๆ อาทิ ebay แหล่งรวมร้านค้าทางอินเตอร์เน็ตที่เปิดขายสินค้าให้กับคนได้ทั่วโลก หรืออย่าง Airbnb บริการห้องพักรายย่อยที่เปิดช่องทางหารายได้ให้กับผู้ที่มีห้องว่างในบ้าน เป็นต้น
อย่างไรก็ดีใช่ว่าแห่งเทคโนโลยีทันสมัยจะเอื้อประโยชน์ให้กับคนทุกกลุ่ม เพราะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกงานเพราะถูกแทนที่ด้วยเครื่องมือไฮ-เทคและหุ่นยนต์ ขณะที่พวกแรงงานเงินเดือนสูงๆ ในประเทศที่มั่งคั่งและประเทศที่มีฐานะปานกลาง ก็ถูกแทนที่ด้วยแรงงานข้ามชาติที่ค่าแรงถูกกว่าหลายเท่า อันเป็นผลพวงจากการสื่อสารไร้พรมแดนที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเสาะหาแรงงานจากอีกฟากโลก แถมยังสามารถทำงานในอีกมุมโลกได้โดยไม่จำเป็นต้องทำเรื่องอพยพแรงงานให้ยุ่งยากอีกต่างหาก
แนวโน้มเช่นนี้ยืนยันได้จากค่าแรงของ GDP ที่ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะจากการเก็บสถิติระหว่างปี 1975-2015 พบว่า แรงงานในสหรัฐฯ รายได้ลดลงจาก 61% เป็น 57% , แรงงานในออสเตรเลียลดลงจาก 66% เป็น 54%, แรงงานในแคนาดาลดลงจาก 61% เป็น 55%, ขณะที่แรงงานในญี่ปุ่นนั้นมีรายได้ลดลงจาก 77% เป็น 60%
เราอาจไม่เห็นภาพชัดเจนนักว่า โลกแห่งเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อคนจนอย่างรุนแรงแค่ไหน แต่แนวโน้มที่เราเห็นและกำลังเป็นไป คือคนรวยจะยิ่งรวยล้นฟ้าอย่างแน่นอน แถมยังผูกขาดความรวยอย่างยากที่ใครจะไล่ตามได้ทัน ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาแค่ 3 ยักษ์ใหญ่ในโลกไอที อย่าง กูเกิ้ล ยักษ์ใหญ่ผู้ผูกขาดสื่อโฆษณาออนไลน์, ไมโครซอฟท์ เจ้าพ่อแห่งวงการซอฟท์แวร์ และเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียที่ร่ำรวยได้ในทุกเวลาทุกนาทีที่มีการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ต
โลกแห่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย คงไม่ขยายกว้างให้เป็นปัญหาเท่าไรนัก ถ้าเหล่าอภิมหาเศรษฐีทั้งหลายจะพร้อมใจกันคืนกำไรสู่สังคมให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นอะไรที่เกิดขึ้นยากมากๆ หรือแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย.