FDI จากจีน … หนุนส่งออกแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไทยโตกว่า 290%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2559 ไทยน่าจะสามารถส่งออกเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในปี 2559 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,540 – 8,930 ล้านบาท ขยายตัวราว 291.0 – 308.9% จากปี 2558 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 2,184.2 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงแม้ว่าการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยโดยภาพรวมจะเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่การส่งออกดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นนักลงทุนต่างชาติมากกว่าผู้ประกอบการไทยรายเดิมในตลาด โดยผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งความต้องการในประเทศที่หดตัวในปัจจุบัน และภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการไทยในตลาดจึงควรต้องปรับตัวเน้นไปสู่การส่งออกมากขึ้น ด้วยการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรป หรือแม้แต่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV
ในปัจจุบัน พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) นับว่าเป็นพลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี หรือญี่ปุ่น เป็นต้น ต่างก็นิยมใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กันอย่างแพร่หลายทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เพราะมีความต้องการลดภาระการนำเข้าพลังงาน และตระหนักถึงการลดภาวะโลกร้อนมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cells) รวมถึงแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Modules) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
FDI จากจีนพุ่งกว่า 850.0% เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก
เซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์…ดันการส่งออกพุ่งกว่า 290.0% ในปี 2559 ในปัจจุบัน จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถส่งออกแผงเซลล์แสงอาทิตย์สู่ตลาดโลกได้ประมาณ 16.7 กิกะวัตต์ต่อปี คิดเป็นมูลค่าการส่งออกโดยรวมมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจีนได้ทำการขยายฐานการผลิตเพื่อส่งออกเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซีย เพื่อรองรับความต้องการในตลาดโลกที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จีนก็ได้ส่งสัญญาณเริ่มการขยายฐานการผลิตในไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่า มีโครงการเกี่ยวกับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดโหญ่ (มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท) ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่าสูงถึง 45,186 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 850.0% จากปี 2557 ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่เพียง 4,714 ล้านบาท และโดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวจีน โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนของรัฐบาลไทย ประกอบกับความต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) สินค้าจากจีนของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าหากบริษัทผู้ผลิตจีนมีการลงทุนผลิตตามแผนที่วางไว้ อุตสาหกรรมผลิตเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยโดยรวมน่าจะมีกำลังการผลิตพุ่งสูงกว่า 1,000 เมกะวัตต์ต่อปีในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า และในกรณีที่มีการผลิตเต็มกำลังในอนาคต ก็น่าจะส่งผลให้การผลิตโดยภาพรวมสูงกว่า 2,000 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อการส่งออกเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์โดยภาพรวมของไทยให้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
หากพิจารณาถึงการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยที่ผ่านมาก็พบว่า การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดราว 55.0% ต่อปี (CAGR: ตั้งแต่ปี 2554-2558) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากความต้องการนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นั่นเป็นเพราะธุรกิจพลังงานทดแทนในสหรัฐอเมริกาได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลผ่านรูปแบบการให้เครดิตเพื่อการลงทุน (Investment Tax Credit) ในอัตรา 30.0% และมาตรการดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2559 โดยการให้เครดิตจะลดลงเหลือ 10.0% ในปี 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน ได้มีผู้เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำการพิจารณาขยายมาตรการดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งคงต้องจับตาถึงผลการพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 ความต้องการนำเข้าเซลล์แสงอาทิตย์รวมถึงแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของสหรัฐอเมริกาน่าจะเติบโตพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากภาคธุรกิจต้องการเร่งการลงทุนเพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวที่แน่นอนภายในปี 2559
ทั้งนี้ ในปี 2558 ไทยมีการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขยายตัวสูงถึง 1,452.4% จากปี 2557 โดยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 73.2% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 160.0% ต่อปี (CAGR: ตั้งแต่ปี 2554-2558) ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการในประเทศแสวงหาโอกาสไปสู่การส่งออกมากขึ้น เพื่อทดแทนความต้องการในประเทศที่หดตัวลง อันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามการลงทุนของธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบกับการผลักดันโครงการเปิดเสรีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัยหรืออาคารภาคธุรกิจ (Solar Roof) และโครงการโซลาร์ฟาร์มในส่วนราชการของรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก อีกทั้ง ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเข้ามาลงทุนผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของนักลงทุนต่างชาติในไทยเพื่อการส่งออก
จากปัจจัยผลักดันจากการเข้ามาลงทุนผลิตเพื่อส่งออกของนักลงทุนต่างชาติตามดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2559 ไทยน่าจะสามารถส่งออกเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในปี 2559 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,540 – 8,930 ล้านบาท ขยายตัวราว 291.0 – 308.9% จากปี 2558 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 2,184.2 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงแม้ว่าการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยโดยภาพรวมจะเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่การส่งออกดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นนักลงทุนต่างชาติซึ่งใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตและส่งออกมากกว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทยรายเดิมในตลาด ทั้งนี้ ในกรณีผู้ประกอบการไทย จะมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม (Value-added) จากกระบวนการผลิตเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นในประเทศเกือบ 40.0% แต่สำหรับโครงการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละโครงการอาจมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยแตกต่างกันไป
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งความต้องการในประเทศที่หดตัวในปัจจุบัน และภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากการที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่อาจจะมีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันในเรื่องราคาและเทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการไทยในตลาดจึงควรต้องปรับตัวเน้นไปสู่การส่งออกมากขึ้น
การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยในภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นในปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแสวงหาตลาดต่างประเทศเพื่อการส่งออก น่าจะเป็นการตอบโจทย์ที่ท้าทายของผู้ประกอบการไทยในปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการอาจต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ นอกจากสหรัฐอเมริกาที่ความต้องการใช้เซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์น่าจะชะลอตัวลงในปี 2560 ภายหลังจากมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ด้านเครดิตเพื่อการลงทุนสิ้นสุดลง โดยอาจจะมุ่งเป้าการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีราคาค่าไฟเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงราว 0.208 ยูโร/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าราคาค่าไฟในสหรัฐอเมริกามากกว่าหนึ่งเท่าตัว จึงทำให้ความต้องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มประเทศดังกล่าวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2562 การติดตั้งและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มประเทศยุโรปจะพุ่งสูงถึง 158,156 เมกะวัตต์ ขยายตัวสูงถึง 80.0% จากปี 2557
นอกจากนี้ ตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีปริมาณแสงแดดและพื้นที่ที่เอื้อต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สูงถึง 57,174 เมกะวัตต์พีค ประกอบกับภาครัฐบาลในหลายๆ ประเทศก็ให้การสนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทน อย่างรัฐบาลของสปป.ลาว ได้มีการกำหนดเป้าหมายการบริโภคพลังงานทดแทนให้ได้สัดส่วนราว 30.0% ของความต้องการพลังงานทั้งหมดภายในปี 2568 รวมถึงค่าไฟฟ้าในบางประเทศมีราคาอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกัมพูชา ที่มีราคาค่าไฟฟ้าแพงที่สุดที่กลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ เนื่องด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการขนส่ง และผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปให้บริการทั้งก่อนและหลังการขายแก่ลูกค้าในกลุ่มประเทศดังกล่าวแบบครบวงจรได้ ตั้งแต่การออกแบบและติดตั้ง ไปจนถึงการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นการสร้างข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยอาจมีการส่งออกแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไปยังกลุ่ม CLMV ไม่มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 61.8 ต่อปี (CAGR: ตั้งแต่ปี 2554-2558)
สำหรับการสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดโลกในระยะยาว กลุ่มผู้ประกอบการไทยควรมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สร้างนวัตกรรมหรือปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในวัสดุผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมถูกลง เช่น การใช้เซลล์แสงอาทิตย์แบบย้อมสีไว (Dye sensitized solar cells) หรือการประยุกต์ใช้แผ่น Perovskite ซึ่งเป็นวัสดุเก็บเกี่ยวแสงทดแทนการใช้แผ่นซิลิคอนในปัจจุบัน โดย Perovskite จะสามารถดูดกลืนแสงได้ดี จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการรับแสงอาทิตย์ที่ดีกว่า อีกทั้ง มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า เพราะเกิดจากปฏิกิริยาการสังเคราะห์ทางเคมีที่ไม่ยุ่งยากมากนัก เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรมีการสรรหาพันธมิตรในต่างประเทศ เช่น การสรรหาคู่ค้าทางด้านการจัดจำหน่าย การออกแบบและติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงการให้บริการบำรุงรักษา เป็นต้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความประทับใจหลังการขาย
ขณะที่การสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันในประเทศนั้น ผู้ประกอบการควรต้องสรรหาพันธมิตรทางธุรกิจในไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับความต้องการสำหรับติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาที่พักอาศัยในอนาคต หรือแม้แต่ภาคธุรกิจที่มีต้นทุนการใช้ไฟฟ้าสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมถึงพยายามติดตามการออกนโยบายผลักดันโครงการเพื่อสนับสนุนการผลิตและบริโภคพลังงานทดแทนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการเปิดเสรีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัยในภาคครัวเรือน และโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจต้องเฝ้าระวังการเผชิญกับความเสี่ยงจากผู้ประกอบการจีนบางรายที่อาจหลีกเลี่ยงมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยมาตั้งฐานการผลิตเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในไทยเพื่อส่งอ