ชู 7.9 หมื่นกองทุนหมู่บ้าน นำร่องสร้างเศรษฐกิจฐานรากสุดแกร่ง
หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงตรงจุดไหน? ทว่าจากนี้ไป…โลกจะเกิดภาวะที่เรียกว่า “ความปกติแบบใหม่” (New Normal) ในหลายมิติและเป็นไปอย่างกว้างขวาง
เช่นกัน ในประเทศไทย ภายหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการมารับมือกับไวรัสตัวร้ายในระดับเข้นข้นขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับการออกมาตรการเยียวยาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มแรงงานรับจ้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐ รวมถึงประชาชนกลุ่มอื่นๆ โดยรัฐบาลได้เร่งดำเนินการเยียวยาแก้ไขปัญหาปากท้องและการดำรงชีพในชีวิตประจำวันอย่างขมีขมัน
ทว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่อาจมองข้ามและต้องเตรียมการรับมือเสียแต่เนิ่นๆ
นอกจากมาตรการเยียวยาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ความต่อเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นคือ การออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) นั้น เม็ดเงินจำนวน 6 แสนล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในภารกิจเพื่อการเยียวยาผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข
และอีก 4 แสนล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังจากสิ้นสุดวิกฤติไวรัสโควิด-19 แล้ว
นาทีนี้…รัฐบาลโดยความรับผิดชอบของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐนตรี ได้สั่งการให้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กลั่นกรองการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เร่งวางกรอบพิจารณาการใช้เงินตามแผนงานข้างต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับหน่วยงานราชการที่จะต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจตรงกัน และ สศช.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อจะได้นำเสนอเข้าสู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ
ก่อนนำไปสู่การกู้เงินและแจกจ่ายเงินตามโครงการที่ได้กำหนดกรอบการดำเนินการเอาไว้ในช่วงครึ่งปีหลัง
4 กรอบการพิจารณาเพื่ออนุมัติโครงการใดๆ นั้น จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่ง นายสมคิด ได้วางภาพกว้างๆ ให้ สศช. นำไปคิดต่อ นั่นคือต้องเป็น….1.โครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์, 2.โครงการพัฒนาและเพิ่มแหล่งน้ำในชนบท, 3.โครงการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ รวมถึงซ่อมแซมและทะนุบำรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ภายหลังจากที่โควิด-19 สิ้นสุดลง และ 4.โครงการเกี่ยวกับการฝึกและพัฒนาอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น
นายสมคิด ย้ำว่า หัวใจสำคัญจากนี้ไป จะต้องเน้นสร้างและจ้างงานให้มากที่สุด ทำให้คนมีอาชีพและรายได้ โดยเฉพาะการจ้างงานในชนบท เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจช่วงปลายไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ทั้งไตรมาส เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง จนเกิดการหยุดชะงัก จำเป็นจะต้องอาศัยโครงการเหล่านี้ และการปรับงบประมาณปี 2564 เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยในระยะต่อไป สศช. ต้องดูการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จากเดิมที่เคยพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยว มาเป็นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายใน
ถึงตรงนี้…หน่วยงานที่มีบาท หน้าที่ และภารกิจสอดคล้องกับแนวนโยบายข้างต้น เพราะมีเครือข่ายกว้างขวางและครอบคลุม มีความใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง นั่นคือ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ที่ นายสมคิด สวมหมวกเป็น “ประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ”
และเป็น นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สทบ. ที่ประกาศความพร้อมในการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการเน้น “สร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มคุณภาพชีวิต” ให้กับคนไทย ทั้งในระดับหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่ง สทบ.เอง เกี่ยวพันกับสมาชิกกองทุนฯกว่า 12.9 ล้านครัวเรือน และเครือข่ายในแต่ละครัวเรือนรวมกันกว่า 30 ล้านคน ใน 7.9 หมื่นกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ
“นายสมคิดได้ให้นโยบายว่า…ต่อจากนี้ไปกองทุนหมู่บ้านจะต้องมีภารกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน หรือสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ หลังจากได้เคยทำบทบาทกองทุนหมุนเวียนจนสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยหน้าที่ใหม่ภายหลังสิ้นสุดปัญหาโควิด-19 ก็คือ จะต้องมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องทำให้คณุภาพชีวิตของสมาชิกฯดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก สทบ.และกองทุนหมู่บ้าน อยู่ใกล้และติดกับคนในระบบเศรษฐกิจฐานรากมากที่สุด เมื่อเทียบกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ และด้วยความที่มีเครือข่ายครอบคลุมและกว้างไกล หากรัฐบาลจะดำเนินโครงการการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกองทุนหมู่บ้านทั้ง 7.9 หมื่นกองทุนฯ โดยมอบหมายให้ สทบ. เป็นผู้ดูแลโครงการฯแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว” นายรักษ์พงษ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ สทบ.ในยุคปัจจุบัน เน้นภารกิจ “สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิต” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เห็นได้จากการที่ นายรักษ์พงษ์ นำคณะผู้บริหาร สทบ. เดินทางลงพื้นที่กองทุนหมู่บ้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อ…ตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย และนำเอาความสำเร็จของการดำเนินงาน “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ของกองทุนหมู่บ้านบางแห่ง ไปใช้เป็น “ต้นแบบ” เพื่อขยายแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานไปยังกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ
อาทิ…โครงการ “ข้าวและอาหารทะเล” กับเพื่อนกองทุนหมู่บ้านในต่างจังหวัด, “การสร้างโรงสีข้าวขนาดเล็กของชุมชนฯ” เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อข้าวเปลือกของชาวนาที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ และรับจ้างสีข้าวสดๆ รวมถึงโคงการส่งเสริมให้ชาวบ้านและสมาชิกกองทุนฯ “ผลิตอิฐมอญ” เพื่อรับซื้อและรับจำนำในช่วงที่ยังจำหน่ายไม่ได้ โดยเฉพาะในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนแทบไม่มีการก่อสร้างใดๆ ของชุมชนทุ่งคุ้ง จ.อยุธยา
ถือเป็น “ต้นแบบ” ของแนวทางในการ…ลดรายจ่ายของชุนชนและสมาชิกกองทุนฯ รวมถึงสร้างรายได้ จากการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ในการฝึกวิชาชีพเสริมจากอาชีพหลัก นั่นคือ การเป็นเกษตรกร
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ และเป็นจุดพลิกผันสำคัญของการ “สร้างโอกาสในวิกฤต” นั่นคือ กรณีศึกษาของ ชุมชนเมือง “พระยาประสิทธิ์” เขตดุสิต กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนการตัดเย็บถุงผ้า มาเป็นผลิต “หน้ากากอนามัย” แบบผ้าหนา 3 ชั้น ที่ผู้นำชุมชนฯ ในฐานะ “ประธานกองทุนฯ” มองเห็นช่องทางการลดทอนปัญหาการขาดแคลน “หน้ากากอนามัย” ด้วยการส่งตัวแทนชุมชนฯ ไปเข้ารับการอบรม และนำมาถ่ายทอดให้เพื่อนสมาชิกฯ
กระทั่ง ทุกวันนี้ ภารกิจในการผลิต “หน้ากากอนามัย” แบบผ้าหนา 3 ชั้น, การรับจ้างผลิตถุงผ้าและถุงยังชีพ ได้กลายเป็นอีกอาชีพเสริมสำคับในการสร้างงาน สร้างรายได้ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนสมาชิกและครอบครัวในชุมชนเมืองแห่งนี้
นายรักษ์พงษ์ ย้ำว่า ไม่เพียงความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านฯทุ่งคุ้ง จ.อยุธยา และชุมชนเมือง “พระยาประสิทธิ์” หากยังมีอีกหลายกองทุนฯ ที่ประสบความสำเร็จในลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งตน และ สทบ. จะทะยอยเดินทางไปตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย และนำเอาความสำเร็จของกองทุนเหล่านี้ ไปเผยแพร่และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ
นั่นเพราะว่า…แนวทางการดำเนินงานของ สทบ. และบทบาทการทำหน้าที่ของกองทุนหมู่บ้าน ที่กระจายตัวในทุกพื้นที่ของประเทศ ล้วนเดินไปในกรอบของการ “สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิต” สอดรับกับแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนของรัฐบาลชุดนี้ อยู่แล้ว.