บจ.ตลาดหุ้นไทยกำไรปี 58 ลด1%
หวังราคาน้ำมันนิ่งหนุนปีนี้ฟื้นเร็ว บจ.ตลาดหุ้นกำไรปี58 ลดลง 1.37% เนื่องจากกลุ่มพลังงานกำไรลดจากผลกระทบของราคาน้ำมันปรับลดลง และกลุ่มธนาคารมีค่าใช้จ่ายตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ขณะที่โบรกเกอร์ประเมินในปี 2559 กำไรน่าจะฟื้นตัวดีกว่าปีก่อน เพราะคาดราคาน้ำมันถึงจุดต่ำสุดแล้ว หวังเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นกำลังซื้อกระเตื้อง หนุนให้ผลประกอบการกลุ่มหลักดีขึ้นตามด้วย
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 541บริษัท รายงานผลประกอบการงวดปี 2558 สิ้นสุดลงแล้ว โดยภาพรวมบริษัทต่างๆมีกำไรสุทธิลดลงเล็กน้อย หากเทียบจากปี 2557 โดยลดลง 1.37% ขณะที่ยอดขายรวมทั้งตลาด ลดลง 9.39%เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ การส่งออกที่ชะลอตัวในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นดีขึ้นจึงช่วยประกอบให้ภาพรวมกำไรในปี2558 ไม่ได้ลดลงไปมากนัก
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่า ขณะนี้บจ.ในตลาดหุ้นไทย 541 บริษัท หรือคิดเป็น 97.13% จากทั้งหมด 557 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และ บริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG) ได้นำส่งผลการดำเนินงานงวดปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2558 แล้ว โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 441 บริษัท คิดเป็น 81.52% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด มียอดขายรวมเท่ากับ 10,371,384 ล้านบาท ลดลง 9.35% และมีกำไรสุทธิ 696,978 ล้านบาท ลดลง 1.37% จากปีก่อน
เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง เกิดจากหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจเหล็กที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน และราคาเหล็กปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 ส่งผลให้ต้องมีการขาดทุนสินค้าคงคลังสูงขึ้น ขณะเดียวกันหมวดธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิลดลง จากการมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น (NPL)
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาผลการดำเนินงานโดยไม่รวมหมวดธุรกิจพลังงานพลังงานและสาธารณูปโภค และธุรกิจหมวดเหล็กที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติ พบว่า บจ. จะมียอดขายลดลง 1.33% แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.95% จากปีก่อนหน้า
สำหรับการผลการดำเนินงานของ บจ. ไตรมาส 4 ปี 2558 มียอดขายรวม 2,583,157 ล้านบาท ลดลง 7.50% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 170,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152.54% จากงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดปิโตรเคมีปรับดีขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง เพราะราคาน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบยืนอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2558 บจ. มียอดขายปรับดีขึ้น 2.47% และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 189.00% และเมื่อพิจารณาฐานะของกิจการพบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ 1.18 เท่า ลดลงจาก 1.23 เท่าในปี 2557
รายงานระบุว่าการที่ในปี 2558 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มน้ำมันดิบ และราคาเหล็กในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีส่วนทำให้ บจ. ในตลาดหุนไทยมียอดขายลดลงจากปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากยอดขายในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธุรกิจเหล็ก และหมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่ปรับลดลง ขณะเดียวกันมีส่วนช่วยให้ บจ. มีต้นทุนการผลิตลดลงเช่นกัน จึงทำให้ในภาพรวม บจ. มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นมาอยู่ที่ 22.31% เทียบกับ 18.69% ในปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ ในปี 2558 บจ. มีกำไรสุทธิกระจายอยู่ในทุกหมวดธุรกิจ ยกเว้นหมวดธุรกิจเหล็ก โดยมี 17 หมวดธุรกิจที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ซึ่งหมวดธุรกิจที่มีกำไรสุทธิ ยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นปรับสูงขึ้นมีถึง 9 หมวดธุรกิจ เรียงลำดับตามมูลค่ากำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พาณิชย์ อาหารและเครื่องดื่ม การแพทย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ ยานยนต์ แฟชั่น การท่องเที่ยวและสันทนาการ และบริการเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ การฟื้นตัวของกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น
“ด้านผลการดำเนินงานปี 2558 ของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปรับดีขึ้น โดย บจ. mai มียอดขาย 124,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.79% และมีกำไรสุทธิ 5,718 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.19% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 21.27% เป็น 24.33%” นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ กล่าว
สำหรับ แนวโน้มผลประกอบการ บจ.ในตลาดหุ้นไทยปี 2559 จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ พบว่า มีการประเมินว่า ภาพรวมกำไรในปี 2559 มีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2558 เนื่องจากฐานกำไรที่ต่ำ แต่คงต้องพิจารณาปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญ ที่อาจจะกดดันกำไรคือเรื่องราคาน้ำมัน และการลงทุนของภาครัฐจะมีเม็ดเงินเข้ามาเติมในระบบได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด
บล.เอเซียพลัส ระบุว่าจากผลประกอบการที่ออกมาแล้ว พบว่า กลุ่มที่มีแนวโน้มดีกว่าคาด เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนกลุ่มที่ใกล้เคียงคาด อาทิ กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มที่อิงเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มต่ำกว่าคาด
สำหรับแนวโน้มกำไรบจ.ในปีนี้ ประเมินว่า น่าจะสดใสกว่าปี2558 แม้จะมีการปรับประมาณการกำไรของกลุ่มสื่อ และไอซีทีไปแล้วในช่วงต้นปี 2559 รวมถึงยังมีตัวแปรที่สำคัญที่อาจจะกดดันกำไรปีนี้ คือเรื่องราคาน้ำมัน ที่อาจจะกดดันผลประกอบการของกลุ่มพลังงานและโรงกลั่น เนื่องจากสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งยังสูงกว่าราคาปัจจุบันที่ยังเคลื่อนไหวที่ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และค่าเฉลี่ย 2 เดือนแรกที่ 28.06 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เนื่องจากราคาน้ำมันได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ประกอบกับฐานกำไรที่ต่ำมากในปี 2558 จึงทำให้คาดว่าปีนี้กลุ่มพลังงาน จะเติบโตก้าวกระโดดไม่ยาก
คาดบจ.กำไรปีนี้ 8.4 แสนล้าน
ส่วนภาพรวมผลกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิราว 8.4 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2558 อยู่ที่ 7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 90 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ราว 20% โดยกลุ่มที่เติบโตสูงสุดเป็นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี รองลงมาคือ ธนาคารพาณิชย์ แม้ปีนี้คาดการเติบโตสินเชื่อไม่สูงมากนัก แต่เพราะไม่ต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมากเหมือนปีที่ผ่านมา จึงน่าจะเห็นการเติบโตของกำไรในระดับใกล้เคียง 10%
ทั้งนี้ หากพิจารณาระดับพีอีเรโชของตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ราว 14.7 เท่า ใกล้เคียงกับภูมิภาคเอเชีย ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย อยู่ที่ 14.5 เท่า ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 15.1 เท่า แต่ด้วยการเติบโตในอัตราที่สูงกว่า จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความโดดเด่นกว่าตลาดอื่นๆ
เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย40%
ฝ่ายวิจัยแนะนำว่า กลยุทธ์การลงทุนให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย 40% โดยให้ผสมผสานระหว่างหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลก ได้แก่ ปตท. (PTT) ไออาร์พีซี (IRPC) พีทีทีจีซี (PTTGC) กับหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ โดยเน้นหุ้นพีอีต่ำและเงินปันผลสูง อาทิ แอดวานซ์ (ADVANC) อินทัช (INTUCH) และเอเซียเสริมกิจลิสซิ่ง (ASK) รวมทั้งหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตสูง เช่น บีเจซีเอชไอ (BJCHI) และเอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) เป็นต้น
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส แสดงความเห็นว่า แนวโน้มผลประกอบการกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ ยังเติบโตได้ต่อ เพราะ ประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มไว้ที่ 36,600 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2558 ที่คาดจะมีกำไรสุทธิ 34,000 ล้านบาท โดยแรงหนุนมาจากมูลค่ายอดขายที่รอรับรู้รายได้ ซึ่งสูงกว่า 2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะพร้อมโอนในปีนี้ราว 100,000 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มยอดขายใหม่ปีนี้ ยังน่ากังวล ด้วยภาวะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ไม่ฟื้นตัวดี แต่ตัวเลขสรุปยอดขายใหม่ได้รวมในปีนี้ ต้องรอให้มีการประชุมกับแต่ละบริษัทก่อน
กลุ่มรับเหมาเติบโตไม่โดดเด่น
ด้านกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง เชื่อว่าแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ ยังเติบโตไม่โดดเด่นมากนัก เพราะโครงการขนาดใหญ่น่าจะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นส่วนมาก ซึ่งหากเริ่มงานในช่วงนั้นจริง เชื่อว่าการเติบโตของกำไรของบริษัทในกลุ่มนี้น่าจะเห็นชัดในปี 2560 มากกว่า
ลุ้นพลังงานกระเตื้อง
อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บอกว่า แนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มพลังงานปีนี้เป็นกลุ่มที่เติบโตได้โดดเด่นที่สุด ซึ่งฝ่ายวิจัยประมาณการกำไรปีนี้ไว้ที่ 173,000 ล้านบาท
“คาดว่ากำไรรวมของกลุ่มพลังงานในปีนี้จะเติบโตอย่างมาก แต่จะดีเท่ากับปี 2557 หรือก่อนหน้านั้นหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน ซึ่งฝ่ายวิจัยมองว่าภาวะอุปทานล้นตลาดในปีนี้จะลดลงจากระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันจึงมีโอกาสดีดกลับมาได้”
ไอซีที รอจัสมินชี้ชะตา
กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ในประเด็นของ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ว่าสุดท้ายจะตัดสินใจจ่ายค่าใบอนุญาตและเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ในอุตสาหกรรมหรือไม่
แต่หากพิจารณาเบื้องต้นถึงความโดดเด่นของฐานลูกค้า ส่วนแบ่งการตลาด เงินปันผล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส (ADVANC) ยังมีความโดดเด่นที่สุด ส่วนดีแทค (DTAC) แม้ผลประกอบการมีแนวโน้มอ่อนตัวลง แต่ด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลงค่อนข้างมาก ทำให้ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จึงแนะนำเข้าเก็งกำไร ขณะที่ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ยังมีความเสี่ยงมากกว่าแอดวานซ์และดีแทค โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเพิ่มทุน รวมถึงการที่บริษัทชนะการประมูลใบอนุญาต 2 ใบ อาจมีการบันทึกค่าเสื่อมมากขึ้นจนอาจพลิกเป็นขาดทุนได้
คาดกลุ่มค้าปลีกกำไรโต20%
ด้านกลุ่มค้าปลีก มองว่าการเติบโตจะมาจากการขยายสาขาใหม่เป็นหลัก แต่การเติบโตจากยอดขายสาขาเดิมยังค่อนข้างจำกัด เพราะกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้การบริโภคยังเติบโตไม่มากนัก แต่ถ้าให้เลือกหุ้นลงทุนในกลุ่มนี้ มองว่า ซีพีออลล์ (CPALL) โดดเด่นที่สุดในแง่กำไรที่มีแนวโน้มเติบโตราว 20% ในปีนี้ เพียงแต่อาจจะติดปัญหาในประเด็นของผู้บริหารในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาหุ้นยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้มากนัก
สรุปจากความเห็นของโบรกเกอร์สามารถสะท้อนให้เห็นว่า ความสามารถการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ น่าจะยังมีโอกาสฟื้นตัวได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะสนับสนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปยืนในระดับ 1400 จุดได้ไม่ยาก หมวดธุรกิจที่มีการเติบโตด้านยอดขาย กำไรสุทธิ และอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2558.