ทายาท’บีแลนด์’ทุ่มกำลังปั้น’เมืองทองธานี’สู้โควิด-19
อภิมมหาโปรเจกต์ เมืองทองธานี บนถนนแจ้งวัฒนะ โครงการที่นายอนันต์ กาญจนพาสน์ (หรือ เสี่ยช้าง) ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND ได้ทุ่มเททั้งชีวิต ในการพัฒนาที่ดินชานเมือง บนเนื้อที่มากกว่า 4,500 ไร่ ให้กลาย “เมืองขนาดย่อม” ซึ่งความ “ฝัน” ของนายอนันต์ ปราถนาที่จะให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ ครบครันไปด้วยที่อยู่อาศัย สถานที่ประกอบธุรกิจ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภครองรับ
และถึงแม้วันนี้ นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการฯบริษัท บางกอกแลนด์ฯ จะได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2563 สิริอายุได้ 80 ปี แต่หากย้อนไปดูแล้ว การนำพาบริษัทฯให้อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดทั้งชีวิต เพื่อผลักดันให้องค์กรรอดปลอดภัย
ตลอดระยะเวลาของการสร้างเมืองทองธานี เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย การจะดึงคนจำนวนหลายแสนคนเข้ามาอยู่อาศัยในโครงการ จึงเป็น”โจทย์” ที่ท้าทายนายอนันต์อย่างมาก ภายใต้การวางมาสเตอร์แพลนของการพัฒนาโครงการต่างๆในระยะเวลา 15 ปี
อย่างไรก็ตาม “บนถนนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” อาจจะไม่ถูกโรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ เมื่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงก่อนปี 2540 เริ่มมีการชะลอตัว และลุกลามจนกลายเป็นวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้หนี้สินที่บริษัทบางกอกแลนด์ฯ และส่วนที่นายอนันต์ ไปค้ำประกัน ได้เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว ส่งผลให้ ตัวเลขหนี้ พุ่งสูงถึง 52,000 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่สร้างความหนักใจ สร้างภาระอันใหญ่หลวงมาสู่บริษัทฯ
แต่นายอนันต์ ก็สามารถที่จะสางหนี้ก้อนโต ได้เป็นผลสำเร็จ และได้เริ่มที่ผลักดันให้ทายาทรุ่นที่ 3 ในการเข้ามารับไม้ต่อทางธุรกิจ เพื่อผลักดันให้อาณาจักรกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยลูกชายคนโต ปีเตอร์ รับผิดชอบบริษัทบางกอกแลนด์ฯ ส่วนนายพอลล์ ดูแลบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด
ทั้งนี้ ความชัดเจนเรื่องส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู 2 สถานี มาที่อาคารอิมแพ็คชาเลนเจอร์ และริมทะเลสาบเมืองทองธานี จะดึง “กำลังซื้อ” เข้าสู่เมืองทองธานี โดยผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือ 1.มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 3 เท่า ราคาที่ดินจะปรับสูงขึ้น 2.ยังช่วยดึงคนเข้ามาใช้บริการในอิมแพ็ค ไม่ต่ำกว่า 20-30% จากจำนวนผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ตรวมกว่า 10 ล้านคนต่อปี
และเพื่อให้ทันกับ”กำลังซื้อ”ที่จะไหลเข้ามาสู่เมืองทองธานี เบื้องต้น บางกอกแลนด์ เตรียมลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯบนแลนด์แบงก์ที่เหลืออีก 600 ไร่ คาดต้องใช้เงินในส่วนนี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับส่วนต่อขยายจากแนวรถไฟฟ้า สายสีชมพู ซึ่งจะมีสถานีส่วนต่อขยาย 2 สถานีมาที่ อาคารอิมแพ็คชาเลนเจอร์และริมทะเลสาบเมืองทองธานี
จากนี้ไป ความยิ่งใหญ่ของ “เมืองทองธานี” กับบทบาทของผู้นำรุ่นที่ 3 ท่ามกลางภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่่ยนไป และด้วยสถานการณ์วิกฤต”โควิด-19″ อาจทำให้ ผู้บริหารรุ่นใหม่ ต้องปรับแผนธุรกิจ เพื่อรองรับกับผลกระทบที่จะตามมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!!.