e-Payment จุดเปลี่ยนชีวิตคนไทย
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะพลิกโฉมรูปแบบการชำระเงินของไทยในอนาคต
เนื่องจากหลักสำคัญของแผนดังกล่าวคือการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่อทดแทนการชำระเงินแบบเงินสดอย่างครบวงจรภายในอีก 1 ปีครึ่ง สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมและกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกภาคส่วน
การชำระเงิน (Payment) หมายถึงอะไร และการชำระเงินของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร
ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของผู้บริโภคในแต่ละวันนั้น คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีการจ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหาร ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ค่าสาธารณูปโภค(ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์) รวมถึงค่าเดินทาง ซึ่งกิจกรรมต่างๆเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นการส่งมอบเงินระหว่างผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งบุคคล ร้านค้า หรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งใน ด้านของช่องทางการชำระเงินนั้น กล่าวได้ว่า ในปัจจุบันการจ่ายด้วย“เงินสด” ถือเป็นวิธีการแต่ดั้งเดิม และยังคงเป็นวิธีหลักในชำระเงินหลักของคนไทยมาตลอด แม้ว่าการถอนเงินสดจาก ATM ของธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนที่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 30% ของการทำธุรกรรมชำระเงินต่างๆ ก็ตาม (จากสัดส่วนที่ 45% เมื่อ 10 ปีก่อน) ในขณะที่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีได้ส่งผลให้มีรูปแบบการชำระเงินใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วยบริการที่สะดวกและรวดเร็ว ส่งผลให้การชำระเงินผ่าน “ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์” อาทิเช่น การโอน/ตัดเงินล่วงหน้าอัตโนมัติ บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต/ มือถือ บัตรเดบิต บัตรเครดิต มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ตามลำดับ ส่วนในด้านของตัวกลางผู้ให้บริการนั้น ธนาคารพาณิชย์ถือเป็นผู้ให้บริการหลักในการรับชำระเงิน ถึงแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีผู้ให้บริการอื่นๆที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (อาทิเช่น ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการค้าปลีก และผู้ให้บริการทางการเงินอื่น) เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ แต่การให้บริการยังคงอยู่ในขอบเขตที่จำกัดกว่า ส่งผลให้ในภาพรวมแล้วธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นผู้ให้บริการหลักในปัจจุบันด้วยสัดส่วนที่สูงกว่า 75% ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด
ช่องทาง และสัดส่วนของธุรกรรมชำระเงินในปัจจุบัน (ไม่รวมการถอนเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคาร)*
มองไปข้างหน้า …โฉมหน้าการชำระเงินในอนาคตจะเปลี่ยนไปจากการผลักดันของภาครัฐผ่านแผน National e-Payment Master Plan
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้โดยสะดวกมากขึ้น ผ่านอุปกรณ์พกพาในรูปแบบต่างๆ ผนวกกับการเดินหน้าโครงการต่างๆด้วยการผลักดันของภาครัฐ ด้วยความร่วมมือของภาคเอกชนตามแผน National e-Payment ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ภายในสิ้นปี 2560 คงจะมีผลให้ พฤติกรรมการชำระเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยแตกต่างออกไปจากปัจจุบันอย่างชัดเจนขึ้น
ผลกระทบ: ภาคครัวเรือนน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด…ผ่านการชำระเงินที่มีขีดจำกัดลดลง
ธุรกรรมการโอนเงิน/จ่ายเงินรายย่อย และการใช้การ์ดแทนเงินสดในชีวิตประจำวันจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นผลจาก
1. ความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการโอนเงิน/จ่ายเงินรายย่อย ที่จะเกิดขึ้นได้
ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านช่องทางต่างๆ ด้วยการใช้เลขบัตรประชาชน และเบอร์มือถือ ซึ่งจำได้ง่ายกว่าเลขที่บัญชีธนาคาร และยังสามารถโอนข้ามธนาคาร และข้ามค่ายของผู้ให้บริการได้ (อาทิเช่น บัญชีธนาคารไปบัญชี e-wallet ของผู้ให้บริการมือถือ เป็นต้น) ซึ่งคาดว่าทางการเองก็มีแผนในการออกแบบหน้าจอการใช้งานให้ใช้ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยคาดว่าน่าจะให้บริการได้ภายในไตรมาส 3/2559 ในขณะที่การซื้อของ จ่ายค่าบริการ หรือชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเดบิต และเครดิต ที่จะสะดวกขึ้นทั้งจากจำนวนเครื่องรับบัตรที่จะเพิ่มขึ้นตามแผน (จากปัจจุบันเครื่องรับบัตร 3 แสนกว่าเครื่องเป็น 2 ล้านกว่าเครื่อง) ครอบคลุมทั้งร้านค้าปลีกรายย่อย หรือโชว์ห่วยไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนั้น ในอนาคตอาจพัฒนาไปสู่การใช้บัตรประชาชนแทนบัตรเดบิตในการรูดชำระเงินได้ ซึ่งจะทำให้มีความสะดวกจากการที่ไม่ต้องพกบัตรหลายใบให้หนักกระเป๋า
2.ค่าธรรมเนียมการใช้บริการโอนเงินต่อรายการที่ถูกลง จากปัจจุบันที่ 10 -35 บาท จากการผลักดันของภาครัฐเพื่อให้ผู้ที่ต้องการโอนเงินด้วยมูลค่าที่ไม่สูงมากก็สามารถใช้บริการได้
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมการโอนเงินในปัจจุบัน
– มูลค่าขั้นต่ำในการชำระเงินโดยใช้บัตรได้ที่ลดลง โดยไม่ต้องลังเลว่าจะต้องซื้อขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่ร้านค้ากำหนดที่ 500-1,000 บาทในกรณีของบัตรเครดิต ซึ่งจะทำให้นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้คล่องตัวขึ้น เช่น จ่ายค่าแท็กซี่ ซื้ออาหารตามร้านทั่วไป เป็นต้น
– ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น จากการที่ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก ขณะที่บัตรต่างๆ เช่น บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มจะใช้ชิปการ์ดแทนแถบแม่เหล็กในปัจจุบัน โดยมีกำหนดการของการเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค.2559 และในอนาคตจะต่อยอดไปสู่ระบบ PIN ในการรูดซื้อของ
– การติดต่อภาครัฐที่จะมีความสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับสวัสดิการ (อาทิ เบี้ยยังชีพ การชดเชยค่ารักษาพยาบาล) การรับเงินภาษีคืน ที่จะวิ่งเข้าสู่บัญชีธนาคารหรือ e-Wallet ของผู้รับได้โดยตรง ตลอดจนการชำระภาษีที่จะมีความรวดเร็วมากขึ้น
จากภาพที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการชำระเงินด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณ 40%ไปอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50% ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเคียงได้กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐฯซึ่งมีสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่า 50% หรือที่ 89% 86% และ 80% ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของมาเลเซีย และอินโดนีเซียอยู่ที่ 45% และ 31% ของการชำระเงินรายย่อย ตามลำดับ
ผู้บริโภคที่เป็นผู้มีรายได้น้อยหรืออยู่ห่างไกล มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบมาก
ขึ้นในอนาคต เนื่องจากการชำระเงิน/โอนเงินที่สะดวกขึ้น และสามารถทำผ่านมือถือได้ ซึ่งทำให้ไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาหรือตัวแทนรับชำระเงิน ซึ่งหากผู้บริโภคเริ่มมีความคุ้นชินกับระบบการโอนเงินดังกล่าวและใช้งานมากขึ้นแล้ว ก็น่าจะสามารถต่อยอดไปถึงการเข้าถึงบริการด้านสินเชื่อ และการออม-ลงทุนในระยะถัดไปได้ เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินจะสามารถสะสมข้อมูลธุรกรรมและพฤติกรรมทางการเงินรายบุคคลสำหรับการประเมินเครดิตและให้สินเชื่อในอนาคต ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่คงต่ำกว่าสินเชื่อนอกระบบ
ผลกระทบ: ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ
– จำนวนผู้ให้บริการชำระเงินรายใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งจากการสนับสนุนของภาครัฐ ประกอบกับ
ด้วยทิศทางของปริมาณธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจะเป็นการจูงใจให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ในตลาด รวมถึง ผู้ให้บริการที่มาจากต่างประเทศ
– ธุรกิจ E-Commerce ขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้วยความสะดวกสบายในการชำระเงินที่เพิ่มขึ้น น่าจะช่วย
หนุนธุรกิจร้านค้าออนไลน์มีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบ e-Commerce และ/หรือ m-Commerce ซึ่งจะกลายเป็นช่องทางการขายใหม่ ที่มีต้นทุนต่ำให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีรายเดิมและรายใหม่ อีกทั้งเหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคเขตเมืองที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์นานขึ้น
– ลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม โดยกระทรวงการคลังระบุว่า จะลดต้นทุนได้ประมาณ75,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 0.8% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่คำนวณจากการประหยัดต้นทุนจากภาคธนาคารราว 30,000 ล้านบาทต่อปี จากการลดการพิมพ์ธนบัตร การบริหารจัดการเงินสด และเช็ค และต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินสดที่เก็บไว้ในศูนย์จัดการเงินสด รวมทั้งการประหยัดต้นทุนจากภาคธุรกิจอีก 45,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอยู่ในรูปต้นทุนที่ลดลงจากการบริหารจัดเก็บเงินสด และเช็ค การพิมพ์ และจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี เป็นต้น โดยยังไม่นับรวมการประหยัดต้นทุนด้านอื่นๆ อาทิ ด้านเวลา ด้านเอกสาร และด้านแรงงาน