โอเปก-รัสเซียไม่ผลิตน้ำมันดีหรือร้าย
ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์เรื่องราคาน้ำมัน หลังซาอุ-รัสเซียไม่ผลิตน้ำมันเพิ่ม ยังไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมในทันที แต่ระยะยาวส่งผลดีต่อสมาชิกโอเปกและซาอุดิอาระเบียในแง่ลดการขาดดุลงบประมาณ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกรายงานเรื่อง “ซาอุฯ-รัสเซีย ส่งสัญญาณบวกไม่เพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ” โดยในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า รัสเซีย กับประเทศสมาชิกในกลุ่ม OPEC ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย เวเนซุเอลา และกาตาร์ (ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 1 ใน 4 ของโลก) ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการประชุมฉุกเฉิน ณ กรุงโดฮา กาตาร์ ในวันที่ 16 ก.พ.2559 เพื่อคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ระดับเดียวกันกับเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ผลิตรายหลักอื่นๆ ต้องเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวด้วย
โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่า ผิดคาดของนักลงทุนซึ่งประ เมินไว้ว่าจะมีการลดปริมาณการผลิตจากกลุ่ม OPEC และรัสเซีย อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าข้อตกลงนี้แสดงให้เห็นถึงท่าทีในการพยุงราคาน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ที่ชัดเจนขึ้น นักลงทุนค่อนข้างผิดหวังกับข้อตกลงครั้งนี้ โดยภายหลังจากที่มีรายงานข่าวการบรรลุข้อตกลงการคงปริมาณการผลิต ราคาน้ำมันดิบ Brent ร่วงลง 4% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักที่รับข่าวเป็นตลาดแรกปรับตัวลดลงมากกว่า 1% และค่าเงินแคนาดาซึ่งมีความสัมพันธ์สูงกับสภาวะตลาดน้ำมันดิบ อ่อนค่าลง 0.5% ภายใน 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบและตลาดโลกดังกล่าวไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับผลกระทบจากความล้มเหลวในการจัดประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ในมุมมองอีไอซีจึงถือเป็นสัญญาณบวก เพราะถือเป็นการทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างกลุ่ม OPEC และ NON-OPEC หลังจากเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำมานานกว่า 1 ปี
การที่ซาอุดิอาระเบียยังไม่ลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงในครั้งนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงท่าทีในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และกดดันผู้ผลิต shale oil ในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แม้ราคาน้ำมันดิบในขณะนี้อยู่ต่ำกว่าต้นทุนผลิต shale oil ซึ่งอยู่ที่ราว 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้วก็ตาม แต่ปริมาณการผลิตจากกลุ่ม shale oil ลดลงน้อยกว่าคาดเนื่องจากผู้ผลิต ส่วนใหญ่ยังคงได้รับการช่วยเหลือจากภาคธนาคารในสหรัฐฯ อีกทั้งคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี การชะลอและยกเลิกการลงทุนในหลุมน้ำมัน shale oil ใหม่ๆ ของสหรัฐฯ ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบที่จะค่อยๆ ลดลงในหลุมน้ำมันเก่าจะทำให้อุปทานจากกลุ่ม shale oil ลดลงชัดเจนมากขึ้นในอีก 1-2 ปี
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนท่าทีของซาอุดิอาระเบียในครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดดุลงบประมาณของประเทศในกลุ่ม OPEC ที่รุนแรงกว่าคาดดุลงบประมาณของซาอุดิอาระเบียและสมาชิกบางรายในกลุ่ม OPEC ได้รับผล กระทบค่อนข้างรุนแรงจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ โดยรายงานของ IMF ได้ประเมินว่าซาอุดิอาระเบียจะมีโอกาสล้มละลายได้ภายใน 5 ปี หากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งการเปลี่ยนท่าทีในครั้งนี้จะส่งผลบวกต่อเสถียรภาพและทิศทางของราคาน้ำมันดิบมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาส่วนแบ่งตลาด และสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิต shale oil ได้ต่อไป
ทั้งนี้ อีไอซีคาดราคาน้ำมันดิบในปี 2559 ยังมีความผันผวน แต่มีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังจากการเริ่มเข้าสู่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบ การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุปทานน้ำมันดิบไม่เพิ่มไปกว่าเดิมมากนัก โดยอีไอซีคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2016 ราคาน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ และจะค่อยๆ ปรับระดับสูงขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง จากการเริ่มเข้าสู่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสถานการณ์ของกลุ่ม OPEC และรัสเซีย ว่าจะมีท่าทีในการช่วยพยุงราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีกหรือไม่
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่มาก จากแนวโน้มการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่จะเพิ่มขึ้น และความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันดิบ ซึ่งคาดว่าอิหร่านมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบขึ้นราว 0.6-1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มปริมาณการส่งออกอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นปัจจัยเสี่ยงให้อุปทานน้ำมันดิบโลกเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบอาจจะไม่เติบโตตามที่คาดไว้