เคอร์ฟิวส์ – ม.เศรษฐกิจเฟส 3 ไปกันได้ดีไหม?
“นายกฯประยุทธ์” เพิ่มยาแรง! ให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สั่งปิดเคอร์ฟิวส์ “สี่ทุมยันตีสี่” เริ่ม 3 เม.ย.นี้ ขณะเดียวกัน จับตา มาตรการเศรษฐกิจ เฟส 3 ที่ “รองฯสมคิด” หวังนำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ควบคู่กับมาตรการและงบประมาณก้อนใหม่ จะเสนอทัน ครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษ วันศุกร์นี้หรือไม่? และจะเดินไปด้วยกันได้ดีแค่ไหน?
การประกาศ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทั่วราชอาณาจักร เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรโน สายพันธุ์2019 (COVID-19) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีค. – 30 เมย.2563
ถือเป็น “เดิมพัน” ที่สูงมาก สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
ถึงขั้นประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ นั่นแปลว่า…พล.อ.ประยุทธ์ และทีมงานฯ มองเห็น COVID-19 เป็นตัวอันตรายที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง หลายมิติ จำเป็นจะต้อง “สยบ” ให้เร็วที่สุด!
แต่เพราะ “ทีมเวิร์ก” ไม่สู้จะดีนัก อาการ “ต่างคนต่างทำ” ของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ จึงทำให้ แทนที่จะมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมาก่อน
จากนั้นกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใหญ่ๆ ค่อยประกาศ…สั่งปิด “พื้นที่เสี่ยง”
ตามติดกันไป…กระทรวงการคลัง ออกมาตรการเศรษฐกิจช่วยเหลือแรงงาน ทั้งในและนอกระบบประกันสังคม โดยเฉพาะ แรงงานในภาคบริการ ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการ “สั่งปิด” สถานบันเทิง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ อีกมากมาย
มาตรการช่วยเหลือเยียวยา “ห้าพันบาท” 3 เดือน ต้องทำให้แรง เร็ว และทั่วถึง ที่สำคัญ…ต้องไม่ยุ่งยาก!
พร้อมกันนั้น ภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ ที่คุมการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค จะต้องประกาศให้ชัด! ว่า ในบ้านเมืองนี้ “สินค้าในกลุ่มข้าวปลาอาหาร ข้าสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุง สารพัด” มีมากมายระดับ “เหลือเฟือ” จนไม่ต้องไปแก่งแย่ง…กันกักตุน
ไล่เรียงกันตาม “ไทม์ไลน์” อย่างนี้…เชื่อว่า มาตรการที่มาพร้อมกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น่าจะเอาอยู่
หมายถึง การ “ตรึง” ให้แรงงานฯและผู้คนที่ได้รับผลกระทบจาก…นโยบาย มาตรการ และคำสั่ง ของรัฐ ได้อยู่กับที่ อันจะทำให้การ “กักตัว” อยู่ในที่พักอาศัย ไม่สร้างปัญหา “กระจายดาว” แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆ
ครบ 14 วัน…คนกลุ่มนี้ ค่อยไปขอหนังสือรับรองทางการแพทย์ สำหรับเดินทางกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด
แต่เพราะ “เล่นผิดและลัดคิว” ตลอดจน “แย่งซีน” กันจนเละ! ผลมันจึงเป็นอย่างที่เห็น
แทนที่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน! ซึ่งถือเป็น “ยาแรง” มากพอจะหยุดยั้ง สงครามสยบไวรัสโควิด-19 ควรจะทำได้ในระยะเวลาที่กำหนด คือ “1 เดือนเศษ” (26 มี.ค. – 30 เม.ย.) ถึงตอนนี้…คงไม่ใช่แล้ว และอาจมีการ ขยายระยะเวลาออกไปจนครบ 3 เดือน หรือมากกว่านั้น?
จากเบาไปหาหนัก…คือ การโยนก้อนหินถามทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันแรกที่ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว
ที่สุด! เมื่อสิ่งที่คาดหวังไม่สัมฤทธิ์ผล นั่นคือ…ยอดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ยังคงลุกลามไปทั่วประเทศ เพิ่มจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อฯสะสม จนทะลุเกิน “หลักพันต้นๆ” และมีคนตายเพิ่มขึ้น จนน่าเป็นห่วง
ขณะที่ ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่จะให้บรรดาคุณหมอและบุคลากรทางการแพทย์ ได้สวมใส่เพื่อป้องกันในสนามรบ ยามต้องเผชิญหน้ากับไวรัสตัวร้าย…กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจ เตียงนอนสำหรับผู้ป่วยฯ หน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์ และอื่นๆ อีกมากมาย
จนต้องมี การประกาศขอรับบริจาคกันข่มเมือง! ประจานรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถืองบประมาณระดับ 3 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 และหากนับย้อนหลังไปตลอด 6 ปีเศษ นับแต่เป็น “รัฐบาล คสช.” แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงบประมาณรวมกันมากกว่า 15 ล้านล้านบาท
เป็นไปได้ยังไง ที่ปล่อยให้โรงพยาบาลต่างๆ ประกาศขอรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศได้ถึงเพียงนี้
แม้บางเสียงที่พรั่งพรูออกมา จะมีบ้างที่เป็นกลุ่ม “ผสมโรง” อย่างเป็นนัยสำคัญ แต่คนไทยเกือบทั้งหมด เห็นและเชื่อเช่นกัน กล่าวคือ…รัฐบาลมีเงินงบประมาณแต่ละปี มากมายขนาดนี้ ปล่อยให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ขาดแคลน “อาวุธ” ในการสู้ศึกกับไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร?
หลัง “6 โมงเย็น”ของวันที่ 2 เม.ย.นี้ คนไทย คงได้เห็นการไต่ระดับของมาตรการ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเพิ่มดีกรีความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก
เนื่องจากช่วงสายวันเดียวกันนี้ เป็น พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประชุมร่วมกับ ศอฉ.โควิด-19 โดยมีการยืนยันจากนักข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ว่า นายกรัฐมนตรีจะแถลงผ่าน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่อ “ประกาศเคอร์ฟิว ทั่วประเทศ” มีผลบังคับ “ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน” ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2563 เป็นต้นไป
ยกเว้น! ผู้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ การขนส่งเวชภัณฑ์ การขนส่งผู้ป่วย การขนส่งด้านพลังงาน และการขนย้ายประชาชนสู่พื้นที่ควบคุม
ไม่เพียงแค่นั้น…รัฐบาลไทยยังจะประกาศให้มีการชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทยจากต่างประเทศ ลากยาวไปจนถึงวันที่ 15 เม.ย.2563
แต่ย้ำว่า งานไม่ใช่การ “Lock Donw” หรือการ “ปิดประเทศ” ทั้งหมดเป็นเพียงแค่…การ “ชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทย” เท่านั้น
แน่นอนว่า…ผลจากการเพิ่มระดับความเข้มของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย่อมกระทบทั้งวิถีชีวิตของคนไทย และธุรกิจน้อยใหญ่ของคนไทย โดยเฉพาะร้านรวงในยามราตรี เรื่อยไปจนถึงร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น อีเลิฟเว่น, แมคโคร, โลตัส, บิ๊กซี ฯลฯ
ต้องจับตาดูกันว่า…ระหว่างวัน ของวันที่ 2 เม.ย. ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ซึ่ง นายสมคิด เคยแถลงว่า…จะเน้นมาตรการที่ยึดโยงกับหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ยกระดับ “เศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น” ให้มีความเข็มแข็งนั้น
จะถูกนำเสนอได้ทันในการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ” ในวันที่ 3 เม.ย.หรือไม่? และทั้ง การประกาศเคอร์ฟิวส์ กับมาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 จะเดินไปด้วยกันได้ดีระดับใด? แค่ไหน?
เพราะในทุกท่วงท่า และทุกความเคลื่อนไหว ในมิติที่สัมพันธ์กับทุกๆ มาตรการเศรษฐิจ ที่จะมีออกมานั้น เป็นอะไรที่คนไทย ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ยันนายทุนขนาดใหญ่ ต่างให้ความสนใจอย่างมาก
เพราะ “เดิมพัน” นี้ มี เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะไหลเข้าสู่กระเป๋าของคนไทย ก่อนจะไหลสู่ระบบเศรษฐกิจ และ สุดท้าย…ไหลไปยัง “ท้องพระคลังราษฎร์” ของนายทุนขนาดใหญ่เหล่านั้น หรือไม่?.