ประเทศไทย 2559
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้า ถ้าเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเขตเศรษฐกิจยุโรปมีการฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่รัสเซียไม่เผชิญกับผลกระทบจากราคาน้ำมันตกต่ำร้ายแรงเกินกว่าที่คาดการณ์มากนัก
ก็ย่อมส่งปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2559 โดยเฉพาะในด้านการส่งออกอย่างแน่นอน ส่วนสถานการณ์ทั่วไปในบ้านเรานั้น ในปีใหม่ที่จะถึงนี้ก็คงเริ่มเข้าที่เข้าทางและมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นไปอีก หลังผ่านพ้นการทำรัฐประหาร และเหตุก่อการร้ายกลางกรุงฯ มานานพอสมควร ซึ่งน่าจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากกว่าในปีก่อน สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษในปีนี้ คือการลงทุนเพื่อปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นได้พอสมควร
ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่เปรียบได้กับปีเริ่มประเทศกันอีกครั้งนี้ เรามาประมวลภาพสะท้อนความเป็นประเทศไทยในหลากแง่มุมที่เคยปรากฏตามสื่อต่างๆ ทั้งไทยและเทศในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการอัพสถานภาพความเป็นประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ ให้ได้รับรู้กัน
ระดับคุณภาพชีวิต – อ้างอิงจาก Quality of Life Index 2015 ดรรชนีวัดคุณภาพชีวิตผู้คนทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย Numbeo (www.numbeo.com) คลังข้อมูลเกี่ยวกับหัวเมืองและประเทศต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเวลานี้ โดยประเมินจากผลสำรวจความคิดเห็นจากมนุษย์ออนไลน์ในด้านต่างๆ อาทิ ความปลอดภัย, สาธารณสุข, ปัญหาการจราจร, ระดับค่าครองชีพ, ราคาอสังหาริมทรัพย์, สภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผลปรากฏว่า ประเทศไทยของเราติดอันดับที่ 46 โดยได้คะแนน 68.5 เรียกว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมาก เมื่อเทียบกับอันดับหนึ่งอย่างสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ไป 285.77 คะแนน แต่ถ้าไปเทียบกับคิวบา ซึ่งรั้งตำแหน่งประเทศที่มีคุณภาพชีวิตแย่ที่สุดประจำปีนี้ด้วยคะแนน – 90.61 ก็นับว่าประเทศเราก็ไม่เลวร้ายเท่าไรนัก หากตีวงแคบเข้ามาวัดกันเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เรามีคุณภาพชีวิตดีกว่าจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ยังคงเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย
ความมั่งคั่ง – กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้มีการจัดอันดับภาพรวมทางเศรษฐกิจโดยวัดจากรายได้เฉลี่ยต่อคนของประชากรในแต่ละประเทศในปี 2015 ประเทศไทยปัจจุบันรั้งอันดับที่ 82 ของโลก(ขยับขึ้นจากอันดับ 85 ในปีที่แล้ว) โดยประชากรในประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 14,980 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 494,000 บาท ห่างไกลจากประเทศกาตาร์ ที่ติดอันดับประเทศร่ำรวยที่สุดในโลกต่อเนื่องมาหลายปี โดยมีตัวเลขรายได้ประชาชาติโดยวัดจากรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 143,532 เหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 4,736,000 บาท
อย่างไรก็ตาม หากตัดสินเอาตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ด้านความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ(purchasing power parity) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการวัดคุณภาพชีวิต และค่าครองชีพของแต่ละประเทศได้ โดยขจัดปัญหาในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนออกไป ตามฐานข้อมูลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ(The WORLD FACTBOOK) ได้จัดฐานะของประเทศไทยเราไว้ที่อันดับ 22 ของโลก
สำหรับความมั่งคั่งของคนไทยแบบรายบุคคล เจ้าของตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของไทยในปีนี้ตามโผของนิตยสาร FORBS ได้แก่ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีทรัพย์สินราว 462,400 ล้านบาท ติดอันดับที่ 81 ในกลุ่มคนรวยที่สุดในโลกประจำปี 2015
ความน่าลงทุน – ในรายงาน Doing Business 2014/15 ที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นคู่มือในการตัดสินใจประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ประเทศไทยเราติดอันดับที่ 49 ในหัวข้อ”ประเทศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ” โดยสิงคโปร์ยังคงครองอันดับ 1 จากจำนวน 189 ประเทศทั่วโลก เรียกว่าค่อนข้างตกต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีตซึ่งเราเคยรั้งตำแหน่งในอันดับที่สิบกว่าๆ ก็ได้แต่หวังว่าหากมีการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศเราคงเป็นที่ต้องตาน่าลงทุนจากทั่วโลกมากกว่านี้ (www.doingbusiness.org/data/exploreeconomies/thailand)
ส่วนในรายงาน The Global Competitiveness Report 2015-2016 ของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (www.weforum.org)นั้น จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 140 ประเทศ ที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก แต่ถ้าเทียบกันในระดับภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว เราติดโผ 1 ใน 10 แม้ว่าจะเป็นตำแหน่งบ๊วยก็ตามที
แสนยานุภาพทางทหาร – อ้างอิงจากเว็บไซท์จัดอันดับกองกำลังทหารทั่วโลกที่น่าเชื่อถือ อย่าง www.businessinsider.com ระบุว่าผลพวงจากการทำรัฐประหารในปี 2557 และการปกครองโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ส่งผลให้แสนยานุภาพกองทัพไทยขยับขึ้นไปติดอันดับที่ 16 ในกลุ่ม 20 ชาติมหาอำนาจทางการทหารของโลกในปีนี้ โดยมีงบประมาณกลาโหมราว 190,000 ล้านบาท มีกำลังพลพร้อมรบราว 306,000 นาย, รถถังราว 722 คัน, เครื่องบินราว 573 ลำ, มีเรือบรรทุกอากาศยาน 1 ลำ แต่ไม่มีฝูงบินประจำการ และยังไม่มีเรือดำน้ำ
สถิติอาชญากรรม – ตามรายงานของหน่วยงานอาชญากรรมและยาเสพติดในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ(UNODC) ระบุว่าประเทศไทยเรามีสถิติก่อคดีฆาตกรรมโดยเฉลี่ยราว 5 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน(ราว 3,250 รายจากจำนวนประชากรราว 65 ล้านคน) ติดอันดับ 104 ใน 218 ประเทศทั่วโลก ซึ่งยังนับว่าห่างไกลมากจากประเทศฮอนดูรัสซึ่งครองอันดับ 1 ด้วยสถิติการฆ่ากันสูงถึง 90.4 รายต่อประชากรแสนคน
จากรายงานสรุปสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับฐานความผิดคดีอาญา ภายในรอบปี 2558 พบว่า กลุ่มฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ มีการรับแจ้ง 27,607 ราย และกลุ่มฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ รับแจ้ง 75,557 ราย และตำรวจสามารถจับกุมได้ คิดเป็นร้อยละ 83.70 ของคดีที่รับคำร้องทุกข์ทั้งหมด และเมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า แนวโน้มการกระทำความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ และอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ โดยเฉพาะคดีชิงทรัพย์ ลักทรัพย์ ฉ้อโกง และยักยอกทรัพย์ มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2559 โดยมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
มาตรฐานการศึกษา – อยากรู้ว่ามหาวิทยาลัยที่เรากำลังศึกษาอยู่ระดับไหน ต้องเข้าไปตรวจโผของ Webometrics Ranking of World Universities (www.webometrics.info) ดรรชนีวัดคุณภาพมหาวิทยาลัย 4,000 แห่งทั่วโลก จัดทำขึ้นโดย คณะวิจัยไซเบอร์ เมทริกส์ แล็บ แห่งสภาวิจัยแห่งชาติสเปน ซึ่งประมวลเอาจากความสามารถในการผลิตบุคลากร วิสัยทัศน์ทางการศึกษา ผลงานจากการวิจัย และอิทธิพลที่มีต่อสังคม
จุดที่น่าสนใจในปีนี้ คือ เรามีมหาวิทยาลัยที่ติดในกลุ่ม 500 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมากถึง 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล(อันดับที่ 299), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(อันดับโลกอยู่ที่ 372), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(อันดับที่ 422), มหาวิทยาลัยขอนแก่น(อันดับที่ 466) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(อันดับที่ 481)
สำหรับตำแหน่งมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สุดของโลกในเวลานี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ในสหรัฐฯ ขณะที่ตำแหน่งสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดในเอเชียตกเป็นของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
สาธารณสุข – ในปีนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังคงเสียชีวิตด้วยอาการป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs:Non-Communicable diseases) ซึ่งก็ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ เหล้า บุหรี่ อาหาร(รสหวาน-มัน-เค็มจัด) การออกกำลังกายไม่เพียงพอ ความเครียด และกรรมพันธุ์
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุประชากรทั่วโลกเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs 63% และที่สำคัญเป็นประชากรในประเทศกำลังพัฒนาถึง 80% ขณะที่คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคนี้สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของประชากรทั้งโลกถึง 10% ซึ่งสูงกว่าทุกประเทศในโลก และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนโรคติดต่อร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง อย่าง เอดส์นั้น จากรายงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS: www.unaids.org) พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2557 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมทั่วโลก 36.9 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ 1.2 ล้านคน
ส่วนในประเทศไทยจากการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่มีการระบาดจนถึงปี 2558 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์เป็นผู้ใหญ่สะสมแล้วทั้งสิ้น 1,201,839 คน จากจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่ 426,707 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,324 คน โดยร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ล้วนเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ผู้ติดเชื้อร้อยละ 46.7 เป็นพวกนิยมไม้ป่าเดียวกันและสาวประเภทสอง (ย้อนกลับไปในปีพ.ศ.2532 เรามีผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์เต็มขั้นเพียงแค่ 43 รายเท่านั้น )
เมืองแฟชั่น – ผลการสำรวจที่จัดขึ้นโดย”เดอะ โกลบอล แลงเกวจ มอนิเตอร์” ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ยกให้กรุงเทพเมืองฟ้าอมรของเราติดอันดับที่ 50 ของสุดยอดเมืองแฟชั่นชั้นนำของโลกประจำปี 2558 หรือ The Top 56 Global Fashion Capital 2015 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำทีเดียว ขณะที่เจ้าของตำแหน่งสุดยอดอันดับ 1-5 เรียงตามลำดับ ได้แก่ ปารีส, นิวยอร์ค, ลอนดอน, ลอสแองเจลิส และโรม (www.languagemonitor.com)
เสน่ห์เมืองไทย – จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยวระบุว่า ในปีนี้ไทยเราน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน และสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลนับกว่า 2.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากเมื่อปีที่แล้วมากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ และถ้าสถานการณ์บ้านเมืองเรียบร้อยดี ก็จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนกันอย่างล้นหลามอีกในปีหน้าอย่างแน่นอน
เมืองไทยเรานั้นมีอะไรน่าดูน่าสนใจทางการท่องเที่ยวมากมาย เฉพาะเมืองกรุงเทพฯ แห่งเดียวก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างมหาศาลแล้ว ยืนยันได้จากผลสำรวจประจำปีของ The MasterCard Global Destinations Cities Index ซึ่งยกให้เมืองกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายยอดนิยมอันดับที่ 2 ของเมืองท่องเที่ยวทั้งหมด 132 แห่งทั่วโลก โดยคาดว่ามีจำนวนตัวเลขผู้มาเยือนมากถึง 18.24 ล้านคนภายในปี 2015 นี้ น้อยกว่าคนไปเที่ยวมหานครลอนดอน เจ้าของอันดับที่ 1 ในปีนี้ เพียงแค่หลักไม่กี่แสนคนเท่านั้นเอง
นับตั้งแต่มาสเตอร์การ์ดเริ่มทำการจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมมาตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน กรุงเทพฯ เราเคยแซงหน้าลอนดอนขึ้นไปครองอันดับ 1 มาแล้วถึง 2 ครั้ง ในปี 2012 และ 2013