ชำแหละทีพีพี!ใครได้!ใครเสีย!
ข้อตกลงเขตการค้าเสรี “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” (ทีพีพี) ที่มีประเทศแถบริมมหาสมุทรแปซิฟิก 12 ประเทศร่วมเป็นภาคี ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไนฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก ชิลี และเปรู โดยผู้แทนจากกลุ่มประเทศภาคีทั้ง 12 ชาติดังกล่าวได้บรรลุข้อตกลงกันเมื่อช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปก็แค่รอให้รัฐสภาในแต่ละประเทศภาคีให้สัตยาบันรับรองก็ถือว่าบังคับใช้ได้ แต่คงไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากเพราะกระแสต่อต้านก็มีเยอะ
หากว่ากันถึงขนาดเศรษฐกิจ “ทีพีพี” เขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาซึ่งเดิมทีเคยเป็นแค่ข้อตกลงการค้าก๊วนเล็กๆที่เซ็นร่วมมือกันเมื่อ 10 ปีก่อน ระหว่าง บรูไนฯ ชิลี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ รวมกันแล้วจะคิดเป็น 40% ของการค้าทั่วโลก และมีประชากรในหมู่สมาชิกรวมกันราว 800 ล้านคน ภายใต้ข้อตกลงทีพีพีที่เน้นผสานประโยชน์กันทั้งด้านการค้า การลงทุน และบริการ โดยจะมีทั้งลด และยกเลิกภาษีสินค้าขาเข้าหลายรายการระหว่างกลุ่มสมาชิกรวม 98% ไล่ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์อาหารไปจนถึง ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์นม น้ำตาล และพลังงาน ฯลฯ นอกเหนือจากการขีดเส้นการค้า การลงทุน และระเบียบการทำธุรกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ตามหลักการสวยหรูของทีพีพีก็อาจเรียกได้ว่ากลุ่มสมาชิกภาคีไม่ว่าจะนำเข้า หรือส่งออกสินค้าล้วนคาดหวังกำไรล่วงหน้าได้เลยเพราะเก็บภาษีอากรถูกหรือไม่ก็อาจไม่เก็บเลยในบางรายการ
และเมื่อวันที่ 6 พ.ย. เพิ่งมีการเผยแพร่เอกสารรายละเอียดข้อตกลงทีพีพีออกมาให้สาธารณะชนรับรู้แบบหนาเตอะมากถึง 6,000 หน้า ใครอ่านจบคงมีตาลายกันหลายตลบ อันเป็นการคิ๊กออฟเริ่มช่วงเวลา 90 วันต่อจากนี้ไปเพื่อให้ภาคการเมืองในรัฐสภาของแต่ละประเทศสมาชิกได้ถกอภิปรายเพื่อให้สัตยาบันรับรองต่อไป
ส่วนกรณีของสหรัฐฯ หากสภาคองเกรสเคาะโต๊ะโอเคไฟเขียวผ่านฉลุย ทีพีพีจะถือคือหนึ่งในความสำเร็จการผลักดันนโยบายครั้งใหญ่ในการดำรงตำแหน่งเทอม 2 ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ และเป็นผลงานชิ้นโบแดงเข้าขั้นเป็นซิกเนเจอร์ พิสูจน์ฝีมือการบริหารประเทศของผู้นำสหรัฐฯ รายนี้เลยทีเดียว
ผู้นำอีกหนึ่งคนที่ถูกมองว่าได้ยิ้มหน้าบานก็คือนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ในฐานะผู้ร่วมผลักดันเต็มสูบไม่ต่างจากโอบามาจนบรรลุผล ได้ทีพีพีมาช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ทั้งซบเซา และถดถอยต่อเนื่องมาหลายปี ส่วนผลพลอยได้ที่เป็นบาย-โปรดักต์ สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นยังสามารถใช้ทีพีพีง้างงัดอิทธิพลของจีนไปในตัวได้ด้วย
แต่การเดินหน้าลุยผลักดันทำให้โอบามาเสียเพื่อนไปก็เยอะ เมื่อเขาเลือกจับมือกับฝ่ายค้านรีพับลิกัน เพื่อให้ได้อำนาจพิเศษประธานาธิบดีสามารถเร่งกระบวนการหรือข้ามขั้นตอนยุ่งยากเพื่อให้ข้อตกลงการค้าได้โดยเร็ว เพื่อป้องกันการเสียเวลาถูกตีรวนกวนน้ำให้ขุ่นในสภา อภิปรายเยิ่นเย้อลงไม่เป็น เพียงเพื่อหวังเตะถ่วงไม่ให้ผ่านสภาง่ายๆ และยังสามารถใช้ป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขรายละเอียดข้อตกลงระหว่างการพิจารณา 90 วันได้ด้วย
แม้แต่คนพรรคเดโมแครตโดยส่วนใหญ่ยังส่ายหน้าในเรื่องนี้ รวมทั้งผู้สมัครหวังชิงเก้าอี้ตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อไปชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีปลายปีหน้าทั้ง 3 คนรวมทั้งนางฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง และรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สมัครตัวเต็ง ยังประกาศไม่เอาข้อตกลงทีพีพี เพราะมองว่าไม่ได้มุ่งเน้นปกป้องคุ้มครองภาคแรงงานชาวอเมริกันโดยแท้จริง
ข้อวิตกทำนองเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นในประเทศสมาชิกอื่นๆด้วย โดยเห็นว่าผู้ได้ประโยชน์จริงๆ ก็คือ กลุ่มบริษัทนายทุนใหญ่ๆ ภาคเกษตรกร และประชาชนคนรากหญ้า เดือดร้อนไปเต็มๆ เพราะหลายประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่น และแคนาดา ต่างต้องเปิดตลาดภายในรองรับผลิตภัณฑ์นม และอาหารนำเข้าจากกลุ่มประเทศภาคีอื่นๆ ตามข้อตกลง อีกทั้งยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นข้อตกลงอีลิท กลุ่มคนชนชั้นระดับผู้นำนั่งโต๊ะเจรจาต้าอ่วยกันแบบลับๆ ชาวบ้านไม่รู้เรื่องด้วย ขาดการมีส่วนร่วมในภาพรวมแม้จะเป็นเรื่องที่สุดท้ายจะต้องวกกลับมากระทบชาวบ้านโดยตรงก็ตาม
ด้วยข้อห่วงกังวลส่วนนี้เลยได้เห็นม็อบชาวบ้านชุมนุมต่อต้านกันบ้างแล้ว อย่างเช่น ม็อบผู้เลี้ยงโคนมในแคนาดาที่พากันจูงวัวนม และขับรถไถมาก่อม็อบหน้าถนนทางเข้าอาคารรัฐสภา เป็นต้น ขณะเดียวกันยังถูกวิจารณ์ว่าทีพีพีไม่ได้กินความครอบคลุมเรื่องสำคัญของโลกอย่าง ปัญหาโลกร้อน และข้อวิตกอื่นๆอีกหลายเรื่อง
แม้มีเป้าประสงค์มุ่งขจัดภาษีอากรสินค้านำเข้าระหว่างกัน แต่ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรม และทุกเซ็คเตอร์ที่จะได้ประโยชน์จากข้อตกลงทีพีพี ส่วนจะมีเซ็คเตอร์ไหนได้ ส่วนไหนเสียบ้างก็พอมีรายละเอียดมาเล่าให้ฟังได้บ้าง โดยขอแบ่งซอยย่อยเป็นภาคๆดังต่อไปนี้ (ข้อมูล : สำนักข่าวบีบีซี)
อุตสาหกรรมรถยนต์
ทั้งโลกนี้ ถ้าจะพูดถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของโลกที่อยู่ในญี่ปุ่น อย่างเช่น โตโยต้า และฮอนด้า จะมีส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่ได้ประโยชน์จากทีพีพี เมื่อจะเสียภาษีถูกลงเมื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นอาจผลิตหรือประกอบรถยนต์ในสหรัฐฯ โดยใช้ชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากแหล่งผลิตอื่นๆ ในเอเชียได้ด้วย เนื่องจากข้อตกลงทีพีพีกำหนดปริมาณขั้นต่ำของการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตท้องถิ่นไว้ด้วยหากใช้ของท้องถิ่นครบตามเกณฑ์จะใช้ของจากที่อื่นๆ ก็ไม่มีปัญหา ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ ก็น่าจะได้อานิสงส์ไม่น้อย ถ้าภาษีอากรที่เก็บกันสูงถึง 70% ในกลุ่มประเทศตลาดกำลังเติบโต อย่างใน เวียดนาม ถูกยกเลิกออกไป
ภาคเกษตร
กลุ่มเกษตรกร และบริษัทที่เกี่ยวข้องผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีกของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบัน บางกรณีบางอย่างเก็บภาษีสูงถึง 40% จะได้ประโยชน์เต็มๆ ถ้าภาษีส่วนนี้ถูกปรับลดลง หรือไม่ก็ยกเลิกทิ้งไปเลย ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ถั่วเหลืองของสหรัฐฯ อาจถูกเก็บภาษีได้สูงถึง 35% ขณะที่กลุ่มผู้เลี้ยงวัวเนื้อในสหรัฐฯ ก็มีสิทธิ์รับผลประโยชน์ ถ้ามีการลดหรือยกเลิกภาษีเมื่อส่งออกเนื้อวัวไปที่ญี่ปุ่น เม็กซิโก และแคนาดา ตลอด 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ อาจจะเห็นภาษีถูกยกเลิกมากถึงร 98% รวมทั้งผลิตภัณฑ์นม น้ำตาล ข้าว ไวน์ และอาหารทะเล ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก อย่าง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงทีพีพีในกรณีที่ชาติสมาชิกต้องเปิดตลาดภายในรับของจากทั้งสองประเทศดังกล่าว
ตลาดงานท้องถิ่น
กลุ่มแรงงานต่างๆ กำลังวิตกกันว่าทีพีพีจะทำให้ตำแหน่งงานถูกโยกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯไปที่กลุ่มประเทศอื่นๆที่มีค่าจ้างถูกกว่าหรือที่มีกฎหมายแรงงานไม่เข้มงวดเท่า และจะทำให้เกิดการแข่งขันตลาดแรงงานในกลุ่มสมาชิกอย่างเข้มข้น โดยมีเวียดนามถูกพิจารณาว่าจะอยู่ในกลุ่มผู้ฟันประโยชน์ในส่วนนี้มากที่สุด นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าทีพีพีจะดันตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนามโตได้ถึง 11% ตลอด 10 ปีข้างหน้า เมื่อบริษัทต่างๆเลือกย้ายโรงงานไปอยู่ประเทศที่มีอัตราค่าจ้างไม่สูง แต่ตรงข้าม สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยจำต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเช่น การที่ต้องประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศขึ้นฯ
กลุ่มบริษัทผู้ผลิตยา
ข้อตกลงทีพีพี กำหนดช่วงเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์ยาตัวใหม่ที่ผลิตโดยเทคโนโลยีชีวภาพ หรือยาราคาแพงที่ผลิตในเซลส์มีชีวิต แค่ 8 ปี น้อยกว่า 12 ปี ที่สหรัฐฯ พยายามผลักดัน ส่วนกลุ่มนักเคลื่อนไหวพยายามโต้แย้งว่าทีพีพีที่ขวางบริษัทคู่แข่งไม่ให้ผลิตตัวยาสำเนาหรือยาที่คุณสมบัติเทียบเท่าใกล้เคียงออกสู่ตลาด จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ยาตามแพทย์สั่งหรือยาสามัญทั่วไปราคาแพงขึ้น และยิ่งแพงมากขึ้นสำหรับผู้คนที่อยู่ในกลุ่มประเทศยากจนกว่า อีกทั้งจะส่งผลต่องบประมาณด้านหลักประกันสุขภาพในประเทศนั้นๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงตัวยาสำคัญจำเป็นได้ โดยเรื่องนี้ ยังมีเสียงแสดงความเป็นห่วงมาจากนางมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงเมื่อวันที่12 พ.ย.นี้เองว่า โดยห่วงว่าหากข้อตกลงทีพีพีเริ่มบังคับใช้อาจส่งผลต่อระบบรักษาสุขภาพ และปิดประตูสู่การเข้าถึงยารักษาโรคที่คนทั่วไปสามารถจ่ายได้ จึงขอตั้งคำถามว่านี่จะถือคือความก้าวหน้าที่แท้จริงโดยประการทั้งปวงได้หรือไม่
กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี
กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง กูเกิ้ล และอูเบอร์ (บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพลิเคชั่น) จะได้เห็นกฎระเบียบเข้มงวดการขายในตลาดต่างประเทศถูกยกเลิกไป แต่ข้อได้เปรียบจากทีพีพีก็มาพร้อมกับข้อกำหนดที่ว่าต้องสร้างหรือพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่นในประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วย โดยกลุ่มสมาชิกทีพีพียังประกาศร่วมกันจะลดค่าโรมมิ่ง (Roaming : บริการข้ามเครือข่าย) ทั่วโลกลง โดยตั้งกฎระเบียบขึ้นมาบังคับใช้ร่วมกันซึ่งอาจทำให้เกิดการแข่งขันในกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมเข้มข้นมากขึ้น
เฉพาะในส่วนของเวียดนาม ก่อนหน้านี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญอย่างนายแจ็ค ชีฮานจากดีเอฟดีแอล ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและภาษีระหว่างประเทศ ได้บอกถึงโอกาสที่เวียดนามจะได้ผลประโยชน์จากทีพีพีด้วยเหมือนกัน โดยเจาะไปที่อุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าที่เวียดนามจะได้กำไรเต็มๆ หลังภาษีส่งออกสู่ตลาดต่างๆในมวลหมู่สมาชิกทีพีพี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เหลือแค่ 0% โดยข้อมูลเมื่อปี 2555 เวียดนามส่งออกเครื่องนุ่งห่มเข้าสหรัฐฯเป็นมูลค่าเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 34% ของสินค้าเครื่องนุ่งห่มนำเข้าของสหรัฐฯ เวียดนามยังส่งออกรองเท้าเข้าสหรัฐฯ อีกมูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์ด้วย
เวียดนามยังมีข้อได้เปรียบอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น ค่าแรงถูก และได้ประโยชน์จากการอยู่ใกล้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอรายใหญ่อย่างจีน และเกาหลีใต้ และยังได้รับการสนับสนุนสุดกำลังจากรัฐบาลทั้งสนับสนุนด้านการเงิน พลังงานและส่งเสริมการค้า แต่เวียดนามยังมีขวากหนามสำคัญคือ “กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า” (Rules of Origin : ROO) ในอุตสาหกรรมเครื่องน่งหุ่มที่เวียดนามต้องพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขทางใดทางหนึ่งต่อไป ขณะเดียวกัน เวียดนามกำลังผลักดันให้มีการเปิดเสรีกฎอาร์โอโอเรื่อง “การตัด และเย็บ” ซึ่งกำหนดให้ตัด และเย็บผลิตภัณฑ์ (เสื้อผ้า) สำเร็จรูปที่มีแหล่งกำเนิดในกลุ่มประเทศทีพีพีเท่านั้น ให้มากยิ่งขึ้น
อีกปัญหาหนึ่งที่อาจกระทบเวียดนามก็คือ ทีพีพีมีกฎระเบียบเกี่ยวกับบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของที่อาจกระทบบทบาทของรัฐบาลเวียดนามในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ตามข้อมูลวิจัยสภาคองเกรสของสหรัฐฯ พบว่า “Vinatex” บริษัทที่รัฐบาลเวียดนามเป็นเจ้าของ ครอบครองตลาดเครื่องนุ่งห่มอยู่ราว 40% และผลิตภัณฑ์สิ่งทออีก 60% มันจึงเป็นคำถามเปิดที่ว่าทีพีพีจะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเซ็คเตอร์นี้ของเวียดนามหรือไม่
แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ อีก 3 ประเทศที่เป็นสมาชิกทีพีพีด้วย ไม่ว่า บรูไนฯ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะได้จะเสียอะไรส่วนไหนบ้างจะมีก็แต่ผู้แทนเจรจาของมาเลเซีย ที่ได้ออกมารับประกันตั้งแต่ต้นๆ แล้วว่า งานนี้มาเลเซียมีแต่ได้กับได้ และจะไม่กระทบระบบเศรษฐกิจ “ภูมิปุตรา” ที่มุ่งให้สิทธิ์พิเศษทางเศรษฐกิจ และสิทธิอื่นๆ กับชาวมาเลย์แน่นอน คงมีแต่ฝ่่ายค้านที่ออกมาโจมตีว่าทีพีพีเป็นข้อตกลงที่แย่สำหรับเรื่องเวชภัณฑ์ และกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้ยาในระดับราคาที่พอจ่ายเงินซื้อได้เองเมื่อทีพีพีเปิดช่องให้ขยายเงื่อนเวลาอายุสิทธิบัตร และกำหนดอายุสิทธิบัตรยาขั้นต่ำไว้ที่ 5 ปี สำหรับกลุ่มยาประเภท “(ยา) ชีวภาพ” ที่ส่วนใหญ่ใช้รักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคร้ายเป้นอันตรายถึงชีวิต เช่น มะเร็ง เป็นต้น
ส่วนอินโดนีเซียเป็นชาติอาเซียนรายล่าสุดทำท่าอยากเข้าร่วมทีพีพี โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือโจโกวี เป็นคนประกาศเองระหว่างการเยือนสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ ส่วนจะเป็นจริงได้แค่ไหนก็ต้องติดตามกันต่อไป ส่วนกรณีของไทยคงต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียกันอีกสักระยะ