จีนปฏิวัติใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์
อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของจีนกำลังก้าวสู่ยุคปฏิวัติแรงงานมนุษย์เปลี่ยนใช้แรงงานหุ่นยนต์ทดแทนเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทั้งยังเผชิญสภาพขาดแคลนแรงงานเพราะชาวจีนรุ่นใหม่ตามชนบทเริ่มปฏิเสธการทำงานตามโรงงาน หันไปร่ำเรียนหนังสือเพื่อความก้าวหน้าด้านอื่นคาดว่า ภายในปี 2560 แรงงานหุ่นยนต์ในจีนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสหรัฐฯ และชาติยุโรปตั้งแต่ปีที่แล้ว
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวสุนทรพจน์ถึงความเปลี่ยนแปลง “หุ่นยนต์ปฏิวัติแรงงาน” สถานการณ์ในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหลายชนิดในประเทศ กำลังคืบคลานเปลี่ยนใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์ในภาคการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลของความเปลี่ยนแปลงหลักๆ 2 ประการคือ
1. เพราะสภาพขาดแคลนแรงงานที่ไม่มีทักษะ ซึ่งอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมาจีนมีแรงงานประเภทนี้จากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่อย่างมากมายเหลือเฟือ แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วขยายทั่วประเทศ ทำให้แรงงานขาดทักษะตามชนบทเริ่มลดน้อยลง คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ตามชนบทเริ่มไม่อยากทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม หันไปร่ำเรียนหนังสือระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมากขึ้นเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่อาชีพการงานอื่นๆ
ปรากฏนี้สอดคล้องกับข้อมูลของหน่วยงานด้านทรัพยากรมนุษย์ และสวัสดิการสังคมแห่งมลฑลกว่างตุ้ง ทางภาคใต้ติดกับฮ่องกง ซึ่งขึ้นชื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งหางานทำในโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ระบุเวลานี้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งขาดแคลนแรงงานมนุษย์รวมมากราว 600,000-800,000 ตำแหน่ง
อีกเหตุผลที่ 2 ของความเปลี่ยนแปลงคือ อัตราค่าจ้างแรงงานในจีนยามนี้ไม่ถูกอีกต่อไปแล้ว สืบเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างชาติแห่กันเข้าไปตั้งโรงงานในจีนกันล้นหลามหวังค่าจ้างแรงงานถูกทำให้ค่าจ้างแรงงานมนุษย์ในจีนดีดขึ้นพรวดๆ ถึงเฉลี่ยต่อคน ต่อเดือนราว 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 17,500 บาท เปรียบเทียบกับค่าจ้างแรงงานในโรงงานไทยเฉลี่ยราว 350 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 12,250 บาท ส่วนค่าจ้างแรงงานตามโรงงานในกัมพูชาเฉลี่ยต่อเดือนคนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,500 บาท รัฐบาลกัมพูชาพยายามผลักดันเพิ่มเป็น 140 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,900 บาท ภายในปีหน้าไม่รู้สำเร็จหรือไม่
ด้วยเหตุผลหลักทั้งสองประการ ทำให้วงการอุตสาหกรรมจีนต้องต้องเร่งปรับเปลี่ยนกลยุทธลดต้นทุนด้านแรงงาน และแนวทางที่เลือกใช้กันอย่างแพร่หลายคือ เปลี่ยนแรงงานมนุษย์ทดแทนด้วยแรงงานหุ่นยนต์เพื่อความคุ้มทุน และความอยู่รอดของบริษัทฯ
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโลกยังไม่กระเตื้องเฟื่องฟูและกำลังซื้อหดหาย ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานแห่งหนึ่งที่เมืองเสิ่นเจิ้น เริ่มใช้หุ่นยนต์ผลิตสินค้าทดแทนแรงงานมนุษย์นานแล้วกว่า 5 ปี เริ่มจากติดตั้งหุ่นยนต์จากสวีเดน 80 ชุด ตั้งแต่นั้นลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยปีละ 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดแรงงานมนุษย์ลงได้เรื่อยๆ จากมากกว่า 3,000 คนเมื่อช่วงปี 2553 เหลือปัจจุบันไม่ถึง 1,000 คน ผนวกเทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างหุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ขนาดเล็กลงราคาถูกลง และป้อนคำสั่งใช้งานง่าย ทำให้บริษัทหลายแห่งได้คืนต้นทุนค่าติดตั้งหุ่นยนต์ภายในเวลาเฉลี่ยแค่ 1.3 ปี แทนที่จะเป็นกว่า 11.8 ปี ดังเช่นอดีตเมื่อช่วงปี 2551
เฉิน ซิงฉี ประธานกรรมการบริษัทเสิ่นเจิ้น อีเวนวิน พรีซีชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนประกอบโทรศัพท์มือถือให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไชนา เดลี ระบุบริษัทของตนเริ่มใช้แรงงานหุ่นยนต์แทนมนุษย์แล้ว 1,000 ชุด
สามารถลดแรงงานมนุษย์ลงได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เวลานี้เหลือพนักงานมนุษย์ในบริษัทฯไม่ถึง 200 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่แผนกเทคนิคด้านซอฟต์แวร์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการบุคคลากร ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบริษัทฯ ตั้งเป้าสร้างผลกำไรต่อปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 322 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่บอกว่าใช้เงินลงทุนมากน้อยแค่ไหนเปลี่ยนแรงงานหุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์
สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) คาดหมายว่า ภายในปี 2560 วงการอุตสาหกรรมในจีนจะติดตั้งหุ่นยนต์ในภาคการผลิตสินค้าเพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 200,000 ชุด เป็นมากกว่า 400,000 ชุดนั่นทำให้จีนติดตั้งหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์มากกว่ากลุ่มชาติทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตสินค้าราว 300,000 ชุด
ขณะที่ชาติยุโรป 5 ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่มีใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมรวมกันราว 340,000 ชุด ความต้องการใช้แรงงานหุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ในภาคการผลิตสินค้าในจีนยังเติบโตได้อีกมาก เพราะเวลานี้นอกจากจีนคือตลาดรองรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว การนำเข้าหุ่นยนต์ของจีนยังเติบโตอีกมาก และอีกนานเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดภายในปี 2563 ต้องการแรงงานหุ่นยนต์ 100 ชุด ต่ออัตราส่วนแรงงานมนุษย์ 10,000 คน แต่เวลานี้จีนยังมีแรงงานหุ่นยนต์เฉลี่ยเพียง 30 ชุด ต่อแรงงาน 10,000 คน เปรียบเทียบกับเกาหลีใต้มีแรงงานหุ่นยนต์เฉลี่ย 396 ชุด ญี่ปุ่น 332 ชุด และสหรัฐฯ 152 ชุด
หุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในจีนถูกนำไปใช้ในสายการผลิตยานยนต์มากราว 40 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในอุตสาหกรรมช่วยหยิบจับสิ่งของ 40 เปอร์เซ็นต์ และใช้ในงานเชื่อมต่อวัตถุ 36 เปอร์เซ็นต์หุ่นยนต์เกือบทั้งหมดในจีนยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเจ้าของผู้ผลิตหุ่นยนต์ส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรปเพราะงานผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของจีนยังไม่ถึงชั้นคุณภาพขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมวิจัยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของตัวเองอย่างเต็มที่หวังมุ่งสู่เป้าหมายใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมให้ได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563