ธ.ก.ส. : ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน
ศักราชใหม่ ธ.ก.ส. สู่การเป็น “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชนบท ปรับเพิ่มยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพองค์กร-ชุมชนแบบบูรณาการผ่านโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย พร้อมเปิดตัว แบรนด์ “A-Product” อย่างเป็นทางการ เผยเตรียมคลอด “แบรนด์เฉพาะสินค้าเกษตร” ในเร็วๆ นี้
การปรับเพิ่มแผนยุทธศาสตร์ใหม่ ลำดับที่ 6…แผนพัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รอบนี้ ถือว่า…แยบยลอย่างมาก!
ไม่เพียงเป้าหมายที่วางไว้ นั่นคือ…สนับสนุนการพัฒนาชุมชนร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน
หากยุทธศาสตร์ใหม่ และอีก 5 ยุทธศาสตร์ก่อนหน้านี้ ยังสอดรับ นโยบายรัฐบาล ต่อการจะ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย ที่ ธ.ก.ส.เอง ก็มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ ธุรกิจชุมชนสร้างไทย สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานราก สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมการผลิต การซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม
สำคัญกว่านั้น พวกยังเดินไปตามแนวทาง แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับการมุ่งสู่สถานภาพใหม่ นั่นคือการเป็น…“ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” ที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท
หากไม่ติดการประชุมนัดสำคัญของ “บอร์ดบริหารฯ” ที่มี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานบอร์ด ธ.ก.ส.ในวันเดียวกันแล้ว คงเป็น นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก. ธ.ก.ส. ที่ต้องออกมาพูดถึงเรื่องนี้ กระนั้น เมื่อเขาติดภารกิจสำคัญ จึงเป็นหน้าที่ของ นายสมเกียรติ กิมาวหา ผช. ผจก. ธ.ก.ส. ที่กล่าวแถลงในฐานะตัวแทนองค์กรแห่งนี้…
นั่นคือ ประเด็นสำคัญที่ระบุว่า “มีโมเดลในการขับเคลื่อนที่เริ่มต้นจากการค้นหา ศึกษาความต้องการของชุมชน ปัญหา แนวทางพัฒนาแก้ไข โอกาสและศักยภาพของชุมชน จากนั้น จึงเริ่มสร้างความเข้มแข็ง โดยยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน”
วลี “ตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน”
สิ่งนี้…เป็นอะไรที่สังคมไทยไม่ค่อยจะได้ยินมากนักในแวดวงเกษตรกรรมไทย ที่ผ่านมา…แทบไม่เคยมีเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรใด ที่สามารถจะกำหนดราคาสินค้าทางการเกษตรของตัวเองได้ ทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ผลิตแท้ๆ
เกือบทั้งหมดจะถูกกำหนดราคาการรับซื้อจาก “นายทุน” โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกแทบทั้งสิ้น
ไม่แปลก! หาก “แจ็ค หม่า” เจ้าของอาลีบาบา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ที่สยายปีกผ่านสำนักงานสาขาในหลายประเทศ หลากทวีป จะตั้งข้อสังเกตทำนอง…
“รัฐบาลทั่วโลกต้องการให้สินค้าที่ผลิตในประเทศตัวเอง มีราคาขายที่แพงในตลาดโลก ยกเว้น! รัฐบาลไทย ที่ต้องการกดราคาขายสินค้าเกษตรของตัวเองเอาไว้…”
เว็บไซต์ AEC10NEWS ถึงได้กล้าย้ำว่า…นี่คือ ความแยบยลของ ธ.ก.ส. ทั้งการประกาศเพิ่มแผนยุทธศาสตร์ใหม่ และการใช้ “ตลาดนำการผลิต”
สำหรับ ธ.ก.ส. แล้ว กับ 5 แผนยุทธศาสตร์เดิม ประกอบด้วย…แผนพัฒนาการบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย, แผนเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรและบุคลากรรองรับภารกิจ, แผนบริหารจัดการรายได้รวมและต้นทุนรวมให้สมดุลและมีประสิทธิภาพ, แผนสร้างและพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร SMAEs และยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ แผนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรรายย่อย ด้วยกลไก Smart Farmer ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร SMAEs และสถาบันเกษตรกร
ก็ถือว่า…มีความแหลมคมพอตัว
แต่เมื่อได้ปรับเพิ่มแผนยุทธศาตร์ใหม่เข้ามา…น่าจะทำให้ภาพความชัดเจนในภารกิจหลักสำคัญของ ธ.ก.ส. โดดเด่นอย่างมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
นายสมเกียรติ กิมาวหา ย้ำว่า การผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ฯลฯ ล้วนเชื่อมโยงและส่งต่อในการให้ความรู้ สนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย และงบประมาณ ฯลฯ
ขณะที่ ธ.ก.ส.เอง ก็พร้อมช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับ Smart Farmer ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก มีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
“ธ.ก.ส.วางแผนปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานที่ขับเคลื่อนโครงการนี้โดยตรง และจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจชุมชนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางผสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 3 ปี และสินเชื่ออื่นๆ ตามแผนธุรกิจที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุมชน เพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนา” นายสมเกียรติ ย้ำและว่า
กลุ่มเป้าหมายของแผนงานนี้ คือ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกร สถาบันการเงินประชาชน วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน Smart Farmer SMEs เกษตรที่เป็นหัวขบวน และสหกรณ์การเกษตร
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ยังมุ่งสร้างและพัฒนา Smart Farmer ที่ใช้ทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร ปีละ 100,000 ราย และส่งเสริมการเติบโตของ SME เกษตร ให้เป็นหัวขบวน ปีละ 10,000 ราย ตลอดจนปรับเปลี่ยนภารกิจที่ทำร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน
แต่เดิม ธ.ก.ส.เป็นเพียงผู้ให้บริการและสนับสนุนสินเชื่อ แต่จากนี้ไป บทบาทใหม่จะเปลี่ยนมาเป็นการทำแผนแม่บทชุมชนร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจนและเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
พร้อมกับนำร่องโครงการที่ว่านี้ ผ่านการเปิดตัว โลโก้ “A-Product” อย่างเป็นทางการ ระหว่างนำสื่อมวลชนจากส่วนกลาง เข้าเยี่ยมชมการดำเนินธุรกิจของ “ก้องวัลเลย์” ของนายสุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ หรือ “ก้อง” เกษตรกรในพื้นที่ หมู่ 8 ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งตัวเขา (ก้อง) ถือเป็น “หัวขบวนคนสำคัญ” ที่รวบรวบเมล็ดกาแฟจากหลายกลุ่ม หลากภูมิภาค มารวมไว้ในพื้นที่เขาเรียกว่าเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วมือและท่องเที่ยวเชิงเกษตรกร”
ไม่ว่าจะเป็น…กลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมบ้านในกรัง วิสาหกิจชุมชนบ้านสองแพรก กลุ่มอิ่วเมี่ยน คุณธวัช คนหลัก และจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ระนอง จำกัด (สกต.ระนอง) เป็นต้น
โดยที่ สกต.ระนอง ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อกว่า 20 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตกาแฟ และผลไม้ชนิดอื่นๆ จากเกษตรกรรายย่อยและชุมชน ส่งขายให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ที่ต้องการนำผลผลิตทางการเกษตรไปแปรรูป
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้กับชุมชนท่องเที่ยวเกาะพยาม ที่ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่งดงามของชุมชนมาจัดทำโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการจัดทำโฮมสเตย์ และนำผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน เช่น กาหยู(เม็ดมะม่วงหิมพานต์) มาแปรรูปเป็นสินค้าพร้อมรับประทานและเป็นของฝาก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง
สำหรับเป้าหมายของ ตราสัญลักษณ์ “A-Product” นั้น นายสมเกียรติ ระบุว่า ธ.ก.ส.จะพยายามขยายแนวคิดนี้ไปให้กว้างไกลและมากที่สุด ทั้งนี้ การที่ ธ.ก.ส.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการกองทุนหมู่บ้าน ผ่านการนำวงเงิน “ไม่เกินหมู่บ้านละล้าน” จากรัฐบาล…ไปมอบให้กับหมู่บ้านต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.ราว 34,400 หมู่บ้านจากทั้งหมดกว่า 7.7 หมื่นหมู่บ้าน (หมู่บ้านที่เหลือราว 40,000 แห่งนั้น รัฐบาลมอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการคู่ขนานกันไป)
บวกกับเม็ดเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส.เอง ที่พร้อมจะปล่อยให้กับหมู่บ้านต่างๆ อีกแห่งละ 200,000 บาท นั่นหมายความว่า สูงสุดที่หมู่บ้านแต่ละแห่งจะได้รับเงินในโครงการฯ รวมกันไม่เกิน 1.2 ล้านบาท แต่เป็นเม็ดเงินที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเดินไปตามกรอบที่ ธ.ก.ส.และรัฐบาลได้วางแนวทางเอาไว้
แตกต่างจากเม็ดเงินเดิมๆ ที่แต่ละหมู่บ้านเคยได้รับ โดยไม่มีการวางแผนงานและสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำเงินไปสร้างโอกาสและประโยชน์ต่อชาวชุมชนเท่าที่ควร…
ด้าน นายอุรพงษ์ เพชรสุข ผอ.สำนักผลิตภัณฑ์ลูกค้าและท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งดูแลทั้งแบรนด์ “A-Product” และการท่องเที่ยวชุมชน กล่าวกับ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ว่า ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.เคยทำแบรนด์ดังกล่าวมาก่อน แต่ครั้งนี้จะดำเนินการอย่างเข้มแข็ง และจะขยายเครือข่าย “โฟกัส” ไปยังผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ก็จะเป็น “A-Rice” กาแฟ “A-Coffee” หรือ ปาล์ม “A-Plam” เป็นต้น
โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ทั้งการวางแผนงานและเตรียมการออกแบบโลโก้ คาดว่าทั้งหมดจะค่อยๆ ทยอยออกมาใช้ในเร็วๆ นี้
ถึงตรงนี้…ก็ไม่น่าแปลกใจ หาก แผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ของ ธ.ก.ส. ที่มีความชัดเจน แถมยังมี…เงินทุน องค์ความรู้ ประสบการณ์ และคำแนะนำดีๆ ผ่านการบูรณาการทำงานภายในองค์กรของตัวเอง และยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ จะผลักดันให้พวกเขา…
ก้าวสู่เป้าหมายการเป็น “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท กระทั่ง…สัมฤทธิ์ผลได้ในเร็ววัน
นั่นเพราะองค์กรแห่งนี้…มีความพร้อมและความมุ่งมั่นของทีมงานฯ ต่อการจะก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง ภายใต้การนำของ “ผู้นำองค์กร” ที่มากวิสัยทัศน์ นั่นเอง.