EXIM BANK ชี้ ปี’63 น่าสะพรึง! แต่เอาอยู่ถ้ารับมือเป็น
ปี 2563…จัดเป็น ปีแห่งความน่าสะพรึงมากที่สุดในรอบหลายปีทีเดียว! สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย และผู้ประกอบการไทย
โดยเฉพาะ “ผู้ส่งออก” ที่อาจต้องผจญกับความเสี่ยงในหลากหลายมิติ ทั้ง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองและสังคม รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม
หากมองจากมุมของ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.หรือ EXIM BANK) ในวันที่ นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา “เอ็มดี.คนเก่ง” แถลงข่าวในโอกาสครบรอบปีที่ 26 ของ EXIM BANK เมื่อช่วงสายวันนี้ (17 ก.พ.) ยิ่งตอกย้ำกับสิ่งที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS เกริ่นในตอนต้น
เขาย้ำว่า…ปีนี้ จัดเป็น…“ปีแห่งสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และเป็นความผิดปกติขั้นรุนแรง”
สะท้อนความเชื่อที่ว่า…“จากความเสี่ยงของโลกในมิติเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทย ต้องเผชิญความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และความยากลำบากในปี 2563”
แม้ความบาดหมางระหว่าง 2 มหาอำนาจของโลก อย่าง…สหรัฐฯและจีน เหมือนจะคลี่คลายไปได้บ้าง แต่ที่สุดแล้ว เชื่อว่า…ผลกระทบแห่งมัน ก็จะยังคงสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
และยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลสะเทือนไม่เฉพาะแต่ในจีน หรือในประเทศย่านเอเชียตะวันออก และในอาเซียน โดยเฉพาะไทย…ที่รับนักท่องเที่ยวจีนแต่ละปีมากกว่า 10 ล้านคน จากตัวเลขคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปีนี้ ทะลุเกินกว่า 40 ล้านคน
เมื่อคาดการณ์นักท่องเที่ยวจีนที่จะหายไปแค่ 3 เดือน ยังหนักหนาสาหัสขนาดนี้ หากยื้อเยื่อมากกว่านั้น…งานนี้คงดูไม่จืด
นอกจากปมการท่องเที่ยว ยังมี การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร และอาหาร รวมถึง กลุ่มซัพพลายเชน ที่ได้รับผลกระทบตามๆ กันไป จากผลพวง ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจจีนทั้งระบบ
ข่าวร้ายตามมา นั่นคือ ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ ส่อแววว่าจะหดหายไปกับความวิตกกังวลใจจากเจ้า ไวรัสโควิด-19 เพราะแม้แต่สนามบินหลายๆ แห่งของสหรัฐฯ ยังตกอยู่ในสถานการณ์ “ร้างนักเดินทาง” เหมือนเช่นหลายชาติในเอเชียและยุโรป
เรียกว่า…เจ้าไวรัสโควิด-19 “ทำลายล้าง” ได้รุนแรง ต่อเนื่อง และสยายปีกในวงกว้างมากๆ
ไม่แปลกที่หาก EXIM BANK จะยกปี 2563 เป็น…“ปีแห่งสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และเป็นความผิดปกติขั้นรุนแรง” และนั่น…ได้ส่งผลให้คาดการณ์การส่งออกปีนี้ อย่างเก่งก็แค่…“เติบโต 0%” แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะ “ติดลบ 2%” เป็นอย่างต่ำ
ยกเว้น! จะมีข่าวดีมากๆ จากทั้งในและนอกประเทศมาช่วย ซึ่งแน่นอนว่า…จากสถานการณ์ เงินบาทที่อ่อนค่าลง และการที่ผู้ประกอบการไทย ซึมซับกับข่าวเชิงลบ กระทั่ง บางรายเริ่มเข้าใจ มั่นใจ และปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากข่าวร้ายที่มีอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่น กลุ่ม “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ที่มีการศึกษาสูงและหันมาใช้นวัตกรรมกับวิถีการเกษตรยุคใหม่
นั่น…ย่อมส่งผลดีต่อสถานการณ์นี้ของไทย
“เอ็มดี. EXIM BANK” บอกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขายังจะเคียงข้างธุรกิจส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ควบคู่กับขยายบริการทางการเงิน ข้อมูลข่าวสาร และอบรมบ่มเพาะให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ได้ปรับตัวรับความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม
“ปี 2563 เป็นปีแห่งการปรับสมดุลของโลก เพื่อลด “ความเสี่ยง” ในหลายมิติต่างๆ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก รวมถึงไทย และเนื่องจากเรามีเศรษฐกิจระบบเปิด และมีขนาดเล็ก ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศในสัดส่วนสูง มีอำนาจต่อรองไม่สูงนัก แถมยังต้องเผชิญกับภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่แฝงด้วยความไม่ยั่งยืนจากปัญหาความไม่สมดุลเชิงโครงสร้างภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกของไทยถูกขับเคลื่อนด้วยปริมาณมากกว่าราคา เนื่องจากสินค้าไทยมีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ขณะที่การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคในอัตราขยายตัวสูงกว่าการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการลงทุนอยู่มาก กดดันให้เงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกไทยจึงมีรายรับในเทอมเงินบาทลดลงและสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งชาติอื่น” นายพิศิษฐ์ ย้ำและว่า
“ธุรกิจซื้อมาขายไป” จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำและเข้ามาทดแทนการทำธุรกิจประเภทนี้
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ชาติคู่แข่ง อย่าง…เวียดนาม ซึ่งได้ทำสัญญา FTA กับกลุ่มสหภาพยุโรป ส่งผลให้ การส่งออกสินค้าในกลุ่มรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เสื้อผ้า และอื่นๆ ของไทย มีต้นทุนแพงกว่ามาก เพราะยังคงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ขณะที่ สินค้าจากเวียดนามไม่ต้องมีกำแพงภาษีนำเข้า
หันมาดูความพร้อมต่อการ “รับมือ” สถานการณ์ของ EXIM BANK ที่ นายพิศิษฐ์ ยืนยันว่า พวกเขาพร้อมจะยืนเคียงข้างผู้ประกอบการไทย โดยในระยะสั้น จะสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือทางการเงิน ทั้งสินเชื่อและประกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุน และคุ้มครองความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งโปรแกรมสินเชื่อพิเศษและมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้นให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย
ขณะที่ ระยะยาว EXIM BANK ก็มีบริการทางการเงินที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยปรับสมดุลโครงสร้างการส่งออกและนำเข้าของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย ตลอดจนสนองนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนใน EEC และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-curve เพื่อสร้างฐานการผลิตด้านนวัตกรรมของประเทศ ควบคู่กับการให้ข้อมูลข่าวสารและจัดโครงการอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC)
ทั้งนี้ เพื่อร่วมผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยในปี 2563 พลิกกลับมาโตเป็นบวกได้ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
ด้านผลการดำเนินงานปี 2562 พบว่า EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 121,868 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ โดยเพิ่มขึ้น 13,279 ล้านบาทหรือ 12.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,900 ล้านบาทและสินเชื่อเพื่อการลงทุน 82,968 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 197,106 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 106,749 ล้านบาท คิดเป็น 54.16%
โดยสินเชื่อคงค้าง SMEs เท่ากับ 43,123 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท
ขณะที่ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) อยู่ที่ 4.60% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 5,606 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญมากดึง 11,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,787 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย 7,804 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 143.15% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคงอย่างสูง เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ
สำหรับผลการดำเนินงานด้านประกันการส่งออกและการลงทุนในปี 2562 พบว่า มีปริมาณธุรกิจสะสม 121,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,924 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 22,592 ล้านบาท หรือ 18.61% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม
ขณะเดียวกัน การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศในปี 2562 EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 92,367 ล้านบาท แยกเป็นสินเชื่อคงค้าง 47,454 ล้านบาท
รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักของการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
โดย ณ ปี 2562 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 30,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,333 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนใน ย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญได้เปิดดำเนินงานและทำงานร่วมกับทีมไทยแลนด์นำโดยเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ใน เวียดนาม (ทางตอนใต้) ต่อไป
“ท่ามกลางความไม่สมดุลและความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำคือ รับมือให้ทันและไม่หยุดรุกตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK อยู่เคียงข้างและคอยสนับสนุนให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงและไม่สะดุด ขณะเดียวกันผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยต้องวางแผนระยะยาวที่จะแข่งขันให้ได้ในเชิงคุณภาพ โดยใช้โอกาสในภาวะเงินบาทแข็งค่านี้ลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม S-curve และพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในตลาดโลกยุคดิจิทัลนี้” นายพิศิษฐ์ ระบุ พร้อมกับย้ำว่า…
EXIM BANK ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวในสถานการณ์แห่งความยากลำบากนี้ ทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยี พร้อมกับมุ่งแสวงหาตลาดส่งออกและการลงทุนใหม่ๆ นอกจากกลุ่ม CLMV แล้ว ในกลุ่ม New Frontier (อินเดีย, แอฟริกา และละตินอเมริกา) ถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แม้ในช่วงแรก อาจเป็นไปอย่างยากลำบากและไม่ได้รับผลบวกในเชิงปริมาณมากนัก แต่ในระยะยาวเชื่อว่า จะสามารถทดแทนและกระจายความเสี่ยงจากตลาดเดิมๆ ได้เป็นอย่างดี และ EXIM BANK ก็พร้อมสนับสนุนการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศใหม่ๆ เหล่านี้
“หากต้องการความช่วยเหลือด้านการส่งออก หรือแม้แต่เริ่มเห็นสัญญาณว่าจะขาดสภาพคล่อง ให้รีบมาขอคำปรึกษาจากทีมงานของ EXIM BANK โดยเร็ว เรามีประสบการณ์และความพร้อมในทุกด้าน คอยช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย” นายพิศิษฐ์ ย้ำ.