CIMB THAI มองเศรษฐกิจไทยติดไวรัส
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี วิเคราะห์การวางแผนหรือจะสู้การเปลี่ยนแปลง เดือนมกราคมปีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนสำนวนนี้ได้เป็นอย่างดี เดิมสำนักวิจัยมองภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุน 3 ด้าน จากการย้ายฐานการลงทุน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และการท่องเที่ยว
แต่ในช่วงนี้เกิดภาพที่กลับข้างกันเมื่อสามปัจจัยข้างต้นกลายเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจ ต่างชาติชะลอลงทุน งบประมาณมีความล่าช้า ซึ่งมีผลให้การเบิกจ่ายลดลง การลงทุนภาครัฐอาจติดลบ อีกทั้งเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรน่าในจีนและมีผู้ติดเชื้อหลายประเทศรวมทั้งไทยมีผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสติดลบยาวในช่วงครึ่งปีแรก
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่าครึ่งปีแรกนี้มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 จากปัจจัยลบเบื้องต้น แต่เรายังเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวมีผลชั่วคราวคือราว 1-2 ไตรมาสและน่าจะฟื้นตัวโดยเร็ว และจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เหนือร้อยละ 3 ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเราได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ลงจากร้อยละ 2.7 เหลือร้อยละ 2.3 อีกทั้งเรามองว่าเมื่อนโยบายการคลังไม่สามารถนำมาใช้กระตุ้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 สู่ระดับร้อยละ 0.75 ต่อปีและน่าจะเริ่มลดในรอบการประชุมวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ส่วนเงินบาทเรามองว่ามีโอกาสที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องได้ยาวถึงระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไตรมาสที่สองนี้ก่อนจะพลิกกลับมาแข็งค่าปิดปลายปีได้ในระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเศรษฐกิจไทยต้องพักรักษาตัว
เศรษฐกิจไทยตอนนี้เปรียบเหมือนคนติดไวรัสโคโรน่า ซึ่งหลักๆ มีอยู่สามอาการ คือไข้สูง หายใจติดขัด และมีอาการไอ อาการแรกคือมีอาการไข้สูง จากรายได้การท่องเที่ยวที่น่าจะลดลงมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท จากการหดตัวของนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรก หากเทียบช่วงที่ไวรัสซาร์สหรือไข้หวัดหมู H1N1 ระบาดในจีน เราพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยหดตัวสูงถึงร้อยละ 20 แต่ผมมองว่าหากเหตุการณ์ซ้ำรอย รอบนี้อาจมีผลกระทบรุนแรงกว่ารอบก่อน นั่นเพราะในอดีตสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนอยู่ในระดับต่ำ คือราวร้อยละ 7 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่ในปัจจุบันสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนมีถึงมากกว่าร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยเฉพาะในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยถึงเดือนละมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งหากนักท่องเที่ยวจีนชะลอการท่องเที่ยวออกนอกประเทศ และไทยเป็นเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนลำดับต้นๆ รายได้การท่องเที่ยวไทยก็มีโอกาสหดตัว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมีโอกาสลดลงมาก และเมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้
เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวลดลงจากภาคธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ค้าปลีก อาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งหลาย อย่าลืมว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งการท่องเที่ยวมากกว่าร้อยละ 10 ของ GDP หากหายไปก็เป็นไข้หนาวสั่นได้ อาการที่สองคือหายใจติดขัดจากงบประมาณที่ยังไม่ผ่านสภาฯ เดิมเราคาดว่างบประมาณน่าจะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น เร่งการเบิกจ่ายเพื่อประคองเศรษฐกิจได้ แต่ในวันนี้การจะทำอะไรก็ติดขัดเหมือนหายใจไม่เต็มปอดด้วยงบประมาณปีก่อนที่เหลือน้อยและไม่สามารถนำมาเร่งลงทุนโครงการใหม่สร้างความเชื่อมั่นได้เต็มที่ และอาการสุดท้ายคืออาการไอ อาจต่างจากไวรัสนี้เพราะเป็นไอแห้งๆ ด้วยภาวะภัยแล้งที่กระทบรายได้ภาคเกษตร โดยเฉพาะปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงมากในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งน่าจะกระทบปริมาณข้าว และสินค้าเกษตรที่สำคัญอื่น และต้องระวังว่า ปริมาณน้ำที่ลดลงจะไม่ลามไปกระทบภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกในกลุ่มที่ต้องใช้น้ำมาก ที่สำคัญในเรื่องภัยแล้ง คือ เมื่อรายได้ภาคเกษตรหดหาย กำลังซื้อของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยลดลง เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอโดยเฉพาะในภาคชนบทและในต่างจังหวัดมากกว่าปีก่อนๆ แต่อย่าเพิ่งหมดความหวัง เรามองว่าอาการของโรคเหล่านี้จะหายในช่วงครึ่งปีหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควบคุมและแก้ไขได้ ไม่ใช่การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าควบคุมได้ในจีน งบประมาณผ่านสภาฯ รัฐบาลสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งลงทุนได้ เอกชนมีความเชื่อมั่น
เศรษฐกิจไทยมีโอกาสทะยานได้เกือบร้อยละ 3 ในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะจากภาคการส่งออกที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจและผลักดันการลงทุนภาคเอกชนไปพร้อมกัน เมื่อเรามีความหวังจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในรอบแรก และหากเปรียบเทียบเศรษฐกิจปีนี้กับปีก่อน เทียบปัญหาสงครามการค้ากับไวรัสโคโรน่า เรามองว่าสงครามการค้ากระทบเศรษฐกิจไทยแรงกว่า เพราะสงครามการค้ากระทบภาคการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของ GDP และมีผลต่อการจ้างงานและการบริโภคในวงกว้าง อีกทั้งเป็นปัญหาลากยาว ขณะที่ภัยจากไวรัสโคโรน่าแม้กระทบต่อชีวิตคนแรงกว่า แต่ในด้านเศรษฐกิจนั้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะน้อยกว่าเพราะกระทบกับเศรษฐกิจในวงจำกัด และน่าจะควบคุมได้ภายในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ดี การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกมีความเสี่ยงหดตัวจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญในอาเซียนเพราะต่างก็พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจากจีนเป็นส่วนมากจะกระตุ้นเศรษฐกิจยังไงดี
นอกจากลดดอกเบี้ย ปล่อยเงินบาทให้อ่อนในการประคองเศรษฐกิจแล้ว เรายังเหลือเครื่องมืออื่นอีกไหมในการกระตุ้นไม่ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 หรือเสี่ยงต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาสหรือนับจากไตรมาสสี่ปี 2557 เรามองว่าสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนไทยและนักท่องเที่ยวว่ารัฐบาลไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ แม้อาจต้องสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวบ้างในระยะสั้น แต่ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวหาตลาดใหม่ หรือส่งเสริมให้คนไทยมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นก็นับเป็นอีกมาตรการที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฟื้นได้เร็ว
ขณะที่ภาคเกษตรและปัญหากำลังซื้อในภาคชนบทที่อ่อนแอนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่น่าจะได้รับการดูแลควบคู่ไปกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผมมองการจ้างคนในพื้นที่เพื่อสร้างสาธารณูปโภคในท้องถิ่น เช่น ถนน ระบบชลประทาน ที่กักเก็บน้ำ หรือแม้แต่การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อดูแลผู้สูงอายุก็อาจเป็นการสร้างงานในพื้นที่ด้วยงบลงทุนที่ช่วยกระจายรายได้ด้วย สุดท้ายในระยะสั้น เราน่าจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของภาคเอกชน เตรียมรับมือการแข่งขันด้านการส่งออกอีกรอบในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น สงครามการค้าคลี่คลาย การส่งออกแม้จะเป็นความหวังแต่เราต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำได้ด้วยการลงทุนด้านเครื่องจักร วันนี้จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนในช่วงที่มีความไม่แน่นอน ต้นทุนทางการเงินต่ำ ในการเร่งลงทุนครับ และหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วในครึ่งหลังของปี.