ธ.ก.ส.-คูโบต้า-ยันม่าร์ หนุนกู้ซื้อเครื่องจักรเกษตร
ธ.ก.ส ดึง “คูโบต้า-ยันม่าร์” ร่วมสร้างโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมเครื่องจักรการเกษตร หวังใช้เทคโนโลยียกระดับการปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตแก่เกษตรไทย ตั้งงบในภารกิจนี้ 1.5 หมื่นล้านบาท เสริมสินเชื่อเดิม รวมเก่า-ใหม่ 7 หมื่นล้านบาท รองรับเกษตรกร 3.5 แสนราย
แนวคิดที่ภาครัฐจะเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรไทย ให้หันมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อให้มีโอกาสในการเลือกใช้เครื่องจักรและเครื่องยนต์ทดแทนแรงงาน อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตร
เริ่มเห็นเป็นจริงเป็นจัง ก็นับแต่วินาทีที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์” กับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ยันม่าร์ เอส พี จำกัด เมื่อช่วงสายวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา
วงเงิน 15,000 ล้านบาทที่ใช้ในโครงการข้างต้น ธ.ก.ส.พร้อมจะปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ย MRR-1 (ปัจจุบัน MRR = 6.875% ต่อปี) ให้กับเกษตรกร ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบ ได้นำไปจัดซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ทั้งในกลุ่มบุคคลทั่วไป นิติบุคคล แม้กระทั่ง ในรูปของวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังสามารถนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้เป็นค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุงซ่อมแซม และจัดหาอุปกรณ์พ่วงหรือเสริมให้กับเครื่องจักรนั้นๆ รวมถึง เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ “เช่าซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์” ของทั้ง 2 บริษัทฯ สามารถทำการ “รีไฟแนนซ์” กับ ธ.ก.ส.ได้ แต่จะต้องมีลูกค้าชั้นดีและเครื่องจักรเครื่องยนต์นั้นๆ จะต้องอยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งานตลอดเวลา
กำหนดระยะเวลาโครงการตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค.2566 หรืออีก 3 ปีเศษนับจากนี้ แต่ทว่า นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวแสดงความมั่นใจว่า วงเงินดังกล่าวน่าจะหมดก่อนถึงวันสิ้นสุดโครงการฯ เพราะขณะนี้ มีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ต่างแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากฯ
“ธ.ก.ส. มีนโยบายส่งเสริมการปฏิรูปภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืนภายใต้หลัก ปรับ เปลี่ยน พัฒนา โดยเฉพาะการปรับการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยยกระดับการทำเกษตรกรรมในทุกรูปแบบที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ผจก. ธ.ก.ส.ย้ำ และว่า
ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงได้ทำโครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์ โดยร่วมกับเครือบริษัทคูโบต้าและยันม่าร์ ในการสนับสนุนเกษตรกรให้มาเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Agri-Tech) แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร และการทำการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ หรือการปลูกพืชตามแผนที่เกษตร (Agri-Map) เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งเปลี่ยนการผลิตการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร (Value Added) ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรให้มีความยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายเป็นเกษตรกรลูกค้า หรือผู้ที่มีความสนใจ โดยสามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว นำไปเป็นเงินทุนจัดซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุงซ่อมแซม และการจัดหาอุปกรณ์พ่วงหรือเสริมให้เครื่องจักรนั้น สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเกษตรและผู้เข้าร่วมโครงการฯนั้น จะได้รับบริการและการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมความรู้ในการใช้งานเครื่องจักรเครื่องยนต์จากบริษัททั้ง 2 แห่ง ส่วนจะได้รับโปรโมชั่นพิเศษหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องตกลงกันเอง ส่วนตัวมองว่า เอกชนเขาก็พยายามแข่งขันทั้งเทคโนโลยี คุณภาพสินค้า รวมถึงเรื่องราคา และการบริการหลังการขาย ที่จะสร้างประโยชน์ต่อผู้ซื้ออยู่แล้ว
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนภายใต้โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรที่สนใจการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเครื่องจักรกลการเกษตร ทั้งนี้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขต้องเป็นไปตามที่ ธ.ก.ส.กำหนด
ทั้งนี้ เท่าที่ทราบพบว่า มีวิสาหกิจชุมชนราว 100 แห่ง ที่สนใจและได้ลงทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อขอเข้าโครงการฯนี้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปจัดซื้อโดรน และ/หรือ รถไถ ซึ่งมีราคาขั้นต่ำตั้งแต่ 2-3 แสนบาท ไปจนถึงมากกว่า 1 ล้านบาท สำหรับใช้การเพิ่มประสิทธิการผลิตผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงรับจ้างจากเกษตรกรทั่วไปด้วย
“ทั้ง 2 โครงการฯนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินไว้ราว 70,000 ล้านบาท รองรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ที่ยังเป็นชื่อ “สินเชื่อเครื่องจักรกล” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2554 กระทั่ง ได้ทำการต่อยอดโครงการฯและเปลี่ยนชื่อมาเป็น “สินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์” ในวันนี้” ผจก. ธ.ก.ส. ระบุ
ด้าน นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กก. รอง ผจก.อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าฯ กล่าวว่า โครงการฯนี้ เกิดจากเจตนารมย์ร่วมกันของ ธ.ก.ส. และสยามคูโบต้า ที่เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรได้ง่ายขึ้น ด้วยเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่เหมาะสมกับรายได้ของเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองต่อยุคนวัตกรรมการเกษตรมากขึ้น ด้วยระบบนวัตกรรมอัจฉริยะ KUBOTA Intelligence System (KIS) ที่ช่วยให้บริหารจัดการเครื่องจักรกลได้ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมถึงจัดตั้ง คูโบต้า ฟาร์ม เพื่อเป็นฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ของอาเซียน มุ่งหวังให้เกษตรกรได้เข้าถึงทุกนวัตกรรมเกษตรที่ใช้ได้จริง ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ นายชินจิ สุเอนางะ ปธง บห. บริษัท ยันม่าร์ฯ กล่าวว่า ด้วยการสนับสนุนด้านสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ยันม่าร์เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยพี่น้องเกษตรกรได้มีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น และมั่นใจว่าการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ประกอบกับความล้ำสมัยด้านเทคโนโลยีของแทรกเตอร์ยันม่าร์ในปัจจุบันที่พัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบติดตามการทำงานผ่านดาวเทียมหรือ SA-R (Smart Assist) ที่จะช่วยจัดการ การทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยันม่าร์มีความยินดีที่และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านอื่น ๆ กับทาง ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน อันเป็นวิสัยทัศน์ความมุ่งมั่นของยันม่าร์ทั่วโลกเช่นกัน
อนึ่ง พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้น บริเวณห้องโถงชั้น 2 ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ บางเขน กรุงเทพ โดยมี นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กก.รอง ผจก.ใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าฯ นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กก.ผจก. บริษัท สยามคูโบต้า ลีสซิ่ง จำกัด นายชินจิ สุเอนางะ ปธ.บห. บริษัท ยันม่าร์ เอส พีและนายทาคาชิ โยชิดะ ปธ. บริษัท ยันม่าร์ แคบปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมลงนาม.