ควบ “คลัง-ธปท.-เอกชน” ปลายทางดีจริงหรือ?
2 คณะทำงานที่ “รัฐบาล-คลัง” ตั้งขึ้นใหม่ ดึงเอาตัวแทนคลัง-แบงก์ชาติ-เอกชน ร่วมค้นหาคำตอบที่จะฉุดดึงเศรษฐกิจไทย ก้าวไปข้างหน้า สุดท้าย…สิ่งนี้ จะดีจริงหรือ? เมื่อเอกชนรับรู้ทุกความเคลื่อนไหวของทั้งนโยบายการคลังและการเงิน
รอบนี้…ดูเหมือนสีหน้าและอารมณ์ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะดูสดใสขึ้น…ผิดจากไป หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ที่ค่อนข้างจะหงุดหงิดและอารมณ์เสียต่อหน้าผู้สื่อข่าว เมื่อถูกจี้ถามถึง…ผลงานของ “ทีมเศรษฐกิจ” รัฐบาล (คนต่างพรรค) ที่ดูเหมือนต่างคนต่างทำ
ถึงขนาด…ไล่ให้ผู้สื่อข่าวไปถามเจ้ากระทรวงเหล่านั้นกันเอาเอง เพราะตนไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงของพรรคร่วมรัฐบาล
ทว่าเหตุการณ์ล่าสุด…เกิดขึ้นเมื่อครั้งนัดหมายส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะธนาคารในกำกับดูแลของรัฐ และตัวแทนภาคเอกชน ระดับ “3 บิ๊กเบิ้ม” ประกอบด้วย…สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในนาม “กรอ.” รวมถึงนายธนาคารและนักธุรกิจชั้นนำบางคน มาร่วมเสวนาพูดจากันแบบ “เปิดอกคุยกัน” ท่ามกลางอาหารมื้อเที่ยงวันจันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมวายุภักดิ์ 1 กระทรวงการคลัง
หลักๆ คือ การสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอย่างไร? อะไร (นโยบาย/เป้าหมาย/ทิศทาง) ที่รัฐบาลได้ทำมาแล้ว และกำลังทำอยู่ รวมถึงที่จะทำต่อไปในระยะต่างๆ รวมถึงอะไรที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐทำให้ และภาคเอกชนจะทำให้ภาครัฐ/ประชาชน/ประเทศชาติ กลับคืนมาบ้าง?
นั่นจึงนำไปสู่การตั้งคณะทำงาน 2 ชุด…ชุดหนึ่งดูแลภาพรวม/เสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ อีกชุดดูแลนโยบายการขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ทำหน้าที่หัวหน้าทั้ง 2 ชุด และมี นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่พ่วงตำแหน่ง “โฆษกกระทรวงการคลัง” ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะทำงานฯ
กระทั่ง กลายเป็นการจัดมาตรการ/โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะ “แพกเกจ” ที่เตรียมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 ม.ค.2563
“อะไรที่จบได้ในที่ประชุมฯ ซึ่งมีตัวแทนของหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง เช่น กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รวมถึงธนาคารของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) และตัวแทนภาคเอกชน ก็สรุปและดำเนินการได้ทันที อะไรที่จะต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผมก็พร้อมจะประสานงานให้…” รองนายกฯสมคิด ย้ำ
และที่ดูเหมือนจะถูกใจบรรดา “แบงก์เจ้าหนี้” ของกลุ่มเอสเอ็มอีหลายค่าย คงไม่พ้น…แนวคิดที่ว่า ภาครัฐพร้อมจะเปิดช่องให้เอสเอ็มอีได้เข้ามากินส่วนแบ่ง “ตลาดเค้ก” งานประมูลโครงการภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
แถมเรื่องนี้ คนที่มีส่วนร่วม “ผุดไอเดีย” ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน? แต่เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่นเอง
แม้ว่า…อารมณ์วันนั้น ของรองนายกฯสมคิด จะดู “แจ่ม” แต่ก็อดจะแขวะผู้สื่อข่าวบางคนที่ยิงคำถามเกี่ยวกับตัวเลขจีดีพีของปี 2562 ซึ่งดูเหมือนจะต่ำกว่า 3.0% ทำนอง… “จะไปสนใจทำไมกับเลข ว่าจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์” พร้อมให้เหตุผลสำทับ… “เปอร์เซ็นต์จีดีพีจะมากหรือน้อย ไม่สะท้อนว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีหรือไม่? หลายเป็นประเทศที่จีดีพีเติบโตกว่านี้ เศรษฐกิจก็ยังมีปัญหา”
ทว่าวัน ตกเย็นวันเดียวกัน…กลับเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไปกล่าวเปิดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2562 แล้วพูดต่อหน้าคนนับพันคนว่า…อยากเห็นเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 นี้ เติบโตในระดับ 3% และมากกว่า 3% ในปีหน้า
ทำเอาผู้สื่อข่าวถึงกับอึ้ง!…เมื่อคนเป็นทั้ง หัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่กลับพูดคนละภาษา กับคนที่ดูรัฐมนตรีเศรษฐกิจในซีกของพรรคพลังประชารัฐ
ก็อย่าได้แปลกใจ! เพราะตอนท้ายหลังการแถลงข่าว ช่วงบ่ายวันจันทร์ (23) นั่นเอง ก็เป็น รองนายกฯสมคิด ที่พูดกับผู้สื่อข่าว ก่อนจะลงลิฟท์จากชั้น 4 กระทรวงการคลัง กลับออกไป…
ประโยคนั่นก็คือ… “ลองไปถามฝ่ายการเมืองบ้าง…จะให้จีดีพีโตเท่าไหร่?”
กระนั้น ถึงตรงนี้…ทั้งรองนายกฯสมคิด และนายอุตตม ก็ยังคงมีมุมมองเดียวกัน…มุมมองที่ว่า “เศรษฐกิจในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้”
ด้วยเหตุผล ทั้งเรื่องของการลงทุนภาครัฐ ที่กระตุ้นให้บรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ต่างเร่งลงทุนช่วงโค้งสุดท้าย “พ.ย.-ธ.ค.2562” มากถึง 1 แสนล้านบาท และปีหน้าทั้งปีอีกกว่า 3 แสนล้านบาท รวมถึงมาตรการ/โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ผ่านไปยัง…คนระดับฐานราก เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี ไปจนถึงนักลงทุนไซส์ต่างๆ ระดับกลางๆ ถึงระดับบิ๊กเบิ้ม
เมื่อรวมกับแนวโน้ม/ทิศทาง “สงครามการค้า” ระหว่าง 2 มหาอำนาจ “สหรัฐฯ-จีน” ดูเหมือนจะคลี่คลายลง ประกอบกับปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับกลุ่มการค้าอื่นๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย ฯลฯ ที่ก็น่าจะคลายปมลงไปได้บ้าง เหล่านี้…ก็น่าจะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจโลก และการส่งออกของไทยก กระเตื้องขึ้น!
เหลือปัญหาหนักอก! คงไม่พ้นเรื่อง “ค่าเงินบาทแข็ง” ที่ส่งกระทบต่อทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย นี่จึงเป็นที่มาของการ “รุกหนัก” แบงก์ชาติ ยุค…นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. มากที่สุดยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศเลยทีเดียว
จากนี้…การตัดสินใจเพียงลำพังของ ธปท. เกี่ยวกับนโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท ฯลฯ คงอาจไม่เป็นเหมือนเช่นก่อน เพราะคณะทำงานทั้ง 2 ชุด จะให้ความเห็น พร้อมกับชี้แจงผลดีผลเสียของการตัดสินใจนั้นๆ และนั่น…ก็จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายการเงินฯที่ผิดแผกไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง!
อนาคตการกำหนดนโยบายการคลังและการเงิน ซึ่งในอดีต…แยกจากกันอย่างชัดเจน โดยนโยบายการคลัง จะมีเพียงฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำเท่านั้น ที่จะล่วงรู้ก่อนใคร ขณะที่นโยบายการเงิน มีเพียงคนจากธปท.ที่รับรู้ความเป็นไปและเคลื่อนไหว
ทว่าหลังจากนี้…ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ (คลังและธปท.) และตัวแทนภาคเอกชน จะล่วงรู้ทุกความเป็นไปและเคลื่อนไหวของทั้งนโยบายการคลังและการเงิน
ดีหรือไม่? กับปรากฏการณ์หลังจากนี้ ยากที่ใครจะคาดเดาได้? คงต้องรอให้ผลประจักษ์มันออกมาเสียก่อน.