ผลประกอบการ 5 แบงค์ใหญ่ไตรมาส 3 ปี62
ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนหดตัว
สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งการชะลอลงของกิจกรรมการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เป็นแรงกดดันต่อการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวน้อยกว่าคาดจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังดำเนินการลดดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.50% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี 3 เดือน ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง หลังจากพบภาวะเศรษฐกิจต่ำกว่าคาดไว้ครั้งก่อนที่ระดัล 3.3% อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าขอบล่างกรอบเป้าหมาย 1%
สิ่งที่ตามมาคือ 5 ธนาคารขนาดใหญ่ของไทย ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งสินเชื่อรายใหญ่ที่เบิกเกินบัญชี (MOR) และ สินเชื่อรายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% จากปัจจุบัน MOR และ MRR ของธนาคารอยู่ที่ 7.12% มาอยู่ที่ 6.87% ไล่ตามมากันทันที ซึ่งในส่วนนี้กระทบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของแบงก์ให้ลดลง
ธนาคารกรุงไทย 9 เดือนแรก กำไรสุทธิ 21,825 ล้านบาทผลประกอบการธนาคารกรุงไทยไตรมาส 3 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,355 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 18.9 จากรายการพิเศษค่าใช้จ่ายสำรองผลประโยชน์พนักงานที่ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไปซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว
ธนาคารมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 94,029 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารในไตรมาส 3 ปี 2562 จำนวน 9,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากไตรมาส 3 ปีก่อน ส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เป็นผลจากการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งสำหรับงวดเก้าเดือนแรกของปี 2562 โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 26.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการขยายตัวของสินเชื่อที่แข็งแกร่งที่ 6.4% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561
ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิของไตรมาส 3 ปี 2562 จำนวน 14,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 10,484 ล้านบาทและกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตจำนวน 11,644 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสนี้ ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก 9,100 ล้านบาทจากสำรองปกติที่จำนวน 6,173 ล้านบาท รวมเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น 15,273 ล้านบาท สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 34,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 29,924 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,502 ล้านบาท หรือ 4.78% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,051 ล้านบาท หรือ 5.54% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.34% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,753 ล้านบาท หรือ 6.20% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง และการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 2,684 ล้านบาท หรือ 5.49% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.41% ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามโดยแม้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2562 มีแรงหนุนจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว แต่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวหลัก ทั้งการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัว สอดคล้องกับการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความกังวลต่อความเสี่ยงเกี่ยวกับการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ทิศทางเศรษฐกิจไทยอาจได้รับแรงหนุนมากขึ้นจากมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี