ตลาดหุ้นส่วนเคลื่อนไหวผันผวนเรื่อง Brexit
SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากประเด็นข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้า และความไม่แน่นอนในประเด็นเรื่อง Brexit
ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปิดปรับตัวผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่หลายแห่งใน 3Q2562 ที่แข็งแกร่ง และนักลงทุนคลายความกังวลต่อประเด็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หลังสหรัฐฯ-ตุรกีบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในพื้นที่ตอนเหนือของซีเรีย อย่างไรก็ตาม ดัชนีลดช่วงบวกลง จากความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ได้กดดันให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก ตลาดหุ้นยุโรปปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลง จากความหวังที่ว่า สหราชอาณาจักร (UK) และสหราชอาณาจักร (EU) จะสามารถบรรลุข้อตกลงการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) กันได้ ขณะที่ นลท.กลับมากังวลต่อข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป ด้านตลาดหุ้นจีนปิดลบ จากความกังวลสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งประเด็นการค้า และการเมือง ประกอบกับความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน หลัง GDP ในไตรมาส 3/2562 เติบโตต่ำสุดในรอบ 27 ปี ด้านราคาน้ำมัน ปรับลดลง จากความกังวลต่อความต้องการใช้พลังงาน หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์ GDP ของโลกในปีนี้ลง สอดคล้องกับ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) และ โอเปกที่ได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบลง ในขณะที่ ราคาทองคำ ปิดบวกเล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในประเด็นฮ่องกง และเงินดอลลาร์ สรอ.อ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับแรงกดดันจาก 1) ประเด็นเรื่อง Brexit หลังรัฐสภา UK เลื่อนการลงมติรับรองข้อตกลง Brexit ออกไป เพื่อให้มั่นใจว่า กรณีที่รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายไม่ทันตามกำหนดเวลา จะไม่เกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง ซึ่งส่งผลให้ UK ต้องขอให้ EU ขยายเวลาเส้นตาย Brexit ออกไปอีก 3 เดือน 2) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนทั้งในประเด็นเจรจาการค้า ที่ยังรอความชัดเจนด้านเอกสาร และรอการเจรจาเพิ่มเติม รวมทั้ง ประเด็นฮ่องกง หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของฮ่องกง ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประท้วงชาวฮ่องกง และแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีน 3) ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป โดยสหรัฐฯจะบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป ในสัปดาห์นี้ และ 4) ความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างจำกัด จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯในไตรมาส 3/2562 ที่อาจออกมาไม่ดีน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และการคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน หลังตัวเลขเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
• การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) (24 ต.ค.) เราคาดว่า ECB มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเดิม หลังการประชุมครั้งก่อน ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Deposit ลง 0.1% อยู่ที่ -0.5% และประกาศมาตรการ QE มูลค่า 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน อย่างไม่มีกำหนด
• ประเด็นเรื่อง Brexit หลังจาก UK และ EU สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ร่วมกัน แต่ที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 322 ต่อ 306 สนับสนุนให้เลื่อนการลงมติรับรองข้อตกลง Brexit ออกไป จนกว่าจะมีการผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน ส่งผลให้ นาย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องไปขอเลื่อนเส้นตาย Brexit จาก EU ออกไปอีก 3 เดือน โดยล่าสุด เขาได้ส่งหนังสือถึงประธานคณะมนตรียุโรป เพื่อขอเลื่อนกำหนดการ Brexit โดยไม่ลงนาม เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนครั้งนี้
• รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ได้แก่ Amazon, Intel, Microsoft, Visa, Caterpillar, Boeing, Ford, Tesla เป็นต้น
• ตลาดหุ้นที่ปิดทำการในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตลาดหุ้นอินเดีย (21 ต.ค.) ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (22 ต.ค.) และ ตลาดหุ้นไทย (23 ต.ค.)
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง คำสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนีคำสั่งซื้อสินค้า (PMI) ภาคการผลิต และภาคบริการขั้นต้น ของสหรัฐฯ / ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO) ของเยอรมนี / ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และ PMI ภาคอุตสาหกรรม ของยุโรป / ดุลการค้าของญี่ปุ่น และไทย
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การประชุม ECB/ การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/2562 ของสหรัฐฯ และไทย