ผลกระทบสงครามการค้ายังไม่จบ
EICธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ ผลกระทบสงครามการค้ายังไม่จบ แม้สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วนความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2019 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยนอกจากภาคการส่งออกที่มีโอกาสจะหดตัวมากกว่าคาดแล้ว สงครามการค้ายังเริ่มส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
สินค้าจีนที่ถูกชะลอการเก็บภาษีนำเข้า 10% จากเดิมวันที่ 1 กันยายน ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากทั้งหมด 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่สหรัฐฯ พึ่งพาจีนสูงและสามารถหาแหล่งนำเข้าทดแทนได้ยาก เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2019 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศรายการสินค้าจีนมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ซึ่งปรับปรุงจากรายการสินค้าที่ประกาศไปช่วงก่อนหน้าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 โดยรายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีที่เหลือได้แบ่งออกเป็น 2 รอบ ได้แก่
1) รายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% ในวันที่ 1 กันยายน มีมูลค่าราว 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ น่าจะหาตลาดทดแทนการนำเข้าจากจีนได้ไม่ยากนัก สินค้าในรายการนี้มีจำนวน 3,243 รายการ โดยสินค้าหมวดสำคัญในรอบนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องพิมพ์ รองเท้ากีฬา เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนค่อนข้างสูงแต่ไม่เกิน 70% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทนั้นทั้งหมดและส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่หาตลาดนำเข้าทดแทนได้ไม่ยาก
รายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% ในวันที่ 15 ธันวาคม มีมูลค่าราว 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก สินค้าในรายการนี้มีจำนวน 555 รายการโดยสินค้าหมวดสำคัญ ได้แก่ สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์พกพา เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคและเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนเป็นสัดส่วนราว 80-100% ของมูลค่าการนำเข้าทั่วโลก (รูปที่ 1) สะท้อนว่าสินค้าจีนในรายการนี้เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาจีนในระดับสูงและไม่สามารถหาตลาดอื่นทดแทนได้ในระยะเวลาอันใกล้ จึงขยายระยะเวลาเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม นอกจากนั้นสินค้าเหล่านี้หากถูกเก็บภาษีจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีค่อนข้างมากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่มักถูกใช้เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์
นอกจากนั้นการประกาศของทางการสหรัฐฯ ในรอบนี้ได้มีการนำบางรายการสินค้าออกจากการเก็บภาษีนำเข้าด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศและปัจจัยอื่น ๆ มูลค่าราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เบาะรถยนต์ คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า คัมภีร์ไบเบิล เป็นต้น
เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภค การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในส่วนที่เหลือทั้งสองรอบนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการบริโภคของสหรัฐฯ มากกว่ารอบก่อนหน้า รายการสินค้าจีนรอบล่าสุดที่กำลังจะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% มูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐครอบคลุมสินค้าผู้บริโภคสูงถึง 62% ของสินค้าผู้บริโภคทั้งหมด (รูปที่ 2) และรายการสินค้าจีนที่จะขึ้นภาษีนำเข้าในเดือนธันวาคมยังเป็นสินค้าหาตลาดทดแทนได้ยากในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้ภาษีนำเข้าย่อมส่งผลต่อราคาสินค้าของผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยตรง และน่าจะส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปได้
อีไอซีคาดประธานาธิบดีทรัมป์จะยังใช้มาตรการทางภาษีกดดันจีนต่อ หากมองในแง่ฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์จะพบว่า ยิ่งสงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งสะท้อนจากดัชนีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ กลับยิ่งทำให้ความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์โดยเฉลี่ยสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน (รูปที่ 3) จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเดินหน้าใช้มาตรการทางภาษีกดดันจีนให้ยอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ทั้งการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปจนถึงข้อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของจีนระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียกคะแนนฐานเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2020
อีไอซีประเมินความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกไทยในปี 2019 ยังคงสูง และมีโอกาสที่การส่งออกจะหดตัวมากกว่าคาดหากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในระยะข้างหน้ายังไม่มีความคืบหน้า อีไอซีคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2019 ที่ 3.1% และอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยปี 2019 ในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว 1.6% สะท้อนว่าภาคการส่งออกไทยทั้งการส่งออกสินค้ารายประเทศและรายสินค้าสำคัญในภาพรวมยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2019 ซึ่งภาคการส่งออกไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้าเนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางและมีความเชื่อมโยงกับการค้าในภูมิภาคสูง จากความตึงเครียดทางการค้า, ความสัมพันธ์และการเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ-จีนที่แย่ลงในช่วงเดือนกรกฎาคมและต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในระยะต่อไป ภาคการส่งออกไทยยังคงต้องจับตาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ที่มีเส้นตายวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ และ 2) มาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ สามารถเพ่งเล็งรายประเทศเป็นกรณีพิเศษ เช่น การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP: Generalized System of Preferences) ดังเช่นกรณีที่อินเดียโดนถอด GSP ไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน และกรณีที่เวียดนามถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกว่า 400% สำหรับเหล็กบางชนิดเกาหลีและไต้หวันและถูกที่นำมาแปรรูปในเวียดนามก่อนส่งไปยังสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งทั้งภาษียานยนต์และการตัด GSP ของสหรัฐฯ นี้เป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการส่งออกและสามารถส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยได้ต่อเนื่องหากถูกนำมาใช้จริง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งหลักเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า