การค้าสหรัฐฯ-จีน ยังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง
SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับร่วงลงต่อ
ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ ปรับลดลงอย่างมาก โดยได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังทางการจีนระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ และปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี ขณะที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่า จะตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ย ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลงอย่างมาก ประกอบกับความวิตกกังวลต่อปัจจัยการเมืองในอิตาลี และความไม่แน่นอนในประเด็น Brexit ได้ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนจาก ราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2016
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลก มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยกดดันจาก ความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น หลังจีนมีแนวโน้มออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ เพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้ที่ทางการจีนกำหนดค่ากลางของเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง และมีคำสั่งยกเลิกการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ขยายระยะเวลาผ่อนผันเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการอัพเดทซอฟท์แวร์ใน บริษัทหัวเว่ย ออกไปจากเดิมในวันที่ 19 ส.ค.นี้ นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน ที่มีแนวโน้มชะลอลงรวมทั้ง GDP ในไตรมาส 2/2562 ของเยอรมนีที่มีแนวโน้มหดตัว จะเป็นปัจจัยกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยง ประกอบกับ ธนาคารกลางต่างๆ ของโลก ที่มีแนวโน้มส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินที่เร็ว และมากกว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลให้ตลาดกลับมาเพิ่มความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น สำหรับตลาดหุ้นโซนเอเชีย มีแนวโน้มปรับลดลงต่อ โดยได้รับแรงกดดันจากเงินหยวนที่อ่อนค่าต่อเนื่อง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มอ่อนค่าในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังการประชุมประท้วงในฮ่องกงยังคงยืดเยื้อ
ในส่วนของราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ จากความกังวลด้านอุปสงค์ในน้ำมันโลก หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ต่างปรับลดคาดการณ์การขยายตัวอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2562 และ 2563 ลง แม้ว่าจะมีรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังหารือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น เกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในระยะนี้ ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า โอเปกอาจเพิ่มการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันก็ตาม
ด้านสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึง ราคาทองคำ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากความกังวลข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ การลงทุนสินทรัพย์ถาวรของจีน / ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ อังกฤษ และจีน / เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ อังกฤษ และอินเดีย/ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน / ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW) / ดุลการค้าของยูโรโซน / GDP ใน ไตรมาส 2/2562 ของยูโรโซน และเยอรมนี
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ผลประกอบการของบจ.ในไตรมาส 2/2562 / ถ้อยแถลงของ Fed/ ท่าทีและการตอบโต้ของจีน ต่อประเด็นข้อพิพาททางการค้า.