ชี้เป้าออมสินปล่อยกู้แก้จนให้คนเหนือ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ชี้เป้าปมความยากจนและเหลื่อมล้ำ ระบุภาคเหนือ “แม่ฮ่องสอน-น่าน” อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงมากสุด เผยทุกภาคล้วนมีจังหวัดเสี่ยงทั้งยากจนและเหลือมล้ำ ย้ำปี 60 คนจนลดแต่ความเหลื่อมล้ำพุ่งพรวด แนะต้นสังกัดปล่อยกู้ชาวเหนือ เน้นกลุ่มรายได้น้อยและคนทั่วไป หนุนสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และกระจายราย เพื่อลดสัดส่วนคนจนลง
ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ที่มีวัตถุประสงค์หนึ่งคือการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีเป้าหมาย คือ ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความยากจนลดลง เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การประกอบอาชีพและบริการทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้มีโครงการ/มาตรการในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากระบบ TPMAP (ระบบบริหารข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสำรวจปัญหาของคนจนเป้าหมาย 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ พบว่า
ปัญหาด้านรายได้เป็นปัญหาที่คนจนเป้าหมายส่วนใหญ่มีปัญหาในอันดับต้นๆ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน จึงได้ทำการศึกษาสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานหรือบุคคลที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
โดย TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ซึ่งสามารถชี้เป้าความยากจนได้ และระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งจะทำให้สามารถออกแบบนโยบายหรือโครงการในการแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เกิดจากการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากโอกาสในการหารายได้ของผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถแข่งขันกับคนรวยได้อย่างเท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำทางโอกาสยังส่งผลด้านลบต่อการเพิ่มรายได้ในอนาคตของผู้มีรายได้น้อยแต่จะส่งผลบวกเฉพาะในกลุ่มคนรวย
โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ ยังสร้างความเสียหายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะครอบครัวที่มีรายได้น้อยไม่สามารถส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างเต็มที่จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในต่างประเทศที่น่าสนใจ ทั้งนี้ จากการศึกษาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ทำกันอย่างแพร่หลาย คือ การศึกษาผ่านค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (Gini Coefficient) หรือสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความไม่เท่าเทียม เพื่อเปรียบเทียบการกระจายรายได้ในกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างกัน
จากข้อมูลสัดส่วนคนจน 2 และค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ ตั้งแต่ ปี 2550-2560 พบว่า แนวโน้มคนจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ในปี 2560 แม้สัดส่วนคนจนจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กลับสวนทางกัน โดยสัดส่วนคนจนมีค่าอยู่ที่ร้อยละ 7.87 ลดลงจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8.61 แต่ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่มีค่าอยู่ที่ร้อยละ 45.30 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีค่าอยู่ที่ร้อยละ 44.50 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยที่มีเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ภาครัฐจะมีนโยบายเพื่อลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ออกมาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและสามารถช่วยลดจำนวนคนให้ลดลงได้ แต่อาจเพราะนโยบายส่วนใหญ่เป็นการให้สวัสดิการต่างๆ การให้ความรู้ทางการเงิน รวมถึงการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถพัฒนาตัวเองและก้าวข้ามความจนได้อย่างยั่งยืน และการช่วยเหลือผ่านนโยบายต่างๆ ของภาครัฐในปัจจุบันที่เริ่มดำเนินการอย่างเข้มข้นและนับได้ว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น ดังจะเห็นได้จากการดำเนินการตามนโยบายของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ อาจต้องใช้ระยะเวลาที่จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงทำให้ยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ปรากฏให้เห็น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ของประชากรหรือการถือครองรายได้ของกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ พบว่า การถือครองรายได้ของประชากรภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มประชากร
10% ที่มีรายได้มากที่สุด โดยปี 2560 ประชากร 10% ที่มีรายได้มากที่สุด มีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือน 33,933 บาท ถือครองรายได้รวมร้อยละ 35.29 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 32,759 บาท และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวมร้อยละ 34.98 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) พบว่า ในปี 2560 มีความแตกต่างของรายได้ 9.96 เท่า โดยกลุ่ม Bottom 40 มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 3,408 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 3,353 บาท และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวมร้อยละ 14.18 ลดลงจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 14.32
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่าระดับรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนของประชากรไทยมีจำนวนมากขึ้นแต่การกระจายรายได้ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน สาเหตุอาจมาจากลักษณะของกลุ่ม Bottom 40 ที่ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนหรือคนเกือบจน อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานไม่มีรายได้หรือประกอบอาชีพอิสระซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ส่งผลให้โอกาสในการหารายได้ของคนกลุ่มนี้มีไม่มากนัก และเป็นตัวผลักดันที่ทำให้ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
จากดัชนีความก้าวหน้าของคน 3 (Human Achievement Index – HAI) ปี 2560 (ล่าสุด) พบว่า จ.แม่ฮ่องสอนมีการพัฒนาคนก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยค่าดัชนีความก้าวหน้าด้านรายได้เท่ากับ 0.3062 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ที่ 0.5463 และมีจำนวนประชากรยากจนมากที่สุดในประเทศเช่นกัน สอดคล้องกับข้อมูลคนจนเป้าหมายที่มีปัญหาด้านรายได้จาก TPMAP ในปี 2560 พบว่า สัดส่วนคนจนที่มีปัญหาด้านรายได้มีอยู่ใน จ.น่าน และ จ.แม่ฮ่องสอนมากที่สุด และจังหวัดที่มีปัญหา 5 อันดับแรกก็อยู่ในพื้นที่ของภาคเหนือทั้งหมดเช่นกัน
ยังคงแสดงพื้นที่ที่มีสัดส่วนคนจนเป้าหมายที่มีปัญหาด้านรายได้ในพื้นที่เดิมเช่นเดียวกับในปี 2560 คือ ภาคเหนือยังคงเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนเป้าหมายฯ มากที่สุด และ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนคนจนเป้าหมายที่มีปัญหาด้านรายได้มากที่สุด 2 อันดับแรก ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนเป้าหมายฯ น้อยที่สุด ได้แก่ จ.มุกดาหาร จ.นครพนม และ จ.หนองบัวลำภู ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาสัดส่วนคนจนเป้าหมายที่มีปัญหาด้านรายได้มากที่สุดจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนืออยู่ที่จ.น่าน ร้อยละ 4.30 ภาคกลางอยู่ที่ จ.พิจิตร ร้อยละ 2.38 ภาคใต้อยู่ที่ จ.สตูล ร้อยละ 1.93 ภาคตะวันตกอยู่ที่ จ.ตากร้อยละ 1.77 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ จ.นครราชสีมา ร้อยละ 1.07 และภาคตะวันออกอยู่ที่จ.ตราด ร้อยละ 0.85 ตามลำดับ
จากผลการศึกษาข้างต้นพบว่า พื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาและพื้นที่สูง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพบริการและการเกษตรเป็นหลัก เป็นพื้นที่ที่สัดส่วนคนจนเป้าหมายมีปัญหาด้านรายได้มากที่สุด
ทำให้ภาครัฐมีแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานภาคบริการ ซึ่งกำหนดไว้ในแผนพัฒนาภาคเหนือ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนี้
1) ส่งเสริมการสร้างรายได้และการมีงานทำของผู้สูงอายุและคนยากจน โดยดำเนินการในรูปของกลุ่มอาชีพและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้มีรายได้และได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่องสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
2) พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลน ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการด้านสวัสดิการให้กับ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
3) พัฒนาแรงงานให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะฝีมือให้สูงขึ้น สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตและบริการบนฐานความรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
4) สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวและชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดสวัสดิการชุมชนได้อย่างยั่งยืน และเป็นโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมให้กับผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
จากผลการศึกษา พบว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เพิ่มขึ้น เห็นได้จากในปี 2560 ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่มีค่าเท่ากับร้อยละ 45.30 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีค่าอยู่ที่ 44.50 แม้ว่าสัดส่วนคนจนของประเทศไทยในปี 2560 จะมีสัดส่วนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 7.87 ลดลงจากปี 2558 ที่มีค่าอยู่ที่ร้อยละ 8.61 อาจเนื่องมาจากประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร อาชีพอิสระ และด้านบริการ ซึ่งมีระดับรายได้ที่ได้จากการทำงานไม่สูงมากนัก อีกทั้งนโยบายการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐยังอยู่ในระยะเริ่มต้นจึงอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเห็นผลของนโยบายต่างๆ
อย่างไรก็ตามจากกลุ่มประเทศที่ทำการศึกษาและมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลงต่างก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ภาครัฐอาจพิจารณานโยบายที่เกี่ยวกับการให้การศึกษากับประชาชนตั้งแต่ระดับเด็กเพื่อเป็นพื้นฐานที่มั่นคงและเพื่อให้ได้ผลอย่างต่อเนื่องแนวทางการปฏิบัติของนโยบายที่เกี่ยวข้องควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เมื่อศึกษาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นรายพื้นที่ พบว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากกว่าภูมิภาคอื่น โดยจังหวัดน่านและจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่เผชิญปัญหาดังกล่าวในอันดับต้นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ในภาคเหนือเป็นอันดับต้นๆ ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้โดยเฉพาะในจังหวัดน่านและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในขณะที่ธนาคารออมสินซึ่งมีโครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) แก่ผู้มีรายได้น้อยและบุคคลทั่วไป
ดังนั้น ธนาคารออมสินอาจพิจารณาให้ความสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้คนในพื้นที่เกิดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการการเงินและตระหนักถึงการออมมากขึ้น และจากสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นภูเขาและพื้นที่สูงและมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ทั้งนี้ ธนาคารออมสินอาจพิจารณาสินเชื่อ GSB Homestay โดยจัดแคมเปญหรือโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และเกิดการกระจายรายได้เพื่อให้ประชาชนฐานรากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและอาจจะทำให้สัดส่วนคนจนลดลงได้ในอนาคต.