คลังเดินหน้าอย่างไร ? กับแผนหาเสียงของรัฐบาล
กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร จะตัดสินใจอย่างไร? กับนโยบายหาเสียง “ลดและเว้นภาษี” ของฝ่ายการเมือง ที่ได้กลับมาเป็นแกนนำสำคัญใน “ครม.ลุงตู่ 2” ลำพัง “จุดยืน” ของ “บิ๊กขรก.ประจำ” และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จะทานพลังอำนาจฝ่ายการเมืองได้แค่ไหน? เพราะสิ่งนี้ จะทำให้รายได้ภาษีหายไปจำนวนมาก และยังสร้างความไม่เป็นธรรมต่อภาคธุรกิจอีก
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา สังคมไทยมีคำถามมากมายไปยังกระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน และดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแนวนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ประกาศจะปรับลดภาษี และกลุ่มเพิ่มรายได้ ให้กับคนไทยและธุรกิจไทย รวมถึงการผ่อนปรนให้กับธุรกิจยุคใหม่ อย่าง…พ่อค้าแม่ขายในโลกออนไลน์ (ธุรกิจอีคอมเมิร์ช)
และเป็น…นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ตอบคำถามนักข่าวถึงเรื่องดังกล่าว โดยย้ำว่า…งบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ส่วนใหญ่จะเป็นงบรายจ่ายประจำ (เงินเดือนข้าราชการ) และงบผูกพันที่เกิดกับโครงการขนาดใหญ่จากนโยบายของรัฐบาล ทำให้เหลืองบลงทุนในโครงการใหม่ๆ ไม่มากนัก
ฉะนั้น หากพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งรัฐบาล ต้องการจะนำเงินงบประมาณไปใช้ในโครงการใดๆ ตามที่หาเสียงไว้นั้น คงเหลือเงินงบประมาณให้ใช้ได้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาทต่อปี
2 เดือนต่อมา มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังหลายคน พูดตรงกันถึงกรอบข้อบังคับของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยป้องกันไม่ให้ฝ่ายนโยบาย (การเมือง) ใช้งบประมาณตามอำเภอใจ เพียงเพื่อดำเนินงานนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้ โดยไม่สนใจกรอบวินัยการเงินการคลัง และไม่คำนึงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของชาติ ทว่า หลังการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำฯ และได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ อีกสมัยนั้น
ความสนใจครั้งใหม่ของสังคมไทย จึงพุ่งเป้าไปยังกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมสรรพากร ซึ่งถือเป็น “กรมภาษีหลัก” ที่จัดเก็บรายได้จากภาษีประเภทต่างๆ รวมกันแต่ละปี กว่า 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจไทย ผ่านการจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯแต่ละปี
สุดท้าย ทั้งกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร จะดำเนินการและตัดสินใจอย่างไร? กับนโยบายการหาเสียงของพรรคแกนนำรัฐบาล ที่ผูกโยงและเกี่ยวพันโดยตรง ทั้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ และนายสมคิด
ล่าสุด นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ตอบคำถามนักข่าวเมื่อช่วงสายของวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ถึงนโยบายปรับลดภาษีเงินได้ 10% จากฝ่ายการเมือง โดยย้ำว่า เรื่องดังกล่าว รมว.คลัง มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดูแล แต่ไม่ว่าจะลดภาษีรูปแบบใด ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศทั้งสิ้น จึงต้องดูว่ารายได้หายไปเท่าไหร่ และจะต้องหาวิธีสร้างรายได้กลับเข้ามาทดแทนอย่างไร เนื่องจากกรมสรรพากร ถือเป็นหน่วยงานจัดเก็บรายได้ 70-80% ของรายได้รวมประเทศ การที่รายได้ที่หายไปอาจกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย ดังนั้น จึงต้องรายงานต่อ รมว.คลัง เพื่อให้พิจารณานโยบายในภาพรวม ประกอบกับข้อเสนอจาก สศค. ต่อไป
ประเด็นการปรับลดภาษีเงินได้ 10% นั้น ก่อนหน้านี้ เป็น นายกรณ์ จาติกวานิช อดีต รมว.คลัง ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตุเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า จะทำให้ฐานรายได้ภาษี หายไปมากถึง 3 ล้านราย ทีเดียว ทว่าเรื่องนี้ ยังไม่มีการพูดถึงกันชัดเจนนัก ทั้งจากกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร คาดว่าจะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ นายเอกนิติ คงต้องหารือและอธิบายถึงข้อเท็จจริงให้ นายอุตตม ได้รับรู้
อีกเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทย นั่นคือ….จะทำอย่างไรต่อไปกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิสสิเนส) จากผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ของโลกที่เข้ามากอบโกยเงินจากประเทศปลายทางทั่วโลก อย่าง…กูเกิล, เฟซบุ๊ก ฯลฯ
นายเอกนิติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรเร่งศึกษาการจัดทำนโยบายภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบภาษีและภาคธุรกิจ โดยทำการศึกษาการเก็บภาษีเพิ่มหลายชนิด ซึ่งในส่วนของการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิสสิเนส) จากผู้ให้บริการในต่างประเทศนั้น ได้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….โดยที่ร่างกฎหมายฯ อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาผลักดันต่อไป
โดยการเก็บภาษีอี-บิสสิเนสนั้น มี 2 ส่วน คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และภาษีการให้บริการด้านดิจิทัล (ดิจิทัล เซอร์วิส แท็กซ์) ซึ่งในส่วนของประเทศไทย สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทันที แต่กับดิจิทัล เซอร์วิส แท็กซ์ คงต้องรอดูความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ มีตัวอย่างการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในประเทศกลุ่มยุโรปกันแล้ว โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส ซึ่งได้จัดเก็บดิจิทัล เซอร์วิส แท็กซ์ ที่อัตรา 3% จากกูเกิล และเฟซบุ๊ก โดยทำการการเรียกเก็บภาษี ผ่านการหัก ณ ที่จ่ายจากรายได้ทันที
นอกจากนี้ นายเอกนิติยังกล่าวถึงข้อเสนอถึงการลดหรือยกเว้นการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ระยะเวลา 2 ปี ว่า กรมสรรพากรจะต้องพิจารณาถึงความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับธุรกิจทั่วไปด้วย ทั้งนี้ หากไม่เก็บภาษีกับคนขายออนไลน์ แต่ยังเก็บภาษีผู้คนที่ทำมาค้าขายปกติ อาจถูกมองได้ว่า กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรมได้
กับคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า…เพื่อความเป็นธรรมจะต้องจัดเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรในการซื้อขายหุ้น และการลงทุนตราสารหนี้ในกองทุนรวมหรือไม่? อธิบดีกรมสรรพากรตอบว่า… เรื่องนี้ทางกรมสรรพากรก็ทำการศึกษาอยู่เช่นกัน แต่ต้องดูภาพรวมและเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน โดยจะต้องทำการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบทั้งข้อดีข้อเสีย แม้จะทำให้กรมฯ มีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ก็ดูผลกระทบจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหว จำเป็นจะต้องรอการตัดสินใจในระดับนโยบาย
ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องการเก็บภาษีกำไรซื้อขายหุ้น ยังไม่ใช่โจทย์เร่งด่วนที่ต้องทำในขณะนี้ เพียงแต่กรมสรรพากรต้องเตรียมการศึกษาไว้ก่อน ส่วนการลดหย่อนภาษีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) นั้น จากผลศึกษาพบว่าคนที่ได้ประโยชน์มากสุด ล้วนเป็นกลุ่มคนระดับบนแต่คนระดับล่างไม่ได้ประโยชน์มากนัก ดังนั้น จึงต้องรอดูว่านโยบายจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้
กับคำถามทิ้งท้าย ที่ AEC10NEWS ถามไว้…การปรับโครงการภาษีรอบนี้ เป็นเพราะความเหมาะสมและความจำเป็นที่กรมสรรพากรต้องทำ หรือจำใจทำเพราะเป็นนโยบายจากฝ่ายการเมือง?
แม้จะไม่ได้รับคำตอบจากผู้รับผิดชอบ กระนั้น ก็พอเข้าใจได้ในสถานการณ์ที่การเมือง แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ส่วนสำคัญ หรือหัวใจของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ มิต่างจากชุดที่เคยถือ “ม.44” ในมือ
ฉะนั้น จึงอยากแปลกใจ หากส่วนใหญ่ของนโยบายที่พรรคแกนนำของรัฐบาลประยุทธ์ สมัยที่ 2 จะถูกขานรับจากฝ่ายข้าราชการ และดำเนินงานตามนโยบายของฝ่ายการเมืองที่ประกาศหาเสียงเอาไว้ แม้บางครั้งมันอาจไม่ถูกใจและไม่ถูกต้องสักเท่าใดนัก
เพียงแต่กรอบข้อจำกัดจาก…“เงินงบประมาณฯที่เหลือไม่มากนักในแต่ละปี และจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่เข้มงวดกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณฯ อาจเป็นเครื่องมือช่วยให้ฝ่ายข้าราชการประจำ นำไปใช่ต่อรองเพื่อประโยชน์สูงสุดของบ้านเมืองกับฝ่ายการเมือง ที่ “ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป” ได้บ้าง!!!
และเป็นสิ่งที่คนไทยคาดหวังจะได้เห็นสิ่งนี้ จาก…ปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสรรพากร คนปัจจุบัน.