จีนรุกเชื่อมสัมพันธ์สื่อออนไลน์ไทย
สื่อจีนเปิดเกมรุกอาเซียน ดึงสื่อออนไลน์จากไทย สร้างความสัมพันธ์ผ่านการศึกษาและดูงานใน 2 เมือง 2 มณฑล “ซีอาน – ส่านซี และ ซีหนิง – ชิงไห่”
โครงการศึกษาดูงานของคณะสื่อมวลชนไทย (Thai New Media) ประจำปี 2562 หรือ China Trip by CIPG Season 2 จัดโดยกรมกิจการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีน (CIPG), สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และศูนย์จีน-อาเซียน (ปักกิ่ง) โดยมีนิตยสาร CHINA REPORT ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติงาน คอยประสานงานฯ ณ เมืองซีอาน มณฑลส่านซี และเมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 15-20 กรกฎาคม 2562
ฝ่ายจีนนำโดย นายฉือ กวง หรือไซม่อน ผู้อำนวยการ นิตยสาร CHINA REPORT ประจำกรุงเทพฯ และ นางสาวหวง อวี่ เจวี๋ย เลขานุการตรี สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ร่วมเดินทางมาในครั้งนี้
ขณะที่ ฝ่ายไทยนำโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน พร้อมคณะ (รวมล่าม) รวม 10 คน ประกอบด้วยตัวแทน “สื่อออนไลน์” จากค่าย…ฐานเศรษฐกิจ, The Leader Asia, AEC10NEWS, ThaiPBS, 101World, Workpoint News Online, Thairath Online, Matichon Online และ Gypzy Group
โดยมี มาดามจ้าว จุน หัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสาร CHINA REPORT และนายจาง เสี่ยว ตง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและข่าว สำนักงานวิเทศสัมพันธ์ มณฑลส่านซี ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ พร้อมคณะฯ คอยให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย
นายจาง เสี่ยว ตง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและข่าว สำนักงานวิเทศสัมพันธ์ มณฑลส่านซี กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า ถือเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐของจีน คือ สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย, CIPG และ นิตยสาร CHINA REPORT ประจำประเทศไทย ที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเป็นปีที่ 2 โดยในปีนี้จะเน้นไปที่กลุ่มสื่อออนไลน์ชั้นนำของไทย เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกันระหว่างกลุ่ม New media ทั้งของไทยและจีน ด้วยเชื่อว่าการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีนั้น สื่อในกลุ่มออนไลน์ หรือ new media น่าจะตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้ตรงจุดและรวดเร็ว รวมถึงสามารถจะสื่อสารในลักษณะ “2 ทาง” (2-Way Comminication) ได้ดีกว่าสื่อรูปแบบเดิม
ทั้งนี้ เชื่อว่าความสัมพันธ์อันดีจากจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ จะได้รับการสานต่อและประสานความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในทุกมิติ จากสื่อออนไลน์ของไทยและจีนทั้งในวันนี้และในอนาคต
“ ทางส่วนกลาง (รัฐบาลจีน) ต้องการให้สื่อมวลชนจากประเทศไทย รู้จักประเทศจีนครบทุกมณฑล เพื่อจะได้รู้และเข้าใจ รวมถึงนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ครบถ้วนและรอบด้าน โดยการจัดงานครั้งก่อน เกิดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งทางสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ มณฑลส่านซี รู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้ต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย ทั้งนี้ หากสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อเอกชนของไทยและสื่อจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นั่นหมายความว่า ความสัมพันธ์ระดับประชาชนก็จะได้รับการยกระดับมากขึ้น ” นายจาง เสี่ยว ตง ย้ำ และว่า
แม้มณฑลส่านซีจะอยู่ห่างไกล และอยู่ทางทิศเหนือด้านตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งไม่ติดกับทะเล แต่รัฐบาลไทยก็เลือกมาตั้งสถานกงสุลใหญ่แห่งแรกที่นี่ ไม่เพียงแค่นั้น เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ยังได้มีโอกาสรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา สยามมกุฎราชกุมารี (ขณะนั้น) ที่ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินฯ มาเยือนที่นี่อยู่หลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทั้งในมิติทางด้านการทูต การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาเยี่ยมที่นี่เป็นจำนวนไม่น้อย ทว่ามีนักท่องเที่ยวจากมณฑลส่านซีไปเที่ยวประเทศไทยสูงกว่าหลายเท่า
ด้านนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าวในฐานะหัวหน้าคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย ว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่คณะสื่อมวลชนออนไลน์จากประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมโครงการ China Trip by CIPG Season 2 ในปีนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า ผลจากการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดี ระหว่างสื่อไทยและจีน เพื่อให้การทำหน้าที่ตามแนวทางแห่งจรรยาบรรณและความเป็นสื่อมวลชนที่ดี ก่อประโยชน์ในทุกมิติของทั้ง 2 ประเทศ
“ สื่อไทยที่ไม่เคยมาประเทศจีน เมื่อได้มาในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะได้พบพัฒนาการของบ้านเมืองและวิถีชีวิตของคนจีน แต่การได้มาเห็นด้วยตาตนเอง กระทั่งเข้าใจถึงวัฒนธรรมจีนและนโยบายของทางการจีน จะทำให้สามารถนำเสนอข่าวสารข้อมูลของประเทศจีนได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงด้ายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่ มีนักท่องเที่ยวจีนมาเมืองไทยเมื่อปีที่แล้วกว่า 10 ล้านคน ” นายชัยวัฒน์ ระบุ
สำหรับภารกิจของคณะ New media จากประเทศไทยในครั้งนี้ คือ การศึกษาและดูงานที่ สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี ที่มีเครือข่ายสื่อแขนงต่างๆ มากมาย รวมถึงสำนักงานเว็บไซต์ข่าวสารของมณฑลส่านซี (CN WEST) เพื่อเรียนรู้การพัฒนาอย่างบูรณาการของสื่อมวลชนจีน, สัมมนาร่วมกับสำนักงานกำกับดูแลไซเบอร์สเปซ (Cyberspace Administration) ของมณฑลส่านซี เป้าหมายเพื่อเรียนรู้การพัฒนาทางด้านสื่อ New media และการท่องเที่ยวของมณฑลส่านซี ตามนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road)
นอกจากตัวแทน New media ของไทย ยังจะได้ศึกษาดูที่บริษัทการท่องเที่ยวมณฑลส่านซีกรุ๊ป จำกัด หรือ TCG.ShanXi (ShanXi Tourist Corporation Group) และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของซื่อจิง (ซื่อจิง เป็นหนังสือรวบรวมบทกวี ที่เกิดขึ้นก่อนราชวงศ์หมิง หรือเมื่อหลายพันปีก่อน) โดยบริษัทดังกล่าว มีการดำเนินงานในหลายเรื่อง ทั้งกิจการการลงทุนและบริหารแหล่งท่องเที่ยว อาทิ พระราชวังหวาซิง, สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้, สุสานเฉียนหลิง,พิพิธภัณฑ์วัดฝ่าหมิน อีกทั้งยังได้ลงทุนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวซือจิง ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมนครส่านซี เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมโบราณของประเทศจีน
หลังจากนั้น เช้าวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2562 หรือวันที่ 4 ของการเดินทางในทริปนี้ ฝ่ายไทยและจีน จะร่วมเดินทางต่อไปยังเมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ เพื่อศึกษาและดูงานที่กรมอุทยานแห่งชาติในเขตซานเจียงหยวน (แหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำแยงซีเกียง, ฮวงโห และหลานชาง (แม่น้ำโขง)) รวมถึงเรียนรู้นโยบายการดูแลแหล่งน้ำของจีน ตลอดจนเรียนรู้ความร่วมมือและรักษาระบบนิเวศน์ของประเทศจีน อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จากประเทศไทย
ศึกษาดูงานที่อุทยานแห่งชาติทะเลสาบชิงไห่ เพื่อเรียนรู้งานทางด้านการรักษาระบบนิเวศน์ของทะเลสาบชิงไห่ ก่อนจะลงที่การเดินทางไปศึกษาดูงานที่สำนักงานเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อเรียนรู้งานด้านการสร้างเว็บไซต์อุทยานแห่งชาติของประเทศจีน (www.ghsjy.gov.cn)
จากนั้น ช่วงสายของวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม คณะสื่อมวลชนไทย พร้อมตัวแทน นิตยสาร CHINA REPORT ประจำประเทศไทย และผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย จะร่วมเดินทางจากเมืองซีหนิง ไปยังเมืองกว่างโจว ก่อนจะเดินทางต่อกลับกรุงเทพฯในช่วงเย็นวันเดียวกัน
ทั้งนี้ ภารกิจของคณะสื่อมวลชนไทยตลอดทริปนี้ เว็บไซต์ AEC10NEWS จะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป.