การส่งออกหดตัวน้อยลงคาด-2.5% ในปี 2019
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่องการส่งออกเดือน ก.ย. หดตัวน้อยลงจากปัจจัยฐานต่ำของปีก่อน โดยคงคาดการณ์ส่งออกหดตัว -2.5% ในปี 2019
มูลค่าการส่งออกที่หดตัวชะลอลงเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำของการส่งออกรถยนต์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการส่งออกทองคำที่ยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยแม้ว่าในเดือน ก.ย. 2019 จะเป็นเดือนแรกที่สินค้าจีนก้อนใหม่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่า 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐโดนปรับเพิ่มภาษีเป็น 15% ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าของโลกในภาพรวม แต่ปรากฎว่าการส่งออกของไทยกลับหดตัวในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำของการส่งออกรถยนต์ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นสำคัญ จึงทำให้การส่งออกรถยนต์เดือน ก.ย. 2019 พลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.4%YOY (เดือน ก.ย. 2018 หดตัวที่ -7.5%YOY) นอกจากนี้ การส่งออกทองคำที่ยังขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากการที่ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยการส่งออกทองคำในเดือน ก.ย. 2019 ขยายตัวมากถึง 110.6%YOY (ขณะที่ในเดือน ก.ย. ปี 2018 การส่งออกทองคำหดตัว
-78.7%YOY) ก็เป็นหนึ่งปัจจัยพยุงการหดตัวของการส่งออกในภาพรวม
สินค้าส่งออกที่มีความเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตสินค้าส่งออกจีนไปสหรัฐฯ ยังคงหดตัว โดยสินค้าที่ยังหดตัวต่อเนื่องในตลาดจีน ได้แก่ การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ส่งออกไปจีน -9.3%YOY) เคมีภัณฑ์ (ส่งออกไปจีน -19.1%YOY) และไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ส่งออกไปจีน -27.0%YOY)
แม้ว่าการส่งออกในตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังคงหดตัว แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน อาเซียน5 และญี่ปุ่น สามารถขยายตัวได้ โดยสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 7.8%YOY ในส่วนของสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยาง (19.2%YOY) เครื่องรับวิทยุ-โทรทัศน์-และส่วนประกอบ (30.7%YOY) และรถยนต์และส่วนประกอบ (9.4%YOY) ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัว 2.4%YOY โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า (10.1%YOY) และแผงวงจรไฟฟ้า (32.9%YOY) ด้านการส่งออกไปอาเซียน5 มีการขยายตัวที่ 0.6%YOY ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์เป็นสำคัญ (16.3%YOY) และสุดท้ายการส่งออกไปจีนที่พลิกกลับมาขยายตัวได้ที่ 6.1%YOY นั้น เกิดจากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ (รูปที่ 1) โดยในช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกไปจีนมีฐานที่ต่ำจากการหดตัวของหลายสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า โดยหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล พบว่าการส่งออกไปจีนยังคงหดตัวที่ -4.5%MoM_sa สะท้อนการส่งออกไปจีนยังคงไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน
มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ -4.2%YOY จากสินค้าเชื้อเพลิงที่ได้รับผลกระทบด้านราคาเป็นสำคัญ โดยมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวสูงที่ -20.1%YOY ส่วนหนึ่งได้รับผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลงในเดือน ก.ย. (ราคาน้ำมันดิบ Brent หดตัวถึง -21.0%YOY) ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบมีการหดตัวเช่นกันที่
-0.8%YOY และ -5.4%YOY ตามลำดับ ตามการหดตัวของภาคส่งออก สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าบริโภค และยานพาหนะขยายตัวที่ 11.0%YOY และ 12.5%YOY ตามลำดับ
อีไอซีคงประมาณการมูลค่าการส่งออกปี 2019 ที่ -2.5% (ตามระบบดุลการชำระเงินที่จะไม่รวมมูลค่าการส่งกลับอาวุธเมื่อเดือน ก.พ. 2019) โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มูลค่าการส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าในช่วงที่ผ่านมา (คาดหดตัวเฉลี่ยประมาณ -1%YOY) เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยฐานต่ำช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือ เริ่มจากภาวะสงครามการค้าล่าสุดที่สหรัฐฯ และจีนได้เจรจากันระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม แม้ว่าจีนและสหรัฐฯ จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าในขั้นต้น และทำให้สหรัฐฯ ระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 25% เป็น 30% ในวันที่ 15 ต.ค. ออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่อีไอซีประเมินว่า การเจรจาในส่วนต่อไปยังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อ เนื่องจากข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายนั้นยากในเชิงปฏิบัติ (อ่านต่อได้ที่ Flash: IMF ปรับ GDP โลกปี 2019/2020 เหลือ 3.0%/3.4% ชี้การฟื้นตัวเปราะบางจากผลกระทบสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์) นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตามเพิ่มเติม ได้แก่ เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงที่ยังยืดเยื้อ ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่นำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐฯ
สำหรับปี 2020 อีไอซีคาดมูลค่าส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญส่วนมากมีแนวโน้มชะลอตัว ความเสี่ยงสงครามการค้า และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า จากคาดการณ์ของ IMF WEO รอบล่าสุด เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจโลกปี 2020 จะขยายตัวที่ 3.4% เร่งขึ้นจากปี 2019 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.0% อย่างไรก็ดี การเร่งตัวดังกล่าวได้รับผลจากฐานต่ำของประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง เอเชียกลาง กลุ่มแอฟริกาซาฮารา และลาตินอเมริกาและคาริบเบียน เป็นสำคัญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่อการส่งออกรวมของไทยเพียง 9.5% ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน-5 และ CLMV มีทิศทางขยายตัวใกล้เคียงหรือชะลอลงในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2019 (รูปที่ 4) นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ก็จะเป็นอีกปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของภาคส่งออกในปี 2020.