เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีมีแนวโน้มขยายตัว6-7%
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ CLMV ยังเติบโตบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี แต่เผชิญความเสี่ยงรายประเทศและการชะลอตัวของจีน
เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวียังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 6-7% ในปี 2019 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้า อย่างไรก็ดี อุปสงค์จากต่างประเทศต่อกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวียังคงอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากมูลค่าการส่งออก เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี โดยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2019 การส่งออกรวมของซีแอลเอ็มวีขยายตัว 5%YOY โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรีและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ให้สิทธิพิเศษทางการค้า ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ลงทุนต่อเนื่องเพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้กลุ่มชนชั้นกลางขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการบริโภคครัวเรือนต่อไป อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีในระยะข้างหน้ามีมากขึ้น ซึ่งได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ การเพิกถอน EBA จากสหภาพยุโรปสำหรับกัมพูชาและเมียนมา ความเปราะบางทางเศรษฐกิจต่อความเสี่ยงภายนอกโดยเฉพาะในลาวและเมียนมา และการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อในเวียดนาม ซึ่งอาจก่อหนี้เสียให้กับประเทศ เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวชะลอลงที่ 6.8% ในปี 2019 การส่งออกยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า ขณะเดียวกัน กัมพูชายังสามารถดึงดูด FDI จากกลุ่มผู้ผลิตที่ต้องการเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญในระยะข้างหน้า ความเสี่ยงในระยะข้างหน้าคือการสูญเสียสิทธิประโยชน์ EBA จากสหภาพยุโรปในปี 2020
เศรษฐกิจลาวจะยังเติบโตต่อเนื่องที่ราว 6.7% ในปี 2019 โดยมีภาคการก่อสร้าง การส่งออกไฟฟ้า และการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจลาวคือเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางจากความเสี่ยงภายนอก เนื่องจากมีระดับหนี้สาธารณะสูง มีระดับทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ ทั้งยังพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในภาคการลงทุน
เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยโตเพียง 6.4% ใน FY2018/19 จากการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและความเป็นไปได้ในการสูญเสียสิทธิประโยชน์ EBA จากสหภาพยุโรปประกอบกับวิกฤติโรฮิงญาที่ต่อเนื่องจากปี 2018 สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ แนวโน้มการเติบโตในระยะข้างหน้าจึงต้องพึ่งพาความสำเร็จของนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจรอบใหม่
เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเป็น 6.5% ในปี 2019 และในอีก 5 ปีข้างหน้า FDI และการส่งออกจะยังสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ ด้วยแรงหนุนจากข้อตกลงทางการค้า EVFTA และแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนามเพื่อเลี่ยงสงครามการค้า อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเวียดนามคือเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอลงกว่าที่คาดซึ่งจะส่งผลลบต่อการส่งออก และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อภายในประเทศ.