ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามการค้าที่ขยายวงกว้างขึ้น
ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับลดลง เนื่องจาก ความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลังดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐฯ ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจาก ความกังวลสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรป หลังองค์กรการค้าโลก (WTO) ลงมติเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป วงเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ เนื่องจากรัฐบาลในประเทศยุโรปให้การอุดหนุนแอร์บัสอย่างผิดกฎหมาย โดยการเก็บภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 18 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัว ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน ต.ค. ด้านราคาน้ำมัน ปรับลดลง เนื่องจาก นักลงทุนกังวลว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของสงครามการค้า จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกลดลง รวมถึงการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ที่กลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ขณะที่ราคาทองคำ ปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรป รวมทั้งได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยนักลงทุนรอติดตาม 1) ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยคาดว่า น่าจะมีความคืบหน้าบางส่วน หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากผลกระทบของสงครามการค้า และ 2) การประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และรายงานการประชุมของ Fed จะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดย นักลงทุนคาดหวังว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 29-30 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสประมาณ 80% ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมเดือน ต.ค. อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นอาจได้รับแรงกดดันจาก สงครามการค้าที่ขยายวงกว้างขึ้น หลังสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป วงเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ในวันที่ 18 ต.ค. โดยจะเก็บภาษีในอัตรา 10% สำหรับเครื่องบินนำเข้า และจะเก็บภาษีในอัตรา 25% กับสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีความผันผวนจาก ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ประเด็นการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง และประเด็นเรื่องการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่กรุงวอชิงตัน (10-11 ต.ค.) นำโดย นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรี จีน กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้เทนการค้าสหรัฐฯ โดยคาดว่า การเจรจาน่าจะมีความคืบหน้าบางส่วน เนื่องจาก เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวลง หลังเกิดสงครามการค้า โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะส่งผลลบต่อ คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ในการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2563 ขณะที่จีนก็ได้รับผลกระทบทางลบจากสงครามการค้าเช่นกัน และจีนได้เพิ่มการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ หากการเจรจาครั้งนี้คืบหน้าในเชิงบวก อาจเพิ่มโอกาสที่สหรัฐฯ จะเลื่อนการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน วงเงิน 250 พันล้าน ดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่อัตรา 25% เป็น 30% ออกไปจากเดิม ในวันที่ 15 ต.ค.
ติดตามถ้อยแถลงของประธาน Fed โดยคาดว่า Fed น่าจะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวลง
ติดตามความคืบหน้าประเด็น Brexit หลังนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เสนอร่าง Brexit ฉบับใหม่ต่อสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ให้ความเห็นเบื้องต้น ระบุว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องแก้ไข และหารือกันต่อไป
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ / ดุลการค้า และยอดสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่น / ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของยูโรโซน / ปริมาณเงิน M2, ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวม และ PMI ภาคบริการ (โดย Caixin) ของจีน / ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน / รายงานการประชุมของ Fed และ ECB / ถ้อยแถลงของประธาน Fed และสมาชิก Fed / ถ้อยแถลงประธานธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) / ความคืบหน้าประเด็น Brexit