ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวลดลง
SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ รอติดตามการเจรจาการค้าในสัปดาห์หน้าและตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ
ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ ปรับลดลง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ จากความกังวลสถานการณ์การเมืองสหรัฐฯ หลังนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ประกาศถึงกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง และจากข่าวที่สหรัฐฯเตรียมจำกัดการลงทุนในจีน และปลดบริษัทจีนออกจากการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรป ปิดลบเช่นกัน จากความกังวลเศรษฐกิจในยูโรโซนที่อ่อนแอ หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้น ในเดือน ก.ย.ปรับลดลงอยู่ต่ำสุดในรอบ 75 เดือน อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงลบลง จากแนวโน้มการออกมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน ด้านตลาดหุ้นจีน ปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน หลังประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าววิจารณ์จีนในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UN) และ ความกังวลการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนจีน ขณะที่ ราคาน้ำมันปรับลดลง หลังการฟื้นฟูกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียรวดเร็วกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับประธานาธิบดีทรัมป์ ปฏิเสธข่าวที่ว่า สหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต่ออิหร่านเพื่อแลกกับการเจรจา
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ โดยนักลงทุนรอดูความชัดเจนของการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะที่ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาถอดถอนบริษัทจีนออกจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ โดยระบุว่า ยังไม่มีแผนการดังกล่าวในขณะนี้ สำหรับการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ คาดว่าตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของหลายประเทศ ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งนี้ นักลงทุนรอฟังถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และเจ้าหน้าที่ Fed สาขาต่างๆ ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย และช่วยสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งจะส่งผลให้สินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงทองคำ มีแนวโน้มถูกกดดันจากประเด็นดังกล่าว
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
ความคืบหน้าการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยสหรัฐฯ และจีนเตรียมที่จะเจรจาการค้าระดับสูงรอบใหม่ในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน บริษัทจีนได้ทำข้อตกลงในการสั่งซื้อถั่วเหลืองและเนื้อสุกรจำนวนมากจากสหรัฐฯ และ ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะสามารถทำข้อตกลงการค้ากับจีนเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยสัปดาห์นี้ จีนจะจัดงานฉลองครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ขณะที่ ตลาดหุ้นจีนปิดทำการตลอดทั้งสัปดาห์
ติดตามถ้อยแถลงของประธาน Fed สาขาต่างๆ ได้แก่ Charles Evans, Michelle Bowman, Patrick Harker, John William และ James Bullard และถ้อยแถลง Jay Powell ประธาน Fed ในงาน “Fed Listens” ในวันที่ 4 ต.ค. ซึ่ง นักลงทุนคาดหวังต่อการส่งสัญญาณนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย
การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 140,000 ตำแหน่ง จาก 130,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. และคาดว่า อัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 3.7%
การประชุมธนาคารกลางอินเดีย (4 ต.ค.) คาดว่า จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดุลการค้า, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน, การจ้างงาน และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ/ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ, ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราเงินเฟ้อของยุโรป/ ยอดค้าปลีก และ ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น / PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และจีน / PMI ภาคบริการของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป/ ตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทยเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางอินเดีย / ถ้อยแถลงของประธาน Fed เจ้าหน้าที่ของ Fed และ ECB / การคืบหน้าเรื่อง Brexit